14 ธ.ค. 2020 เวลา 11:22 • สิ่งแวดล้อม
อาสาเก็บกล้อง
กล้อง camera trap ที่เจ้าหน้าที่ไปติดตั้งไว้เพื่อดักถ่ายภาพเสือโคร่ง
งานวิจัยเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั้นรู้กันดีว่าเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ แต่ปีนี้ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ไม่มีนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาในช่วงเวลานี้
ปกติแล้วช่วงที่มีนักศึกษาเข้ามาศึกษาดูงานก็จะสามารถช่วยงานทางสถานีได้บ้าง เช่นงานตั้งกล้อง เก็บกล้อง เดินไลน์ แต่พอไม่มีนักศึกษาเข้ามาประกอบกับงานต่างๆ ของสถานีฯ ที่มีมากอยู่แล้วจึงเกินกว่าที่คนของสถานีวิจัยฯ จะทำทัน การขอแรงงานอาสาสมัครเข้ามาช่วยในบางงานจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
เมื่อไก่ น้องที่รู้จักกันส่งข้อความทักทายมาว่า 10-13 ธ.ค. นี้ไปเขานางรำกันมั๊ย ตอนแรกก็ลังเลเนื่องจากวันที่ 11 เป็นวันทำงาน และเราลาพักร้อน 17-18 ธ.ค. น้องบอกว่าคนไม่พอ และต้องการแรงงานอาสาอีก 5 คน ซึ่งตอนนี้กำลังหาอยู่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนวันลาทันที เป็นการเตรียมตัวที่ค่อนข้างกระทันหัน เพราะทักมาวันที่ 8 ช่วงบ่าย เลิกงานกลับมาบ้านก็เตรียมเก็บกระเป๋าเลย เช้าวันที่ 9 ไปทำงานพร้อมสัมภาระที่เตรียมไว้
เรานัดเจอกันกับไก่ช่วงคำ่วันที่ 9 เพื่อออกเดินทางไปที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพร้อมกับน้องอาสาสมัครอีกสองคน
เกด และโฟนเป็นนักศึกษาอาสาสมัครที่มาด้วยกันในครั้งนี้ ทั้งคู่กำลังเรียนที่คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชั้นปีที่ 3
โฟน เกด และหัวหน้าสมโภชน์
เช้าตรู่วันที่ 10 ทางสถานีวิจัยฯ ส่งพี่อ่อนสาลงมารับพวกเราที่เขตฯ เราขึ้นไปถึงสถานีวิจัยราวๆ 8 โมงเช้า หลังจากกินข้าวเช้าเรียบร้อย พี่สมโภชน์ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำก็มอบหมายงานกับเจ้าหน้าที่
สองวันแรกของเราจะเป็นงานเก็บกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่ง สำหรับวัตถุประสงค์ของการตั้งกล้องดักถ่ายเสือโคร่งนั้นได้เคยเขียนอธิบายไว้ในโพสก่อนๆ สามารถไปติดตามอ่านได้จ้า
เรากับไก่ไปเก็บกล้องดักถ่ายภาพกับพี่รอด 2 จุด แล้วกลับขึ้นมานอนที่สถานีวิจัยฯ ซึ่งจะไปกัน 3 คน ส่วนเกดกับโฟนไปกับอีกทีม ซึ่งทีมนี้จะมี 4 คน และทีมนี้ต้องเดินขึ้นเขาค่อนข้างชันและไกล จึงต้องเตรียมเสบียงและสัมภาระสำหรับค้างในป่า 1 คืน
เส้นทางที่ไปเก็บกล้อง 2 จุดที่เราไปนี้ถือว่าเดินไม่ยาก เพราะสามารถเอารถเข้าไปได้ค่อนข้างลึก และเดินเท้าต่อเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางเดินผ่านลำห้วยเล็กๆ ก็จะพบรอยตีนของสัตว์มากมาย รวมทั้งตัวเอกที่เราต้องการภาพถ่ายนั่นก็คือ “เสือโคร่ง” นั่นเอง
จอดรถ แล้วเดินต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตร
กล้องดักถ่ายภาพจะถูกติดตั้งไว้ตามด่าน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินไปมาของสัตว์ต่างๆ ระหว่างทางพี่รอดจะชี้ให้เราดูร่องรอยต่างๆ ของสัตว์ พี่รอดบอกเราว่ากล้องที่ตั้งไว้ยังไงก็ต้องได้ภาพเสือโคร่งแน่นอนถ้ากล้องไม่มีปัญหาซะก่อน เพราะรอยตีนของเสือนั้นเดินไปทางที่ทีมวิจัยตั้งกล้องไว้ ส่วนบริเวณที่ตั้งกล้องอีกตัวพบร่องรอยการคุ้ยดินอยู่ที่หน้ากล้อง
ร่องรอยตะกุยดินของเสือโคร่ง
หลังเก็บกล้องเสร็จก็กลับขึ้นสถานีวิจัยฯ และพี่รอดไม่รอช้าที่จะเอาการ์ดกล้องมาเช็คภาพที่ดักถ่ายซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะเราได้ภาพถ่ายของเสือโคร่งทั้งสองจุด และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นเมื่อพบว่ามีหนึ่งจุดที่เสือโคร่งเดินผ่านกล้องไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เวลา 01.57 นาฬิกา ซึ่งหมายความว่าเดินนำหน้าเราไปเมื่อ 7-8 ชั่วโมงก่อนเราเข้าไปเก็บกล้อง
วัวแดง อาหารโปรดของเสือโคร่งที่ห้วยขาแข้ง
“วันนี้เดินง่ายหน่อย พรุ่งนี้ไปเก็บที่ห้วยเหลือง จะเดินยากกว่านี้เพราะเดินริมห้วย ทางเดินเป็นหินเดินลำบาก ใจจริงพี่อยากไปตั้งแคมป์ที่ห้วยเหลืองคืนนี้ แล้วเราจะได้เริ่มเดินแต่เช้า เก็บอีก 2 จุด เก็บเสร็จออกมาก็เย็นพอดี” พี่รอดบอกกับเราหลังจากเช็คกล้องเรียบร้อย แต่พี่สมโภชน์อยากให้พวกเราได้พักมากกว่า แล้วพรุ่งนี้ค่อยออกจากสถานีแต่เช้า
หลังกินข้าวเย็นเรียบร้อยพี่สมโภชน์บอกว่าพรุ่งนี้ให้เตรียมพร้อมไปที่ห้วยเหลืองแต่เช้า คือออกจากสถานีฯ ประมาณ 7 โมงเช้า จะมีพี่รอด พี่อ่อนสา ไก่ และเรา ทั้งหมด 4 คน เก็บกล้อง 2 จุด แบ่งเป็นสองทีม ทีมละ 2 คน
“พี่เอ๊ะอยากไปเดินกะใคร” ไก่ยื่นข้อเสนอให้เราเลือก
 
“พี่ไปกับใครก็ได้ ไปได้หมด”
“งั้นพี่เอ๊ะไปกับพี่อ่อนสาแล้วกัน เพราะวันนี้พี่ได้เดินกะพี่รอดแล้ว จะได้ลองเดินกับพี่อ่อนสาดู” ไก่ตัดสินใจให้เรียบร้อย
“มันมี 2 จุดนะ ขึ้นเขา กับลงห้วย เลือกเอา ใครจะไปเส้นไหน” พี่สมโภชน์บอกพร้อมกับรอยยิ้มอ่อนๆ ชวนให้ลังเลว่าเราควรจะเลือกอันไหนดี
“เอางี้เราเลือกคนไปแล้ว ไปลุ้นเอาแล้วกันว่าพี่รอดกับพี่อ่อนสาจะเลือกเส้นไหน เราก็ไปเส้นนั้นแหละ” ไก่บอกกับเราซึ่งเราก็ตกลงตามนั้น
หกโมงเช้าเสียงโทรศัพท์ที่ตั้งปลุกไว้ทำหน้าที่ของมันอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง เราและไก่ลุกจากที่นอนเตรียมตัวและเสบียงให้พร้อม อากาศเช้านี้เย็นอยู่ไม่ใช่น้อย อุณหภูมิที่ปรอดวัดอ่านได้ประมาณ 18-19 องศาเซลเซียส
ตามเวลาที่นัดหมายพี่อ่อนสาขับรถมารับที่โรงครัว และแวะรับพี่รอดที่บ้านพัก พี่รอดผู้ชายร่างเล็ก นั่งผิงไฟอยู่กับแฟนรอเราอยู่หน้าบ้านพร้อมเป้สัมภาระใบใหญ่ ซึ่งวันนี้หลังจากเก็บกล้องเสร็จพี่รอดจะไม่ได้กลับสถานีฯ กับเรา แต่จะต้องแคมป์ในป่าที่แคมป์คลองค้อเพื่อขึ้นเก็บกล้องที่ยอด 1234 ต่อ (1234 คือชื่อของยอดเขา ที่ชื่อนี้เพราะยอดเขานี้สูงจากระดับน้ำทะเล 1234 เมตร)
จากสถานนี้ฯ ไปห้วยเหลือง จะผ่านแคมป์คลองค้อซึ่งหลังเก็บกล้องเสร็จจะต้องแวะส่งพี่รอดที่นี่ ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร แต่เราใช้เวลาในการเดินทางโดยรถ 4W ร่วมชั่วโมงกว่าจะมาถึงที่ห้วยเหลือง
แคมป์คลองค้อ
“เดี๋ยวเราจะต้องเดินไปด้วยกันก่อน จนถึงจุดแยก ขึ้นเนิน กับลงห้วย” พี่รอดบอก
“เอายังไงพี่เอ๊ะ ขึ้นเนิน รึ ลงห้วย” ไก่ถามแบบขำๆ อีกครั้งและเปิดโอกาสให้เลือกก่อน
“พี่ลงห้วยก็ได้ ไก่ไม่น่าจะอยากลงน้ำ แค่นี้ยังยืนสั่น” เราบอกน้องไป
“ก็มันหนาวจริงๆ นะเนี่ย เย๊นนน เย็น” ไก่ตอบพร้อมสะบัดแขนไปมา
“ป่ะ เดินไปด้วยกันก่อน แล้วเดี๋ยวไปแยกกันข้างหน้า” พี่อ่อนสาว่า พร้อมออกเดินตามหลังพี่รอดไป ตามด้วยไก่ และปิดท้ายด้วยเรา
“ทำไมถึงเรียกที่นี่ว่าห้วยเหลืองล่ะ” ไก่ถามพี่อ่อนสาระหว่างเดินลัดเลาะเข้าป่า
“น่าจะมาจากตะกอนทรายที่นี่มันเหลืองๆ น้ำใสๆ ที่เรามองเห็นมันจะเห็นเป็นสีเหลืองๆ ก็เลยเรียกว่าห้วยเหลือง” พี่อ่อนสาอธิบายถึงที่มาของชื่อห้วยเหลือง
ตะกอนดินทรายที่สีน้ำตาลอมเหลืองทำให้น้ำในลำห้วยดูเป็นสีเหลืองใส และน่าจะเป็นที่มาของชื่อ “ห้วยเหลือง”
เดินตัดป่าออกมาไม่ทันไร ไม่ว่าจะเลือกขึ้นเขา หรือลงห้วยสุดท้ายแล้วทั้งสองจุดก็ต้องเดินลัดเลาะตัดลำห้วยก่อนอยู่ดี สรุปว่ายังไงก็ต้องเปียกทุกคน
“เออ น้ำมันดูสีเหลืองๆ จริงๆ ด้วย” เราพึมพำ เมื่อเห็นสีของลำห้วยออกสีเหลืองใส
ข้ามลำห้วยเสร็จก็เป็นทางขึ้นเนิน เดินต่อไม่นานก็เดินลงลำห้วยอีกครั้ง สองฝั่งเป็นหิน และกรวดทราย บางช่วงกลางลำห้วยก็มีกรวดทรายทับถมกันเป็นเนินทรายที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา
“เฮ้ยยย เฮ้ยยย” เสียงพี่รอดตะโกนดังๆ หลังจากข้ามห้วยมา
“เวลาเราเดินลัดห้วย แล้วมีพวกพุ่มไม้ เราต้องใช้เสียงดังๆ เพราะบางทีจะมีสัตว์ หรือพวกควายป่ามันนอนหลบพุ่มไม้อยู่ เค้าได้ยินเสียงเราจะได้หลบไปก่อน” พี่อ่อนสาหันมาบอก เมื่อสิ้นเสียงพี่รอด
“เฮ้ยยยย คนมาแล้วนะเว้ย พวกเอ็งหลบไป” ไก่แกล้งตะโกนเบาๆ บ้าง
“มีอยู่ครั้งนึง พี่ยืนริมห้วยกำลังจะใส่รองเท้า ปรากฏว่ามันมีควายป่าวิ่งสวนออกมาจากพุ่มไม้ รองเท้ายังไม่ทันได้ใส่ พี่วิ่งหนีทิ้งรองเท้าไปก่อนเลย” พี่อ่อนสาเล่าประสบการณ์วิ่งหนีควายป่าให้ฟังแบบขำๆ
ระหว่าที่เดินตามลำห้วยก็จะพบร่องรอยของสัตว์มากมายบนเนินตะกอนทราย
“เห็นรอยตีนเล็กๆ นี่มั๊ย เยอะแยะเลย อันนี้เป็นรอยตีนนาก” พี่อ่อนสาชี้ให้ดูระหว่างทาง
ตัดลำห้วยขึ้นเนิน เดินต่อสักพักก็ตัดลงลำห้วยอีกรอบ
“ นี่ๆ รอยนี้ชัดเลย รอยตีนของสมเสร็จ เพราะตีนมันจะไม่เท่ากัน ขาหน้ามันจะมี 4 นิ้ว อันนี้เป็นขาหลังจะมีแค่ 3 นิ้ว” พี่อ่อนสายังคงสำรวจร่องรอยและชี้ชวนให้เราดูเมื่อพบเจอรอยที่น่าสนใจ
เดินตามลำห้วยไปสักพักพี่รอดกวักมือเรียก พร้อมชี้ให้ดูรอยอุ้งตีนใหญ่ขนาดฝ่ามือ
“รอยตีนใหม่ๆ เลย คงจะเพิ่งเดินนำหน้าเราไปสักพัก เพราะนี่ยังมีรอยเปียกๆ อยู่เลย คงจะมานอนเล่นกระมัง” พลางชี้นิ้วไปที่หินก้อนใหญ่ที่โผล่ขึ้นมากลางลำห้วยบริเวณที่มีเนินตะกอนทราย
รอยตีนเสือโคร่งที่พบบริเวณริมห้วย และสันดอนหินทราย
“หวายยยย นี่เราเดินตามหลังเสืออีกแล้วรึนี่ สดๆ ร้อนๆ เลย” ไก่พูดทีเล่นทีจริงขณะก้มหน้าดูร่องรอยที่พี่รอดชี้ให้ดู
เดินเลาะลำห้วยมาสักพักสองข้างทางเป็นตลิ่งชันและรกมาก เราจำเป็นต้องปีนก้อนหินใหญ่
“โอ๊ยน๊อออ นี่ต้องทำตัวเป็นเลียผาเลยเรา” ไก่พูดไปขำไปขณะที่ต้องไต่ก้อนหินใหญ่ข้างลำธารไป
เดินให้เหมือนว่าตัวเองเป็นเลียงผา
ตัดลำธารขึ้นมาเป็นทางเดินไม่รกมากเท่าไหร่ พี่รอดและพี่อ่อนสาก้มดู GPS แล้วบอกว่าตรงนี้เป็นจุดแยกกัน ที่จะต้องขึ้นเขา และลงห้วย เดี๋ยวเราพักแป๊บนึงแล้วไปต่อ
พี่รอดและพี่อ่อนสาช่วยกันเช็คพิกัดของแต่ละจุด
“จากจุดนี้ไปก็เหลืออีกคนละประมาณหนึ่งกิโลเมตร” พี่รอดดูพิกัดจาก GPS ในมือ
เรานั่งพักประมาณ 5 นาที ก่อนจะแยกย้ายไปในจุดที่ตัวเองรับผิดชอบ ไก่และพี่รอดขึ้นเนินเขาไป ส่วนเราและพี่อ่อนสาเดินตัดลงลำห้วย ก่อนแยกกันพี่รอดอธิบายเส้นทางเดินให้พี่อ่อนสาอีกครั้ง เพราะตอนตั้งกล้องจุดนี้พี่อ่อนสาไม่ได้มาด้วย ซึ่งจะเป็นความยากขึ้นไปอีกในการเก็บกล้องที่ต้องหาทางไปให้ถึงจุดที่กล้องติดตั้งอยู่
พี่รอด ชายร่างเล็กที่แข็งแกร่ง
“ปกติเวลามาทำงานในป่าจะต้องมากี่คน” เราถามพี่อ่อนสา
“เวลาทำงานในป่าต้องมีบัดดี้ อย่างน้อย 2 คน แต่จะให้ดีควรจะ 3 คนขึ้นไป เพราะถ้ามาแค่สองคนบางทีก็ช่วยกันไม่ได้ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเช่นบาดเจ็บ จะต้องมีหนึ่งคนเฝ้าคนเจ็บ อีกหนึ่งคนอาจจะต้องออกไปตามคนมาช่วย หรือสองคนช่วยกันหามเอาเพื่อนออกไป แต่ถ้าคนไม่พอก็ต้องสองคนนี่แหละ”
พี่อ่อนสาพาเราข้ามไปมาลำห้วยอยู่หลายครั้ง บางช่วงตัดขึ้นเขาเพราะหาทางไปไม่เจอ และจากบนเขาตัดลงลำห้วยแบบชันๆ จนแถบจะเอาก้นไถลลงมา
มองหาทางเดินตัดทางจากสันเขาลงลำห้วย
“ไหนว่าลงห้วย นี่มันขึ้นเขาชัดๆ สรุปว่าเราขึ้นทั้งเขา ลงทั้งห้วยด้วยเลยใช้มะ” เราบ่นแบบขำๆ
“นี่แหละ คนตั้งกับคนเก็บคนละคนกันก็มักจะเป็นแบบนี้แหละ บางทีคนตั้งตั้งเสร็จลืมมาร์คพิกัดให้ก็มีต้องหากันกว่าจะเจอ แล้วถ้าไปแล้วทางมันรกมากๆ เข้าไม่ได้ก็ต้องยอมเดินอ้อมแทน”
“เดี๋ยวเราต้องข้ามกลับไป แล้วตัดเลาะทางโน้นแทน ทางนี้ไปไม่ได้เพราะมันจะเป็นน้ำตกและมันชันมากลงไม่ได้” พี่อ่อนสาบอกกับเราหลังจากติดต่อเช็คเส้นทางกับพี่รอดอีกครั้ง
ผ่านไปสักพักทางพี่รอดแจ้งว่าเก็บกล้องเสร็จเรียบร้อยและกำลังจะกลับไปรอตรงจุดที่เราแยกกัน ในขณะที่เส้นของเราเหลืออีก 700 เมตร กว่าจะถึงจุดตั้งกล้อง
ทางส่วนมากของเราคือต้องเดินตัดลำห้วยไปมา ต้องปีนป่ายหิน บางช่วงที่เดินในลำห้วยที่เป็นพื้นทรายเวลาเหยีบลงไปแล้วขาจมไปครึ่งหน้าแข้ง ระยะทางแค่หนึ่งกิโลเมตรกว่าๆ จากจุดแยก แต่เราใช้เวลาคลำทางมาเกือบหนึ่งชั่วโมงครึ่ง กว่าจะถึงจุดตั้งกล้องเล่นเอาแทบหมดแรง
ต้องมีปีนป่ายก้อนหินในบางช่วง
พอเจอพิกัดที่ตั้งกล้อง เราช่วยกันเก็บกล้อง 2 ตัว และบันทึกข้อมูล พี่อ่อนสาเอาเมมโมรี่จากกล้อง Camera trap มาใส่ในกล้องของตัวเองเพื่อเช็คภาพ
“นี่จับภาพได้ด้วย ดูสิภาพสวยเลยแหละ แบบนี้ค่อยชื่นใจหน่อย” พี่อ่อนสาก้มดูภาพถ่ายเสือ น้ำเสียงดูสดใสขึ้นมาทันที เรารับรู้ได้ว่าแกกำลังมีความสุขกับภาพถ่ายในมือ พร้อมกับเลื่อนดูภาพไปเรื่อยๆ
เช็คเมมโมรีการ์ด
พี่อ่อนสาเช็คกล้อง และบันทึกข้อมูล
“อุ๊ย ตัวนี้มีปลอกคอด้วย นี่แสดงว่าด่านนี้มีเสือเดินผ่านอย่างน้อยสองตัว แต่ที่ใส่ปลอกคอยังไม่แน่ใจว่าตัวไหน เดี๋ยวกลับไปคีย์ข้อมูลก่อน”
กลังจากเช็คข้อมูลเสร็จก็เก็บของเดินกลับไปที่จุดนัดพบ ขา กลับเดินลุยน้ำเช่นเคย แต่ดีหน่อยที่ไม่ต้องขึ้นลงเนินชันๆ เหมือนตอนขามา พี่อ่อนสาบอกว่าขากลับง่ายขึ้น เพราะเรารู้ว่าเราจะไปจุดไหน ไม่ต้องคลำทางมา เราใช้เวลาเดินกลับแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ก็เป็นครึ่งชั่วโมงที่เหนื่อยเอาเรื่อง เพราะขา กลับต้องเดินทวนน้ำขึ้นไปนั่นเอง
ไก่กับพี่รอดนั่งรออยู่ที่จุดนัดหมาย ซึ่งมาถึงก่อนหน้าเรานานมาก ไก่บอกว่าทางที่ไก่ไปจนถึงจุดตั้งกล้องเตียนโล่งเดินสบาย เพราะฝูงพี่ใหญ่เพิ่งนำทางไปนอนเล่นหน้ากล้องก่อนเรามาถึงประมาณ 7 ชั่วโมง
หลังจากเดินลุยน้ำและเปียกกันอยู่เป็นชั่วโมง ขากลับพวกเราแวะส่งพี่รอดที่แคมป์คลองค้อ ระหว่างนั่งพักพี่รอดถอดรองเท้าและถุงกันทากออก ฝ่าเท้าของพี่รอดซีดจนขาว สังเกตุเห็นนิ้วโป้งหักงอจนติดกับฝ่าเท้า และหน้าแข้งมีร่องรอยของบาดแผลเก่า
พี่รอดเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งเขาเคยปะสบอุบัติเหตุขณะขับรถมอเตอร์ไซด์ไปทำงาน ระหว่างขึ้นเขาเกียร์รถเกิดขัดข้อง ทำให้รถสะบัดล้มทับขาจนกระดูกหน้าแข้งข้างซ้ายหักทิ่มทะลุผิหนังออกมา
แทบไม่น่าเชื่อว่าคนที่เดินเหินในป่าคล่องแคล่วว่องไวได้ขนาดนี้คือคนที่เคยประสบอุบัติเหตุจนขาแข้งหักมาแล้ว ส่งพี่รอดเสร็จพวกเราก็เดินทางกลับสถานีฯ
“พรุ่งนี้ไก่กับเอ๊ะไปกับพี่อ่อนสา เข้า check point” พี่สมโภชน์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำมอบหมายงานต่อหลังกลับมาจากเก็บกล้องที่ห้วยเหลือง
ครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังต่อว่า “เข้า check point” คือตอะไร แล้วทำไปเพื่ออะไร ... โปรดติดตามตอนต่อไป😊
โฆษณา