20 ธ.ค. 2020 เวลา 12:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"NRF" บริษัทไทย โตใน Food Mega Trend ของโลก
[เทรดมั่วทัวร์ดอย]
[เทรดมั่วทัวร์ดอย] - Cr.adaybulletin.com
NRF ธุรกิจน้องใหม่ ในตลาด SET
NRF หรือ บมจ "เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์" เป็นบริษัทน้องใหม่ที่พึ่งจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งความน่าสนใจของ NRF เกิดขึ้นในปี 2560 หลังจากคุณแดน ปฐมวาณิชย์ ได้เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมดของ NRF จากผู้ถือหุ้นเดิม พร้อมประกาศเป้าหมายของบริษัทบนแนวทาง "The Purpose – Led Company" เพื่อมุ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตระดับโลกบนตลาด specialty Food ผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.Ethnic Food 2.Plant-based Food และ 3.Functional Food ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับ NRF กัน เรามามาลองดูข้อมูลพื้นจากจากการ IPO กันก่อน
NRF เข้าเทรดใน SET เมื่อวันที่ 09 ตุลาคม 2563 โดยกำหนดราคา IPO ที่ราคา 4.60 บาท/หุ้น จำนวน 340 ล้านหุ้น รวมเป็นมูลค่าการเสนอขายหลักทรัพย์กว่า 1.3 พันลบ. โดยมีวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อ
1
1. ชำระคืนเงินกู้ระยะยาว 972 ลบ.
2. ลงทุนโครงการอนาคต 328 ลบ.
โครงสร้างบริษัทของ NRF
Cr.Oppday NRF 3Q63
ธุรกิจหลักของ NRF
Cr.nrinstant.com
NRF ประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ
1.Ethnic Food (88%) - อาหารท้องถิ่น
2.Plant-based Food (8%) - ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช
3.Functional Products (4%) - สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหาร
Ethnic Food - อาหารท้องถิ่น
1
Cr.schoolofwok.co.uk
กลุ่มธุรกิจ Ethnic Food หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารท้องถิ่นของไทย เป็นธุรกิจดั่งเดิมของ NRF และมีสัดส่วนรายได้สูงสุดที่สัดส่วน 88% ของรายได้รวม (ข้อมูล ณ 9M63) โดย NRF เป็นผู้รับจ้างผลิตและผลิตในตราสินค้าของบริษัทเอง ในสัดส่วน 71% ต่อ 29% ตามลำดับ
ผลิตภัณฑ์ของ NRF มีมากกว่า 2000 SKU และมากกว่า 500 สูตร ผ่าน 200 แบรนด์ของลูกค้า ส่งออกไปใน 25 ประเทศทั่วโลก เช่น อเมริกา ทวีปยุโรป
Cr.Oppday NRF 3Q63
จำแนกประเภทสินค้าในกลุ่ม Ethnic food
• ส่วนผสมอาหาร (Recipe mix) 50%
• พร้อมรับประทาน (ready to eat) 27%
• เครื่องปรุงรส (basic seasoning) 19%
• อื่นๆ 4%
Cr.Oppday NRF 3Q63
ผลิตภัณฑ์ตราสินค้าของบริษัทเอง มีหลากหลายแบรนด์ ได้แก่
Cr.nrinstant.com
• พ่อขวัญ - เครื่องต้มยำ เครื่องปรุงรส น้ำจิ้ม เครื่องแกง
• Lee Brand - เน้นเครื่องปรุงรสอาหารท้องถิ่นแถบเอเชีย เช่น ซอสผัดพริกไทยดำ ซอสเทอริยากิ
• Thai Delight - อาหารสำเร็จรูปที่ไม่ต้องปรุงรส เช่น แกงเขียวหวานไก่ ผัดไท
• DeDe - เครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ เช่น น้ำมะพร้าม ชาไทย ชานมไข่มุก
• Sabzu - สินค้าที่มีพริกเป็นส่วนผสม เช่น ซอสศรีราชา น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มไก่
Plant-based Food ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต
Cr. plantandbean.com/
โปรตีนจากพืช นับว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่กำลังเติบโตในอัตราสูง โดยข้อมูลจาก filling พบว่า ประชากรกว่า 750 ล้านคน หรือ 10% ของประชากรโลกที่บริโภคอาหารที่ทำมาจากพืช โดยมีอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นผู้นำเทรนด์ และเรียกได้ว่าเป็น Mega trend ด้านอาหารและด้านสุขภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องไปกับความท้าทายเรื่องการขาดแคลนอาหาร อีกทั้งกระแส carbon neutral ที่ทุกๆภาคส่วนกำลังให้ความสนใจ
Cr.Filling IPO NRF
Cr.Oppday NRF 3Q63
การเติบโตของตลาด plant based น่าสนใจ จากข้อมูลใน research ที่ NRF นำเสนอใน oppday ล่าสุด คาดว่าตลาดนี้จะมีการเติบโตของมูลค่าตลาดในอีก 7 ปีข้างหน้าแบบ CAGR ที่ 11.9% นับว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตในอัตราที่สูงมาก
มาต่อกันที่ธุรกิจ Plant based food ของ NRF จะเป็นรูปแบบของการรับจ้างผลิต หรือ OEM ทั้ง 100% ของรายได้ ตัวอย่างสินค้า เช่น อาหารสำเร็จที่ทำจากขนุน เนื้อเจ ซูชิปลาไหล&ทูน่าเจ เส้นบุกต้มยำ&ผัดไท ไส้กรอกที่ทำจากโปรตีนพืช
Cr.Oppday NRF 3Q63
Cr.Oppday NRF 3Q63
Functional Products สินค้าอุปโภค&บริโภคภายใต้บรรจุภัณฑ์ V-Shape
Cr.v-shapes.com
จุดเด่นของธุรกิจนี้อยู่ที่ packaging ในรูปตัว "V" ที่ชูเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการช่วยลด single used plastic มีคุณสมบัติของสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หากนึกภาพบรรจุภัณฑ์นี้ไม่ออก ลงกดดูวิดีโอด้านล่างนี้ได้ครับ
V-Shape packaging เริ่มต้นในช่วงปลายปี 62 เมื่อ NRF ได้รับสิทธิในการปฏิเสธก่อนจาก "V-SHAPES s.r.l." (VSRL) บริษัทในอิตาลี ในการให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าในบรรจุภัณฑ์ V-Shapes สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง ยา เวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ และเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักร โดยจะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการขายเครื่องจักร V-Shapes ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังอยู่ในช่วงของการขยายไปในกลุ่มสินค้าที่มากขึ้นในอนาคตนี้
ภาพรวมการเติบโตในอนาคต
Cr.Oppday NRF 3Q63
หากเราดูที่วัตถุประสงค์การ IPO ของ NRF ทางบริษัทเข้ามาเพื่อนำเงินจากการเสนอขายหุ้นไปชำระคืนเงินกู้สถาบัน 972 ล้านบาท และหากไปดู balance sheet งบการเงินงวดล่าสุด ทาง NRF มีหนี้สินอยู่ระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 840 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และข้อมูลจาก Oppday ล่าสุด ทางบริษัทแจ้งว่า หนี้ส่วนนี้ได้ถูกชำระไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้รายจ่ายดอกเบี้ยลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรสูงขึ้นอีกด้วย
ด้านเป้าหมายการเติบโตในอนาคต ทาง NRF ได้ตั้งเป้าหมายของรายได้อีก 5 ปีข้างหน้าไว้ที่ 3,000 ล้านบาท ซึงเป็นไปตามแผนงานหลักของบริษัท (แต่ระหว่างนี้พร้อมที่จะประกาศข่าวดีเรื่อยๆ ทั้งการร่วมลงทุน การ m&a)โดยแผนงานของบริษัทค่อนข้างน่าสนใจ เพราะมีแผนการเติบโตในทุกๆกลุ่มธุรกิจ ต่อไปเราจะมาลองศึกษาถึงการเติบโตในอนาคตของ NRF กันครับ
การเติบโตผ่านธุรกิจหลัก
Cr.Oppday NRF 3Q63
หากมาพิจารณาที่ธุรกิจหลักของ NRF คือ Ethnic Food จากเดิมนั้น NRF มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 13,200 ตัน/ปี ซึ่งทางบริษัทใช้กำลังการผลิต (u-rate) อยู่ที่ 96% ด้วยกำลังการผลิตที่กำลังจะเต็ม ทางบริษัทได้มีการประกาศข่าวในการซื้อหุ้นในบริษัท cityfood ครบทั้ง 100% ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ได้กำลังการผลิตเพิ่มมาอีก 5,882 ตันต่อปี อีกทั้งยังมีแผนการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 30-40% ในปีหน้าอีกด้วย
S-Curve บน Mega trend
Cr.Oppday NRF 3Q63
พระเอกของการเติบโตของ new S-Curve ของ NRF คือ ธุรกิจ Plant based food ซึ่งเป็นกระแส mega trend ที่กำลังเติบโตขึ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือ ด้านแผนงานของบริษัทค่อนข้างน่าสนใจมากๆ คือ การมุ่งเน้นเป็น plant based platform ผ่านการขยายกำลังการผลิตไปพร้อมๆกับการสร้างตลาดใหม่ผ่าน startup และเข้าสู่ตลาด E-commerce เพื่อเพิ่มช่องทางการขาย
Cr.plantandbean.com
• มุ่งสู่ Plant Based Platform
ในด้านการผลิตนั้น NRF ได้เตรียมความพร้อมผ่านการร่วมทุนกับบริษัท BRECKS ในประเทศอังกฤษ จัดตั้งบริษัท "Plant&Bean" ผ่านการถือหุ้น 25% มูลค่า 200 ล้านบาท และได้สิทธิซื้อเพิ่มอีก 25% ในปี 2564 โดยล่าสุด P&B ได้มีการประกาศซื้อโรงงานแห่งใหม่ เป็นที่เรียบร้อย ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มจาก 4,700 ตัน/ปี ขึ้นเป็น 35,000 ตัน/ปี และสามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 75,000 ตัน/ปี
ในประเทศไทย NRF ก็ได้มีการสร้างโรงงาน plant based food เช่นกัน โดยใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท ที่กำลังการผลิต 4,800 ตัน/ปี เพื่อหวังเป็นผู้ผลิตโปรตีนจากพืชในแถบนี้เพื่อรองรับตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแผนงานเริ่มก่อสร้างในปี 2564 คาดเสร็จในปี 2565
NRF มีเป้าหมายสู่การเป็น "Plant based Platform" คือ การขยายฐานการผลิตไปในหลายทวีปทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย โดยมุ่งเน้นเป็นโรงงานผลิตวัตถุดิบด้านโปรตีนจากพืชเพื่อขายให้กับบริษัท startup หรือ food tech ที่ทำสินค้าด้าน plant based และ cell based ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการขยายของบริษัทเดิมเข้าไปในภูมิภาคใหม่ ที่มีโรงงานเครือ NRF เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้ในคุณภาพที่เหมือนกัน
• โอกาสในกองทุน Startup
หากย้อนกลับไปในปี 2562 NRF ได้เข้าลงทุนใน "Big Idea Venture" ที่ได้ลงทุนต่อในกองทุน New Protein Fund I ที่มีขนาดกองทุนถึง 1,500 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนใน startup จำนวน 100 บริษัท ในระยะเวลา 4 ปี ในธุรกิจโปรตีนจากพืชและเซลล์ (Plant base & Cell base) เป็นหลัก
ซึ่งทาง NRF ต้องการลงทุนเพื่อเอา know how+เทคโนโลยีต่างๆมาพัฒนาสินค้าของบริษัท และเป็นการสร้างโอกาสที่จะเปลี่ยน startup เหล่านั้นมาเป็นลูกค้าในอนาคต ผ่านสิทธิในการเป็น Preferred Co-Packer หรือสิทธิในการได้รับว่าจ้างเป็นผู้ผลิตให้
โดยบริษัทคาดหวัง 10-20% ของ startup จากกองทุนเปลี่ยนมาเป็นลูกค้า อีกทั้งเพื่อค้นหา unicorn หรือบริษัท startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญฯ หากเกิด unicorn ขึ้นมาได้เพียง 1 บริษัท ก็จะทำให้รายได้จากการผลิตสินค้าให้นั้นเติบโตอย่างมาก
ในปัจจุบัน NRF ได้สัญญาว่าจ้างผลิตจาก "Phuture" ซึ่งเป็นหนึ่งใน startup ของกองทุนดังกล่าว มาจ้างให้ NRF ผลิตสินค้าหมูสับเทียมจากถั่วเหลือง
• ลงทุนในธุรกิจใหม่
Cr.oceanhuggerfoods.com
NRF ได้ลงทุนในบริษัทใหม่ๆ เช่น Ocean Hugger Foods (สัดส่วน 80%) บริษัท startup ใน US ที่ผลิตทูน่าดิบและปลาไหลจากพืช
ธุรกิจ Functional Product
Cr.Oppday NRF 3Q63
จากรายละเอียดของธุรกิจ V-Shape ข้างต้น NRF ยังมีแผนแตกไลน์เข้าไปในสินค้าอาหาร เช่น ซอสปรุงรส เครื่องปรุง เครื่องดื่มชูกำลัง และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เจลล้างมือ เครื่องสำอาง ทั้งในส่วนของผลิตสินค้าเองและการหา partner ทั้งจากในและต่างประเทศ
ปัจจุบัน NRF ได้ลูกค้ารายรายใหม่ คือ FLUID Energy Group จากแคนาดา ในการซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าให้กับ FLUID ประเทศแคนาดา และอีก 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ทำให้ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่จำนวน 2 เครื่อง ส่งไปยัง FLUID ในช่วงเดือน มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา โดยมีแผนสั่งซื้อเพิ่มในอนาคตอีก 5 เครื่อง ด้วยงบลงทุนประมาณ 90 ล้านบาท ซึ่งทาง NRF จะได้ผลตอบแทนในรูปแบบ Royalty Fee มีรายละเอียดดังนี้
Cr.Filling IPO NRF
E-Commerce คือคำตอบในยุค 4.0
Cr. carleton.ca
NRF ตระหนักถึงโอกาสผ่านการทำการตลาดบนออนไลน์ อีกทั้งบริษัทไม่มียอดขายจากช่องทางออนไลน์เลย จึงทำให้ NRF ใช้เงิน ประมาณ 100 ล้านบาทลงทุนในบริษัท Boosted Commerce USA ที่มีโมเดลธุรกิจ คือ ลงทุนในบริษัทที่ขายดีและมีการเติบโตบน Amazon
อีกทั้งเตรียมจัดตั้ง JV ร่วมกันในชื่อ "NRF Boosted JV" เพื่อทำการตลาดสินค้าของ NRF เองบน amazon และลงทุนในบริษัทอื่นๆตามโมเดลของ Boosted Commerce ในกลุ่มธุรกิจ Ethnic Food, Plant-Based Food, Functional Food, และ Pet Food นับว่าเป็นการขยายตลาดของตัวเองและมีโอกาสเข้าถึงสินค้าใหม่ๆให้กับบริษัทอีกด้วย
ผลการดำเนินงานของ NRF
ปี2560
รายได้ 1,059 ล้านบาท
กำไร 62 ล้านบาท
ปี2561
รายได้ 1,138 ล้านบาท
กำไร 95 ล้านบาท
ปี2562
รายได้ 1,119 ล้านบาท
กำไร 40 ล้านบาท
งวด 9 เดือน ปี2563
รายได้ 971 ล้านบาท
กำไร 89 ล้านบาท
มุมมองของผู้เขียนและราคาหุ้น NRF
NRF เป็นหุ้นตัวหนึ่งที่มีความน่าสนใจมากๆ จากแผนการเติบโตที่อยู่ในรูปแบบของการลงทุนเพื่อรับ know-how ใหม่ อีกทั้งบริษัทพยายามสร้าง demand ขึ้นมา ทั้งการนำเอาสินค้าใหม่ๆมาทำการตลาดในไทย การลงทุนผ่านกองทุน เพื่อสร้าง startup ให้เกิดและเข้ามาในตลาดมากขึ้น และเป้าหมายอย่างชัดเจนที่จะเป็น platform ในลักษณะการผลิตต้นน้ำไปถึงกลางน้ำ ส่วนปลายน้ำกลับเป็นการลงทุนผ่าน JV ที่เน้นไปลงทุนต่อ มิใช่ในรูปแบบการแข่งขันแต่อย่างใด เป็นการสนับสนุน ต่อยอดสู่การเติบโตมากกว่า
อีกส่วนหนึ่งคงต้องให้น้ำหนักไปกับคุณแดน CEO ของ NRF ที่เรียกว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ซึ่งสังเกตุได้จากโมเดลการเติบโต ที่มีลักษณะไปในแนวทางของบริษัทในต่างประเทศ มีความชัดเจนจากเป้าหมายที่ใหญ่ น่าติดตาม
สุดท้ายนี้คงต้องให้คำชมกับแนวทางของบริษัท ที่มุ่งเน้นสู่การเป็นธุรกิจ ESG (environment, social, governance) หรือบริษัทที่ไม่นำเอาการแสวงหากำไรมาเป็นที่ตั้ง พร้อมยังให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม สังคม การสร้างงานและธรรมาภิบาลมาเป็นที่ตั้งในการทำธุรกิจ
Cr.Trading view - NRF
ส่วนด้านราคาหุ้นของ NRF นั้นหลักจากเปิดเทรดวันแรก ราคากระโดดขึ้นไปสูง 9.05 บาท ก่อนจะปิดวันที่ระดับราคา 6.05 บาท หลังจากนั้นได้มีการลงไปทำจุดต่ำสุดที่ประมาณ 5 บาทกว่าๆ เหตุผลหนึ่งคือ NRF เทรดบนราคาที่คิดบนกำไรในอนาคต PE ปัจจุบันระดับสูงกว่า 87 เท่า ทำให้หุ้นจึงติดเกณฑ์ซื้อขายด้วย cash balance อยู่บ่อยๆ
ความเสี่ยง!!จากการลงทุน ก็คงเป็นการที่บริษัททำไม่ได้ตามแผนงานนั่นเอง เพราะราคาหุ้นค่อนข้างสะท้อนความสำเร็จในอนาคตส่วนหนึ่งไปบ้างแล้ว
จากนี้คงต้องมาติดตามภาพการเติบโตตามแผนงานของ NRF กัน ซึ่งดูๆแล้วน่าจะค่อนข้างยาวถึง 2-3 ปี ข้างหน้ากว่าจะเห็นภาพของความสำเร็จ จึงทำให้ NRF เป็นหุ้นเติบโตตัวหนึ่ง ที่น่าสนใจตามกระแส mega trend ที่ผมขอติดตามผลการดำเนินงานไปหลังจากนี้ด้วยครับ
สุดท้ายนี้ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อศึกษาหาข้อมูลและแผนงานของบริษัท NRF เท่านั้น โดยทางผู้เขียน
**มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้นำให้เกิดการซื้อ-ขายหุ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนพิจารณาลงทุนครับ**
ที่มา :
#เทรดมั่วทัวร์ดอย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา