16 ธ.ค. 2020 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
เปิดชีวิต พี่เอม อมฤต ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA Co-Working Space และ Techsauce
ทำไมต้องเลือกแค่อย่างเดียวในเมื่อเราเป็นได้หลายอย่าง?
วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ พี่เอม อมฤต เจริญพันธ์ ชายหนุ่มไฟแรงผู้เป็นทั้งนักลงทุน ผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ โค้ช และผู้ริเริ่มกิจการ Co-Working Space รายแรกของเมืองไทย เคล็ดลับการค้นหาตัวเองและเทคนิคการแบ่งเวลา ติดตามได้ที่นี่
5
“ถ้าวันนี้ตายไปจะเสียดายอะไรมากที่สุด? ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่า?” - เอม อมฤต
2
#รู้จักกับพี่เอม
พี่เอมเรียนจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์การบัญชี หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba สตาร์ทอัพผู้นำเทรนด์ Co-Working Space ของเมืองไทย หรือในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Techsauce สื่อออนไลน์ที่มียอด Reach ต่อปีใน Facebook สูงถึง 5,000,000 และมียอดผู้ร่วมงาน Techsauce Global Summit กว่า 20,000 คน แต่พี่เอมยังมีบทบาทอื่นๆ ที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนักอย่างการเป็นส่วนหนึ่งของ Impact Collective กองทุนจากเกาหลีใต้ที่เน้นลงทุนในกิจการเพื่อสังคมในตำแหน่ง ASEAN Director พี่เอมมองว่าโลกของเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ทุกอย่างเสื่อมโทรมลงทั้งด้านธรรมชาติและสภาพสังคม เขาจึงอยากกลับไปที่จุดเริ่มต้นของตัวเอง นั่นคือ การปั้นและบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคม รวมทั้งทำหน้าที่โค้ชคอยให้คำปรึกษากิจการสตาร์ทอัพรวมๆ 5 กองทุนด้วยกัน
2
#แตกต่างอย่างมั่นใจ
1
พี่เอมเติบโตมาในสภาวะที่ต้องเรียนรู้และตัดสินใจด้วยตัวเองมาตลอด เนื่องจากคุณพ่อทำงานที่ต่างประเทศและไม่ได้มีโอกาสดูแลพี่เอมอย่างใกล้ชิดเท่าไหร่นัก ทำให้พี่เอมต้องฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิตด้วยการลองผิดลองถูกเอาเอง จนส่งผลให้กลายเป็นคนมีความมั่นใจและความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ว่าจะสามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตได้
แนวคิดนี้ช่วยประคับประคองให้พี่เอมผ่านช่วงชีวิตมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยมาได้ และในขณะที่เพื่อนๆ ที่เรียนโรงเรียนนานาชาติด้วยกันมักเลือกเรียนต่อต่างประเทศ พี่เอมกลับเลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่ไทยเพราะตั้งใจไว้ว่าจะทำธุรกิจที่นี่
1
พี่เอมเรียนจบช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นถึงสองครั้ง ครั้งแรกเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคบางอย่างในช่วงที่ไปแลกเปลี่ยนตอนมัธยม ส่วนครั้งที่สองเกิดจากตัวพี่เอมเอง ที่เรียนจบช้าไปหนึ่งเทอมเพราะเน้นการทำกิจกรรมจนละเลยด้านการเรียน
1
คนส่วนใหญ่มักตำหนิว่าการเรียนจบช้าคือจุดด่างพร้อย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากมองจากมุมมองของผู้ที่วางแผนชีวิตตามขนบเดิมๆ แต่พี่เอมรู้ว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ณ ตอนนั้น คือการเป็น Entrepreneur และความรู้ด้านธุรกิจที่ได้รับจากคณะก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง ยังมีอีกหลายด้าน ทั้งการตลาด เทคโนโลยี หรือการทำเพื่อสังคม ที่เขาจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ความเชื่อมั่นในตนเองที่เขามี จึงช่วยให้เขากล้าที่จะตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางที่ต่างจากคนอื่น
1
#FailForward
พี่เอมไม่ได้ปฏิเสธว่าสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ใช่ความผิดพลาดเลยเสียทีเดียว แต่พี่เอมจะยอมรับมันและมองหาบทเรียนที่ได้จากความผิดพลาดนั้น ‘Fail Forward’ จึงกลายมาเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตของพี่เอม เขาเล่าให้ฟังว่ากว่าจะออกมาเป็นทั้ง Hubba และ Techsauce ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ก็เคยตั้งบริษัทและล้มเหลวมาแล้วมากกว่า 30 ครั้ง
ในตอนที่ชีวิตต้องลำบากล้มลุกคลุกคลาน พบเจอความผิดหวังมามากมาย ตัวเขาเองก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมถึงต้องมาเจออะไรแบบนี้ ทำไมต้องมาอดหลับอดนอน ทำไมการระดมทุนไม่ราบรื่น ทำไมต้องมีปัญหากับพาร์ทเนอร์ ทว่าเมื่อมองย้อนกลับมาก็ค้นพบว่าทุกเหตุการณ์ร้ายๆ มักจะมีเรื่องดีๆ ซ่อนอยู่ อย่างตอนที่เรียนจบช้าก็ทำให้พี่เอมได้เจอเพื่อนกลุ่มใหม่ที่ดี หรือตอนตัดสินใจไม่สมัครงานในบริษัท Big 4 อย่างที่เด็กบัญชีคนอื่นทำเพราะรู้ว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง ก็ทำให้มีโอกาสได้ออกไปค้นหาสิ่งที่ต้องการ พี่เอมบอกว่า ถ้าหากงัดแงะบทเรียนออกมาได้ว่าทำไมชีวิตเราต้องเจอสิ่งนี้ ก็จะทำให้กลายเป็นคนแข็งแกร่งขึ้น เก่งขึ้น และดีขึ้น
6
“มั่นใจว่าชีวิตก็คงจะเจอความล้มเหลวอยู่เรื่อยๆ แต่ทุกครั้งที่ล้มก็จะถามตัวเองว่า What’s the lesson here? What do I need to learn to be better?”
1
#TipsandTricks #FindYourself
พี่เอมได้ให้คำแนะนำเมื่อถูกถามว่ารู้เป้าหมายชีวิตตัวเองได้อย่างไร โดย Career Fact สรุปมาให้แล้วใน 4 ข้อดังนี้!
ลองให้รู้: ลองลิ้มรสชาติชีวิตของคนอื่นด้วยการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงานหรือการทำงานอาสา เพื่อตามหาว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบ อะไรคือสิ่งที่ไม่ชอบ
1
รับฟังเสียงของตัวเอง: ก่อนจะด่วนสรุปว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจเหลวไหล อยากให้ลองคิดดูก่อนว่า ‘ทำไม’ เราถึงไม่มีแรงลุกมาตั้งใจทำงาน เพราะไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า? ควรฝืนทำต่อไปไหม?
2
เป็นผู้นำ VS เป็นผู้ตาม: บางคนชอบออกไอเดียและสนใจจะนำไอเดียเหล่านั้นมาปั้นเป็นธุรกิจจนเติบโตงอกงาม ในขณะที่บางคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก ลองทบทวนดูว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน
2
Specialist VS Generalist: วิเคราะห์จุดแข็งของตัวเองว่าเป็นสายเฉพาะทางหรือสายรู้รอบด้าน
2
สำหรับพี่เอม เมื่อพิจารณาจากทั้งประสบการณ์ทำงานที่หลากหลายและจุดแข็งในการ ‘Connect’ แล้ว คงนับได้ว่าเป็นสาย Generalist หรือพวกรู้กว้าง พี่เอมไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นเพียงนักลงทุนหรือ CEO อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็น ‘Ecosystem Builder’ ซึ่งทำหน้าที่เปรียบเสมือนกาวในการเชื่อมต่อทรัพยากร คน และองค์กรต่างๆ ที่อยากสร้างโปรเจกต์ใหม่ร่วมกันหรือสนใจอยากร่วมลงทุนแต่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน อาจจะไม่สนิทใจกันมากพอ ซึ่งคนที่จะสามารถมาช่วยเป็นตัวกลางประสานงานก็คือพี่เอมนั่นเอง อย่าง​ Techsauce ที่เป็นที่โด่งดังก็เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อระหว่างทีมงาน Thumbs Up (สื่อออนไลน์ด้านการตลาด) กับทีม Hubba
#ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่าง?
เป็นคำถามที่มนุษย์เป็ดทุกคนคงคุ้นเคย และก็เป็นอีกครั้งที่การที่พี่เอมรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้คำถามเหล่านี้ไม่ส่งผลอะไรกับการตัดสินใจทำอาชีพแหวกขนบ กล่าวคือ เป็นอาชีพที่ไม่ได้มีสอนตามห้องเรียนหรือเป็นอาชีพที่เด็กบัญชีจะเลือกทำกัน เนื่องจากเขารู้ว่าตัวเองมีความสนใจต้องการทำอะไรหลายอย่าง และประเมินศักยภาพตัวเองแล้วว่าทำไหว ผลพลอยได้คือทำให้มีฐานความรู้ที่กว้าง ซึ่งเป็นทักษะที่เหมาะสมกับงานให้คำปรึกษาองค์กรหรือสตาร์ทอัพ เพราะการจะให้คำปรึกษาได้ก็ย่อมต้องรู้ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ PR การระดมทุน การจ้างงาน เป็นต้น
นอกจากจะไม่ได้มองว่าการเป็น Generalist เป็นข้อด้อยแล้ว พี่เอมกลับมองว่าโชคดีที่ขัดเกลาตัวเองมาในลักษณะรู้รอบ เพราะสุดท้ายก็ได้มาทำความรู้จักกับอาชีพ Ecosystem Builder ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นอาชีพที่มีคนรู้จักมากนัก แต่ถือเป็นอาชีพที่มี Value สูงมาก เมื่อได้ทำอะไรที่เหมาะกับตัวเอง และเป็นสิ่งที่คนในแวดวงเดียวกันเห็นคุณค่า ความสุขในการทำงานก็เกิดขึ้น
#ทำหลายอย่างขนาดนี้แบ่งเวลายังไง?
พี่เอมนำกฎ 80/20 ของ Google (80% ใช้กับงานหรือโปรเจกต์หลัก 20% ใช้กับโปรเจกต์สร้างสรรค์จาก Passion ของตัวเอง) มาประยุกต์ใช้กับการแบ่งเวลา
เวลา 20% ของพี่เอมจะใช้ไปกับ การ Mentoring ในช่วงวันเสาร์ โดยจะมีอีเวนท์ที่ชื่อว่า Startup Therapy หรือการนัดผู้ประกอบการหน้าใหม่มาพูดคุยปรับทุกข์ให้คำปรึกษากัน หากถามว่าทำไมต้องกันเวลาส่วนนี้ไว้ ไม่เอาเวลาไปพักผ่อนจะดีกว่าหรือ? พี่เอมก็ให้คำตอบมาว่า เพราะการเป็นผู้ให้หรือการ ‘Give First’ จะเป็นใบเบิกทางให้กับโอกาสทางธุรกิจที่อาจเข้ามาในอนาคต
ส่วนเวลา 80% จะใช้ไปกับโปรเจกต์และงานหลักที่มีหลายอย่างเหลือเกิน จนหลายคนท้วงว่าพี่เอมเป็นถึง CEO ก็ควรจะทุ่มเทให้บริษัทของตัวเองหรือเปล่า แต่พี่เอมมองว่าเบื้องหลังของ CEO ทุกคนนั้นมี Support Network มากมาย สตาร์ทอัพหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ นอกจากปัจจัยเรื่องทุนแล้ว แรงสนับสนุนและคำปรึกษาจากภายนอกก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเก่งพอจะฝ่าฟันปัญหาไปได้ด้วยตัวคนเดียว เมื่อค้นพบเบื้องหลังตรงนี้ พี่เอมจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยไม่ให้คนทำสตาร์ทอัพหลงทางจนเสียเงินเปล่าหรือเครียดจนเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งยังทำให้พี่เอมตระหนักได้ว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องเป็นหัวเรือหลักในทุกๆ โปรเจกต์ การแบ่งเวลาไปเป็นผู้ลงทุนหรือช่วย CEO ของที่อื่นต่อยอดธุรกิจในฐานะผู้ให้คำปรึกษา ก็ถือเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่าในอีกรูปแบบหนึ่ง
#ตายไปไม่เสียดาย
สิ่งหนึ่งที่พี่เอมฝากไว้คือ อย่าประมาท เพราะเราไม่รู้ว่าอายุขัยเราจะยาวถึง 95 หรือสั้นแค่ 35 ทุกครั้งที่มีรุ่นน้องมาขอคำปรึกษาว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี พี่เอมก็จะถามกลับไปง่ายๆ ว่า “ถ้าวันนี้ตายไปจะเสียดายอะไรมากที่สุด? ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่า?”
ปัจจุบันพี่เอมก็ยังอยากลองทำอะไรหลายอย่าง และไม่ได้มีเป้าหมายหนึ่งเดียวชัดเจน แต่อย่างน้อยก็รู้ว่าต้องเดินไปทางไหนเพื่อเปิดประตูลองทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และทุกครั้งที่ไปถึงประตูนั้นก็จะมีประตูใหม่ๆ โผล่มาให้เลือกอีกเสมอ โดยจะพิจารณาตัวเลือกจากบริบทในเวลานั้นว่าสังคมต้องการอะไรจากตัวเองมากที่สุด
1
“ในท้ายที่สุดแล้ว ถ้าวันหนึ่งผมหายไป อย่างน้อยทุกคนก็จำได้ว่าเอมเคยสร้าง Hubba ที่ช่วยจุดกระแส Co-Working Space และ Techsauce ในไทย” พี่เอมกล่าวทิ้งท้าย
1
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
1
โฆษณา