16 ธ.ค. 2020 เวลา 04:44 • ความคิดเห็น
ข้อคิดเห็นต่อปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑล
PM 2.5 ที่กรุงเทพทั้งชั้นในและชั้นนอกเผชิญอยู่ในขณะนี้ หากจะค้นต้นตอ ก็มีต้นกำเนิดจากไม่กี่แหล่ง และเมื่อระบุต้นตอแล้วก็จะนำไปสู่วิธีจัดการที่เหมาะสม ดังนี้
- รถยนต์ที่วิ่งในกรุงเทพ ไม่เชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักเนื่องจากการล็อกดาวน์โควิดทำให้แรงงานกรุงเทพต้องออกจากงาน และน่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระบบทั้งหมด อย่างไรก็ตามโควิดก็กระตุ้นให้คนส่วนหนึ่งซื้อรถป้ายแดงมากขึ้น ซึ่งมีผลให้จำนวนรถโดยรวมทั้งประเทศมากขึ้น หมายถึงมลพิษมีโอกาสมากขึ้นไปด้วย รัฐจึงควรทบทวนว่า สามารถจะส่งเสริมยานยนต์ที่ก่อมลพิษน้อยลง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็นที่แพร่หลายแทนรูปแบบเดิมได้อย่างไร ซึ่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุด ราคาถูกที่สุด ได้มุ่งเป้ามาผลิตและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างคึกคัก ยานยนต์แบบเก่าจะขาดทุนทุกช่วงในห่วงโซ่ ล้าสมัย และถูกโละออกไปในที่สุด ซึ่งการที่รัฐยังยึดติดกับสิ่งเดิมๆ อุ้มสิ่งเดิมๆ จะนำไปสู่ความเสื่อมสุขภาพ ทรัพย์สินเสื่อมราคา และภาระหนี้ที่เพิ่มพูน แถมทุกครั้งก็มีฝุ่น คนกลุ่มนี้ก็ยังถูกกดดันว่ารถเป็นต้นกำเนิดจึงต้องใช้ให้น้อยลงอีกด้วย ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงเลย
- มอเตอร์ไซค์ ในยุคนี้เป็นยุคที่บริการ delivery เฟื่องฟู จึงอาจเป็นไปได้ว่ามลพิษที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์อาจมีมากขึ้น แต่จะไปผลักภาระคนขับมอเตอร์ไซค์กลุ่มนี้ก็ไม่สมควร เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีต้นทุนจำกัด แต่ควรหาวิธีให้เข้าถึงยานยนต์ที่ไม่ก่อเกิดฝุ่น PM 2.5 ในเมื่อรัฐบาลที่ผ่านมาให้สิทธิประโยชน์ในการซื้อรถยนต์ใหม่ แล้วทำไมรัฐจึงไม่ช่วยเหลือผู้มีทุนจำกัดให้เข้าถึงยานยนต์ที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง และผมเชื่อว่าถ้ากระแสฝุ่นมาแรง จะมีการเข้มตรวจสภาพมอเตอร์ไซค์ขนานใหญ่ ซึ่งฝ่ายรัฐก็ทำตามหน้าที่ แต่ในสายตาของคนที่ต้องทำมาหากินก็จะคิดในใจว่า "เอาอีกแล้ว เงินจะกินยังหายาก มาลงที่กูอีกแล้ว"
- โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมฟื้นตัวจากโควิดมาพอสมควรเพราะมีการจัดการป้องกันโควิดได้ดี ช่วงที่มีฝุ่นนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะตรวจสอบโรงงานกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ซึ่งปีที่แล้วมีประมาณ หกพันโรง ในจำนวนนี้มีโรงงานภาคกลางถึง 3338 โรง และในเดือนพฤษจิกายนที่ผ่านมาได้ขอความร่วมมือให้ลดกำลังการผลิต ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐ จึงไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน จึงน่าจะมีการคิดหาแนวทางที่ได้ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ และลดการเกิด PM 2.5 ได้ ในเมื่อรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แล้วทำไมจะให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้กิจการโรงงานที่มีอยู่แล้วปรับปรุงให้ทันสมัย และลดฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้
- การเผาในภาคเกษตรกรรมและการเผาป่า จากการรายงานข่าวในหลายปีที่ผ่านมามักระบุว่าการเผาเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 ที่สำคัญทั้งในภาคเหนือ และภาคกลาง เกิดผลกระทบทางสุขภาพแก่ชาวบ้านเป็นวงกว้าง มีความรุนแรงถึงขั้นลามไหม้บ้าน ใหม้รถเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แต่การเผาก็ยังดำเนินต่อไปทุกปี มีการจับทุกปี แต่เมื่อเกิดเหตุซ้ำๆ การจะคิดถึงการลงโทษอย่างเดียวก็คงไม่แก้ปัญหา หากจะต้องดูเหตุผลของผู้กระทำ โดยเฉพาะเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะไม่มีใครทำไร่ทำนาโดยไม่คิดถึงเงินที่จะได้ และมีปัญหาอื่นทับซ้อนหรือไม่ เช่น กรณีของไร่อ้อย ผมเคยอ่านรายงานพบว่าการปลูกพืชชนิดนี้ไม่มีกำไรเลย ซ้ำยังขาดทุนหนัก จึงน่าจะมีการพิจารณาทั้งกระบวนการว่าขาดทุนจากสาเหตุใด ผลประโยชน์จากกระบวนการนี้มีผลดีต่อใคร ล้าสมัยแล้วหรือยังจำเป็นอยู่ และความจำเป็นที่ต้องมีอยู่จะต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างไร เรื่องนี้ควรมีการชี้นำที่เหมาะสมและแก้ปัญหาให้ถึงกระเป๋าของเกษตรกร ไม่ใช่ปล่อยให้คาราคาซัง แล้วค่อยนึกถึงตอนที่เกิดฝุ่นควัน
- เป็นลางเกิดอาเพศในบ้านเมือง หรือเป็นการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งหากมีจริงเราไม่อาจควบคุมได้ แต่เราจะต้องลดปัจจัยอื่นเพื่อให้ฝุ่นเบาบางลง
ส่วนสาเหตุเสริม ที่อาจทำให้เกิดความหนาแน่นของ PM 2.5 มากขึ้น
- การหยุดนิ่งของลมและความกดอากาศ กรณีนี้อาจมีผลให้ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่สะสมนานขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยนี้สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้
- ลมพัดฝุ่นที่มีกำเนิดจากประเทศข้างเคียงเข้าสู่ประเทศไทย ข้อนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตมาหลายปี แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน หากมีอยู่จริง รัฐก็ควรบอกกล่าวให้ประชาชนทราบ อย่าได้เกรงใจประเทศเพื่อนบ้าน เพราะรัฐบาลไทยมาจากคนไทย และจะได้แก้ปัญหา หรือเรียกร้องค่าเสียหายตามความเหมาะสม ซึ่งปัจจัยทิศทางลมนี้ก็สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้เช่นกัน
ข้อเสนอต่อรัฐบาล และสภาผู้แทน
- การสะสมของฝุ่น PM 2.5 มาจากสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำนายได้ ก็น่าจะสามารถระบุต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ได้ว่ามีสาเหตุหลักจากอะไร รัฐบาลควรประกาศให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนว่ามีสาเหตุหลักมาจากอะไร ถ้าพูดรวมๆ แสดงว่ารัฐบาลอาจจะ (1) ไม่รู้ (2) รู้แต่ไม่พูดความจริงเพราะเกรงใจคนบางกลุ่ม ซึ่งไม่ว่าทางใดก็ไม่ดีต่อความมั่นใจในรัฐบาลทั้งสิ้น
- อย่ามองคนใช้รถและถนนเป็นปัญหา เพราะไม่มีใครอยากออกมาขับรถยนต์ให้ติดอยู่บนถนนเล่นๆ สนุกๆ คนขับมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากเสี่ยงภัยบนถนนทุกวัน ทุกคนต่างทำมาหากินทั้งสิ้น แม้การลงโทษจะมีความจำเป็น แต่ก็จะย้อนกลับมาขัดขวางเศรษฐกิจ หากไม่มีการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย
- เช่นเดียวกัน การลงโทษบุคคลที่เผาไร่ก็ต้องทำไป แต่การลงโทษเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาให้ยั่งยืนได้ ควรพิจารณาการปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม การตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องเผา และปัญหาของเกษตรกรกลุ่มนั้นมีอะไรบ้าง วงจรเศรษฐกิจมีปัญหาที่ส่วนไหน จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด
- ข่าวเมื่อเร็วๆนี้ระบุว่ากรุงเทพมหานครจะมีเรือโดยสารไฟฟ้าซึ่งไม่ก่อมลพิษแทนเรือชนิดเดิม นับว่าเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่านี้หากเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้รถพลังงานไฟฟ้าเป็นรถรับส่งกันแล้ว และมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลง เช่น สามารถนำแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานได้ รัฐบาลน่าจะให้มหาวิทยาลัยเหล่านี้ ซึ่งสนใจในการวิจัยและพัฒนาอยู่แล้ว พัฒนารถโดยสารสำหรับประเทศไทย งบประมาณที่ใช้ก็จะอยู่กับคนไทย กิจการไทย แทนที่จะรอซื้อรถเก่ามือสองจากต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งก็มีกรณีอื้อฉาว เช่น กรณีรถเมล์ NGV จากมาเลเซีย
- สภามีคณะกรรมการเกี่ยวกับ PM 2.5 โดยตรงอยู่แล้ว ชื่อว่า "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM ๒.๕) อย่างเป็นระบบ" ตั้งมาได้ประมาณ 1 ปี แต่กลับไม่มีข่าวเกี่ยวกับการทำงานหรือความคืบหน้าให้ประชาชนรับทราบมากนัก จากนี้ไปควรจะให้ประชาชนได้เห็นการทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งหากทำงานอย่างจริงจังอยู่แล้วก็ควรจะให้ประชาชนได้รับทราบความคืบหน้าด้วย
#pm25
โฆษณา