16 ธ.ค. 2020 เวลา 11:30 • ธุรกิจ
บริหารอย่างไร ให้คนลาออก น้อยที่สุด
1
ถ้าบริษัทมีอัตราการลาออกของพนักงานสูง
ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ
บริษัทจะเสียเวลาในการหาคน, นายจ้างถูกมองว่าไม่ดี, ทีมจะเสียกำลังใจในการทำงาน
และ ประสิทธิภาพการทำงานอาจจะลดลง เนื่องจากต้องเสียเวลาอบรมพนักงานใหม่อยู่บ่อยครั้ง
1
ดังนั้นการใส่ใจในเรื่องของทรัพยากรคน จึงเป็นเรื่องที่องค์กรควรให้ความสำคัญ ไม่แพ้เรื่องอื่นๆ..
และนี่คือตัวอย่างหลักคิดสำคัญ ที่จะช่วยให้พนักงานลาออกน้อยลง
1.คัดกรองผู้สมัครอย่างละเอียด
การรีบร้อนหาคนเข้ามาทำงาน โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบความเหมาะสมอย่างละเอียด
มักจะส่งผลให้องค์กรได้ผู้สมัครที่มีความสามารถไม่ตรงตามเนื้องาน และวัฒนธรรมขององค์กร
ดังนั้นขั้นตอนการคัดกรองจะต้องออกแบบให้นายจ้างหรือหัวหน้า สามารถเลือกคนได้อย่างถูกต้อง
ตัวอย่างเช่น
- ให้ผู้สมัครทำแบบทดสอบ ที่วัดทักษะการเรียนรู้ หรือทักษะการคิดวิเคราะห์
- ให้ทีมงานที่จะต้องทำงานร่วมกันกับผู้สมัคร มาช่วยกันสัมภาษณ์
- พยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรแก่ผู้สมัครตั้งแต่วันสัมภาษณ์
- ถามคำถามที่ทำให้รู้ว่า ผู้สมัครมีวิธีรับมือกับปัญหาในการทำงานในลักษณะใด
2.สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานรู้สึกสนุก และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน
โดยปกติแล้วพนักงานมักจะต้องเผชิญกับความเครียดจากลูกค้าหรือจากการทำงานบ่อยครั้ง
ดังนั้นองค์กรควรต้องวางกลยุทธ์ ที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกไม่เคร่งเครียดจนเกินไป
ตัวอย่างเช่น
- อาจมีงานสังสรรค์เป็นระยะ หรือวันเกิดพนักงานก็มีการมอบของขวัญ
- ชื่นชมพนักงานเมื่อทำงานได้ดี
- ควรมีจำนวนพนักงานเพียงพอสำหรับการทำงานทดแทนกันในแต่ละตำแหน่ง ในกรณีที่มีพนักงานลาป่วยหรือลากิจ เพราะถ้างานมารบกวนเวลาชีวิตของพนักงานมากเกินไป จะยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดและหมดไฟได้ง่าย
3.แสดงให้ทีมงานเห็นว่า เขาจะเติบโตในตำแหน่งได้อย่างไร
การที่พนักงานอยู่ในตำแหน่งเดิมนานเกินไป จะทำให้เขาขาดความกระตือรือร้น เบื่อหน่าย ไปจนถึงอยากลาออก
ดังนั้นองค์กรควรผลักดัน ให้พนักงานอยากพัฒนาตัวเอง หรือมีการจัดอบรมที่น่าสนใจและมีความรู้ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ตัวพนักงานสามารถพัฒนาตนเอง และสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารคนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว
เพราะโครงสร้างองค์กร และเนื้อหางานของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน
ดังนั้นหัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูง ต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ และสังเกตพนักงานของตัวเอง
และอย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
เพราะปัญหาเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างของพนักงาน
ถ้าสะสมนานไป อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ได้
จนสุดท้ายสิ่งที่พวกเขาเลือก อาจเป็นการ “ลาออก” ก็เป็นได้ ..
โฆษณา