18 ธ.ค. 2020 เวลา 04:59 • ไอที & แก็ดเจ็ต
เคสแบบไหน ใช้แล้วเย็น ?
เคสคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่มีผลต่อเรื่องการระบายความร้อนต่ออุปกรณ์ที่อยู่ภายในเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นซีพียู หรือกราฟิกการ์ด หลายครั้งเราพบว่าผู้ที่มีปัญหาเรื่องความร้อนของซีพียูได้มีการเปลี่ยนไปใช้ฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ก็แล้ว หรือบางคนก็ไปติดตั้งชุดระบายความร้อนด้วยน้ำด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องความร้อนของซีพียู ซึ่งเราพบว่าสาเหตุมาจากการเลือกใช้เคสที่ไม่เหมาะสมต่อสเปคเครื่องที่เราใช้งานอยู่นั่นเอง
เมื่อเป็นอย่างนี้เราคงต้องหันมาให้ความสนใจกับเคสที่เราใช้งานกันมากกว่าเดิม ในกรณีที่เป็นเคสจาก Thermaltake เราขอแบ่งออกเป็นสามรูปแบบดังนี้ Tower Case, Cube Case และ Open Frame ส่วนรายละเอียดของเคสแต่ละแบบเป็นอย่างไรมาติดตามกันต่อครับ
Tower Case
Tower Case ก็คือเคสในรูปทรงสูงไม่ว่าจะเป็นเป็น Mini-Tower, Mid-Tower, Full-Tower หรือจะเป็นยักษ์ใหญ่ในระดับ Super Tower ก็จะมีลักษณะเป็นทรงสูง มีการติดตั้งเมนบอร์ดในแนวตั้ง เคสในกลุ่ม Tower นี้ก็อย่างเช่น Level 20 GT RGB Plus, Level 20 GT, View 71 หรือถ้าขนาดกลาง ๆ ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น View 21, A500 TG และถ้าเป็นระดับ Super Tower ก็มี View 91, Tower 900 เป็นต้น
Thermaltake View 91 Tempered Glass RGB Edition Super Tower Chassis
เคสในรูปทรง Tower นั้นถือได้ว่าได้รับความนิยมมากที่สุดในเวลานี้ และถ้าย้อนเวลาไปในช่วงเริ่มต้นเคสแบบ Tower นี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสองประการใหญ่ ๆ คือ (1) แก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ในการจัดวาง เนื่องจากเคสสมัยก่อนที่เรียกกันว่า Desktop Case จะวางเคสในแนวราบใช้พื้นที่บนโต๊ะทำงานค่อนข้างมาก พอเปลี่ยนรูปทรงมาเป็น Tower ก็ใช้พื้นที่ในการจัดวางน้อยลงไม่ว่าจะวางบนโต๊ะหรือวางตั้งกับพื้น (2) แก้ไขปัญหาเรื่องทิศทางการไหลเวียนของอากาศภายในเคส เคสในลักษณะ Tower จะสามารถบังคับทิศทางการเข้าและออกของอากาศได้ง่าย เช่นอากาศเย็นเข้าทางด้านหน้าเคส หรือบางรุ่นก็อาจจะมีจากทางด้านล่างของเคสอีก ส่วนอากาศร้อนที่เกิดจากอุปกรณ์จะถูกระบายออกทางด้านหลัง หรือทางด้านบนของเคส ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการเกิดความร้อนสะสมที่มีอยู่ในเคสแบบ Desktop ได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
สำหรับคนที่ใช้เคสในสไตล์ Tower แล้วมีปัญหาเรื่องความร้อนสะสมทั้งที่ติดตั้งพัดลมทั้งทางด้านหน้า ด้านบน และด้านหลังของเคสเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงลองจัดทิศทางการไหลเวียนของอากาศภายในเคสก็แล้ว ก็ยังระบายความร้อนได้ไม่ดี และมีความร้อนสะสมภายในเคสสูง ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเราเลือกใช้เคสที่มีขนาดเล็กเกินไปนั่นเองครับ งานนี้แก้ไขได้สองอย่างครับคือยอมใช้งานแบบเปิดฝาเคสด้านข้าง หรือขยับไปใช้เคสที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
Cube Case
Cube Case ก็คือเคสที่มีทรงแบบลูกบากศ์ ซึ่งปกติคำว่าลูกบากศ์มักจะหมายถึงรูปทรง 4 เหลี่ยมที่เท่ากันทุกด้าน ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นสำหรับเคสทรง Cube ในยุคแรก ๆ และจะใช้กับเมนบอร์ดขนาดเล็ก ๆ ในกลุ่ม Mini-ITX เท่านั้น เน้นความเรียบง่ายเป็นสเปคแบบไม่แรงมากใช้ทำงานพวกเอกสารทั่วไป หรือนิยมใช้ประกอบเป็นโฮมเธียร์เตอร์พีซีเพื่อดูหนังฟังเพลงเป็นหลัก
Thermaltake Level 20 XT Cube Chassis
ในปัจจุบันเคสในสไตล์ Cube Case จะมีการขยายรูปทรงในแนวลึกเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีพื้นที่มากพอสำหรับติดตั้งเมนบอร์ดได้ในระดับ ATX หรือ E-ATX ก็มี และบางเคสก็ใหญ่โตจนมีพื้นที่หรือปริมาตรภายในเคสพอ ๆ กันหรืออาจจะมากกว่า Super Tower ด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเคสในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ Level 20 XT, Level 20 VT
Open Frame
แบบที่สามเป็นเคสแบบเปิด หรือ Open Frame เช่น เคสในตระกูล Core P ทั้งหลาย เช่น Core P90, Core P3, Core P5 และ Core P7 เป็นต้น ผู้ที่ใช้เคสในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ชื่นชอบชื่นชมความงดงามของอุปกรณ์ ชอบการตกแต่งที่เป็นอิสระไม่ถูกบังคับในขอบเขตหรือพื้นที่จำกัดอย่างเคสในลักษณะของ Tower Case หรือ Cube Case
Thermaltake Core P90 Tempered Glass Edition Mid-Tower Chassis
จุดเด่นที่สำคัญอีกประการของเคสแบบ Open Frame ก็คือเรื่องของการระบายความร้อน เคสในตระกูล Core P ทั้งหลายก็จะมีบานกระจกที่สามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างใช้งานได้ในระดับหนึ่ง และซึ่งบานกระจกนี้ตัวนี้ก็พอจะช่วยสร้างและบังคับทิศทางการไหลเวียนอากาศขึ้นมาได้ดีในระดับหนึ่งไม่เหมือนเคสแบบ Open Frame ที่เปิดโล่ง ๆ แบบไม่มีอะไรมากันไว้เลย เคสแบบ Open Frame นี้จะไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนสะสมในตัวเคส เหมาะสำหรับคนที่ชอบใช้ซีพียูและกราฟิกการ์ดตัวแรง ๆ เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามเคสแบบ Open Frame ก็จะมีปัญหาที่ใหญ่มาก ๆ ก็คือเรื่องของฝุ่น ถ้าใครไม่ได้อยู่ในห้องแอร์ และอยู่ในพื้นที่เปิดโล่งก็อาจจะต้องหมั่นทำความสะอาดกันบ่อย ๆ หน่อย หรือถ้าเลิกใช้งานในแต่ละวันแล้วก็หาผ้ามาคลุมไว้บ้างก็ดี
เคสแบบไหนดี ที่ช่วยกำจัดความร้อนได้ง่าย ?
เคสยุคใหม่มีการแบ่งโซน: สำหรับคนที่ไม่ได้ใช้งานพีซีในห้องแอร์ตลอดเวลา เราแนะนำให้ลองพิจารณาเคสรุ่นใหม่ ๆ ของ Thermatake ที่มีการออกแบบภายในของเคสในลักษณะการแบ่งโซน ซึ่งเคสในลักษณะนี้จะช่วยให้เราจัดการกับความร้อนที่เกิดจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่นเคสในกลุ่ม Level 20 Series ที่มีตั้งแต่เคสในระดับ Full Tower อย่าง Level 20 หรือจะเป็นเคสในสไตล์ Cube Case อย่าง Level 20 XT และ Level 20 VT เป็นต้น
ลองมาดูตัวอย่างรุ่นสูงสุดอย่าง Level 20 กันก่อน
ในตัวอย่างแรกนี้อาจจะดูหรูหราด้วยชุดน้ำ แต่ถ้าเราไม่ได้ใช้ขนาดนั้นก็ยังเลือกใช้เคสในลักษณะนี้ได้ครับ ไม่มีปัญหาอะไร ในกรณีของ Level 20 นี่ชัดมากจะเห็นได้ว่าความร้อนที่เกิดจากซีพียูและกราฟิกการ์ดจะถูกน้ำพาออกมายังห้องที่อยู่ด้านหน้าซึ่งเป็นตำแหน่งที่ติดตั้งหม้อน้ำแยกออกมาต่างหาก ทำให้ความร้อนไม่มีโอกาสย้อนกลับมาสรัางปัญหาให้กับซีพียูและกราฟิกการ์ดได้เลย อย่างไรก็ตาในพื้นที่ติดตั้งกราฟิกการ์ดและเมนบอร์ดก็ยังต้องติดตั้งพัดลมระบายความร้อนไว้อยู่ดีเพราะว่าเมนบอร์ดและอุปกรณ์รอบข้างอื่น ๆ ก็ยังต้องการการไหลเวียนของอากาศเพื่อช่วยระบายความร้อนด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างที่สองยังคงอยู่กับเคสในรูปแบบ Tower ในรุ่น Level 20 GT RGB Plus
เคสนี้อาจจะไม่ได้มีการแยกตัวเคสออกเป็นส่วน ๆ เหมือนกับเคสรุ่นท็อปสุดอย่าง Level 20 แต่ Level 20 GT RGB Plus ก็มีการแบ่งพื้นที่หรือแบ่งโซนการติดตั้งอุปกรณ์ให้เรามาค่อนข้างชัดเจนเช่นกัน และมีพื้นที่ภายในเคสที่ค่อนข้างจะกว้างทำให้เราสามารถจัดการกับการไหลเวียนของอากาศได้ง่ายขึ้น อีกทั้งทางด้านหน้าเคสก็ยังมีพัดลมขนาด 20 เซนติเมตร มาให้ถึงสองตัว และขนาด 14 เซนติเมตรมาให้อีกหนึ่งตัวทางด้านหลัง ซึ่งเฉพาะการติดตั้งพัดลมมาให้ระดับนี้ก็สามารถที่จะรองรับกับฮาร์ดแวร์สเปคสูงและสร้างความร้อนสูงได้แล้ว และทางด้านบนของเคสก็มีพื้นที่มากพอสำหรบัติดตั้งพัดลมขนาด 20 เซนติเมตร เพิ่มได้อีกสองตัว แบบนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนสะสมภายในเคสเลย
ตัวอย่างที่สามกับเคสแบบ Cube Case ในรุ่น Level 20 XT
ในตัวอย่างของ Cuce Case อย่าง Level 20 XT นี้ก็จะมีการแบ่งออกเป็นสองโซนใหญ่ ๆ คือพื้นที่สำหรับติดตั้งเมนบอร์ดและกราฟิกการ์ดซึ่งจะดูทางด้านบน และทางด้านล่างก็จะเป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งภาวเวอร์ซัพพลาย รวมถึงฮาร์ดดิสก์ หรือจะใช้สำหรับติดตั้งหม้อน้ำของชุดระบายความร้อนขนาดใหญ่ก็ได้ แม้ว่า Cube Case นี้จะไม่ได้แบ่งโซนได้มากเหมือนกับ Tower Case แต่ก็มีพื้นที่และดีไซน์ที่ค่อนข้างดีที่จะช่วยลดปัญหาความร้อนสะสมได้เช่นกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้ติดตั้งชุดระบายความร้อนด้วยน้ำก็ตาม ทางด้านหน้าเคสติดตั้งพัดลมมาให้สองตัว ด้านหลังหนึ่งตัวเป็นมาตรฐาน ส่วนจะได้พัดลมขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเคสว่าเล็กหรือใหญ่ แต่ว่าทรงของ Cube Case ก็จะให้มาประมาณนี้ โดยทางด้านบนของเคสก็จะเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่ช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างอีก เพียงแต่ติดพัดลมเพิ่มเข้าไป เพื่อนำอากาศร้อนออกทางด้านบนของเคสเพิ่มเติมได้อีก ซึ่งการออกแบบและวางอุปกรณ์ลักษณะนี้พัดลมที่อยู่ทางด้านบนก็จะช่วยระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี ตัดปัญหาเรื่องความร้อนสะสมภายในเคสไปได้เลย
Thermaltake Core P3
แต่ถ้าใครคิดอะไรไม่ออกและอยากจะได้เคสที่ขจัดทุกปัญหาเรื่องความร้อนสะสมก็ขอแนะนำเคสแนว Open Frame ไปเลยครับ จบทุกปัญหาเรื่องความร้อนสะสมภายในอย่างแน่นอน แม้แต่เคสรุ่นเล็ก ๆ อย่าง Core P3 ก็สามารถที่จะติดตั้งกราฟิกการ์ดประสิทธิภาพสูง ๆ ได้อย่างสบาย เพราะความเปิดโล่งของเคสในเกือบจะทุกท้าน ทำให้ความร้อนจากตัวกราฟิกการ์ดระบายออกมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อยากที่บอกครับว่าเคสแนว Open Frame ก็จะมีอยู่ปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องฝุ่นที่ผู้ใช้อาจจะต้องดูแลรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ
ส่งท้าย
เราอาจจะระบุเฉพาะเจาะจงในการเลือกรุ่นเคสตรง ๆ ให้กับคุณผู้อ่านไม่ได้ แต่เราก็คิดว่าสิ่งที่เราได้บอกเล่ามาในวันนี้ก็น่าจะพอใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้เคสตัวต่อไปได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นครับ และที่สำคัญน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความร้อนของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเคสได้อีกด้วย
โฆษณา