ถ้าเลี้ยงปลานิลไม่แปลงเพศ...จะเป็นอย่างไร ??
.
ช่วงที่น้ำท่วม บ่อปลาเราโดนน้ำท่วมไปบ่อนึงและเราได้ทิ้งบ่อไว้เป็นเดือน พอน้ำลดเราจึงสูบน้ำออก ปรากฏว่ามีปลาจากธรรมชาติมาอยู่ในบ่อเยอะแยะ
.
หนึ่งในนั้นมีลูกปลานิลขนาดฝ่ามือจำนวนหนึ่ง จะนำไปขายก็ไม่ใช่ปลานิลแปลงเพศ แม้จะเป็นที่ต้องการของลูกค้าที่นำไปปล่อยให้ออกลูกตามธรรมชาติ
.
แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่ การแพ็คใส่ถุงทำได้ยาก ใส่ได้จำนวนน้อย และที่สำคัญครีบที่แหลมคมจะแทงถุงขาด
.
ด้วยความเสียดายเลยนำไปปล่อยไว้ในบ่อ เลี้ยงไว้เล่น ๆ ให้ใหญ่และอ้วนพอที่จะขายได้ เพราะคิดว่าหาตลาดปลาไซส์เล็กได้
.
แต่ปรากฏว่าให้อาหารไป ๆ ค่าอาหารกลับไม่ใช่เล่น ๆ แล้ว ปลาก็ไม่ค่อยใหญ่เท่าที่ควร เพราะเป็นปลาตามธรรมชาติซึ่งมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย ทำให้ปลาผสมพันธุ์กันและออกลูกมามากมาย
.
ตัวผู้ก็ไม่ใหญ่มาก ตัวเมียยิ่งตัวไม่ค่อยใหญ่ และอาหารที่โยนไปส่วนหนึ่งที่กินก็คือ ลูกปลา
.
และปลานิลเป็นปลาน้ำตื้น ช่วงฤดูวางไข่ ตัวเมียจะหาที่ตื้น ๆ ในการวางไข่ ซึ่งบ่อเราน้ำลึกจึงทำให้มันขุดคุ้ยดินเพื่อวางไข่และทำให้ขอบบ่อเซาะลงไป
.
การมีลูกปลาในบ่อเยอะ ๆ ก็ทำให้ปลาแน่นบ่อขึ้น เท่ากับเป็นการแย่งอากาศ เสี่ยงที่ปลาจะขาดอากาศได้ง่ายอีกด้วย
.
จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงปลานิลไม่แปลงเพศในเชิงพาณิชย์จึงอาจขาดทุนได้ แต่เหมาะกับผู้ที่ต้องการเลี้ยงแบบธรรมชาติในบ่อตื้น ๆ ปล่อยให้ปลาออกลูกไปเรื่อย ๆ
.
เพราะฉะนั้นทางฟาร์มเพาะลูกพันธุ์ปลาจึงต้องมีการแปลงเพศให้เป็นปลาเพศผู้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อปลาเป็นเพศผู้จะมีข้อดี คือ
📍โครงสร้างของปลานิลเพศผู้จะตัวใหญ่กว่าเพศเมีย เลี้ยงแล้วได้น้ำหนัก
เมื่อเพศเมียออกไข่แล้วจะหยุดการเจริญเติบโต จึงทำให้ขนาดและน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร
📍เมื่อไม่มีตัวเมียก็จะไม่มีการผสมพันธุ์ อาหารที่กินเข้าไปจึงถูกนำไปใช้ในการสร้างกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่
ในขณะที่ปลานิลธรรมดา ถ้าในช่วงผสมพันธุ์ การเจริญเติบโตจะลดลง เนื่องจากอาหารที่กินเข้าไปจะถูกนำไปสร้างน้ำเชื้อสำหรับตัวผู้ และตัวเมียจะถูกนำไปสร้างไข่ ทำให้ปลาแคระแกร็น
📍ปลาไม่ออกลูกมาแย่งอาหารและอากาศ
📍ปลาไม่ขุดคุ้ยบ่อเพื่อหาที่วางไข่
📍เมื่อปลาโตไวก็ทำให้ระยะเวลาในการเลี้ยงแต่ละรอบสั้นลง
.
ส่วนปลาที่เราเลี้ยงไปเพราะความเสียดายก็ถือเป็นการทดลองแทนลูกค้า จะได้มีประสบการณ์ตรงมาแนะนำลูกค้าได้ค่ะ 😃😁
.
ขอบคุณทุกคนที่แวะมาให้กำลังใจกันนะคะ ❤️