20 ธ.ค. 2020 เวลา 12:59 • ปรัชญา
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า การที่คนสองคนจะเป็นคู่รักกันจะต้องมีธรรมะในการเลือกคู่ ในการครองคู่ ถ้าเรามีธรรมะในการเลือกคู่ ธรรมะในการครองคู่ก็จะทำให้เราสามารถครองรักครองเรือนอย่างประสบความสำเร็จได้ จนกระทั่งถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร เหมือนดั่งคำที่คนโบราณได้กล่าวไว้ ในส่วนของธรรมะในการเลือกคนรักหรือคู่รักที่เหมาะสมนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้อีกเช่นกัน สิ่งนี้เรียกว่า ส ม ชี วิ ธ ร ร ม ๔
ผ ม เ ลื อ ก คุ ณ
สมชีวิธรรม ๔ ก็คือ ธรรมที่จะทำให้มีความเสมอกันในการดำรงชีวิตคู่ ซึ่งประกอบด้วยหลัก ๔ ประการ คือ
๑. มีความเชื่อเสมอกัน (สมสัทธา)
๒. มีความดีเสมอกัน (สมสีลา)
๓. มีความเสียสละเสมอกัน (สมจาคา)
๔. มีปัญญาเสมอกัน (สมปัญญา)
1
ชายหนุ่มหญิงสาวที่มีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ เสมอหรือใกล้เคียงกันก็มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นคู่รักที่ประสบความสำเร็จร่วมกันในการครองเรือนครองรัก และร่วมสร้างครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุขได้ในอนาคต
โดยรายละเอียดของสมชีวิธรรม ๔ ประกอบไปด้วย
๑. มีความเชื่อเสมอกัน (สมสัทธา) ก็คือ มีระบบความเชื่อ ความยึดถือ ความศรัทธาที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันที่เสมอหรือใกล้เคียงกัน เช่น ศรัทธาในศาสนาเดียวกัน ศรัทธาในลัทธินิกายเดียวกัน ศรัทธาในพรรคการเมืองเดียวกัน ศรัทธาในระบบเหตุผลเดียวกัน ตลอดจนถึงศรัทธาในวิถีชีวิตแบบเดียวกัน
คำว่า สมสัทธา ถ้ากล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ การเป็นคนคอเดียวกันนั่นเอง ถ้าเราเป็นคนคอเดียวกันแล้วก็จะทำให้พูดจาภาษาเดียวกัน และเข้าอกเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี
หากสังเกตดูจะพบว่าคู่รักที่รักกันอย่างยั่งยืนมากจะเป็นคู่รักที่มีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อมีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกันก็สามารถเป็นคนรักของกันและกันได้อย่างยาวนาน ในทางตรงกันข้าม ถ้าทัศนคติไปด้วยกันไม่ได้ นั่นก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้คู่รักต้องเลิกร้างห่างเหินกันไป ด้วยเหตุนี้ เวลาเราได้ยินใครก็ตามที่ต้องยุติความสัมพันธ์ต่อกัน เขาเหล่านั้นจึงมักกล่าวประโยคที่ว่า
" เ ร า ไ ป ด้ ว ย กั น ไ ม่ ไ ด้ "
คำว่า "เราไปด้วยกันไม่ได้" ก็คือ ทัศนคติ ศรัทธาหรือความเชื่อไม่เสมอกันนั่นเอง และหากเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราควรจะใช้หลักอะไรเพื่อเป็นเกณฑ์วัดว่าเราทั้งสองมีความเชื่อ และความศรัทธาที่เสมอกันหรือไม่ ทางพุทธศาสนาท่านก็ได้วางแนวทางไว้เพื่อพิจารณาในเรื่องของความศรัทธาที่เสมอกันทั้ง ๔ ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
(๑) เชื่อมั่นในการกระทำ (กัมมสัทธา) กล่าวคือ เชื่อมั่นว่าชีวิตของเรานั้นจะดีขึ้นหรือจะเลวลงเป็นเพราะผลจากการกระทำของตัวเราเอง ไม่ได้เป็นเพราะการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่ได้เป็นเพราะกรรมเก่านำพาแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ได้เป็นเพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย แต่ชีวิตเราจะเป็นไปอย่างไรนั้นก็เป็นเพราะว่าเราเป็นผู้ลงมือกระทำเหตุ นั่นคือ ตัวของเราเป็นผู้กระทำสิ่งนั้นด้วยตัวของเราเอง ฉะนั้น ชีวิตของเรานี้จึงกล่าวได้ว่า เป็นผลผลิตของการสร้างเหตุ เมื่อเราสร้างเหตุดีชีวิตก็ดี ถ้าสร้างเหตุไม่ดีชีวิตก็ไม่ดี
(๒) เชื่อมั่นในผลของการกระทำ (วิปากสัทธา) กล่าวคือ ขอให้เราเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำเอาไว้ ย่อมส่งผลต่อชีวิตของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอไป เมื่อเราเชื่อมั่นในผลของการกระทำก็จะทำให้เราเรียนรู้ที่จะสร้างแต่เหตุที่ดี เพื่อที่จะรับในผลที่ดี กล่าวอย่างง่ายที่สุดว่าสร้างเหตุที่ดีเพื่อจะรอรับผลที่ดี แล้วก็หลีกหนีเหตุที่ไม่ดีเพื่อที่จะไม่ต้องรอรับกับผลที่ไม่ดี
(๓) เชื่อมั่นว่าเรามีกรรมเป็นของตน แล้วเราเองจะเป็นทายาทผู้รับผลแห่งกรรมนั้น (กัมมัสสกตาสัทธา) กล่าวคือ ความศรัทธาหรือความเชื่อที่ว่าเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีกรรมเป็นสมบัติของตนเอง เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม เรานั่นเอง จะเป็นทายาทผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ความเชื่อมั่นที่ว่าเราจะเป็นทายาทผู้รับผลแห่งกรรมที่กระทำไว้นั่นเอง จะทำให้เรารับผิดชอบต่อผลของการกระทำของเรา และจะทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ นั่นคือ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำอะไรก็ตาม เราจะทำแต่พฤติกรรมเชิงคุณภาพ จะไม่ทำอะไรในลักษณะที่ขาดความรับผิดชอบอีกต่อไป
(๔) เชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) กล่าวคือ เชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ในพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ และนำมาสั่งสอน กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือ เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุสัจธรรมได้ เฉกเช่นเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้บรรลุ เมื่อเราเชื่อมั่นเช่นนี้ เราก็จะหันกลับมาหยัดยืนด้วยขาของเราเอง ด้วยการสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตของเราให้ดีงาม ให้ล้ำเลิศยิ่ง ๆ ขึ้นไป
คนที่เป็นคู่รักกันถ้ามีศรัทธาในกรรม ศรัทธาในผลของกรรม ศรัทธาในภาวะที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน และศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงศรัทธาในศักยภาพของตนเองแล้วก็จะทำให้เราสามารถหยัดยืนในการสร้างเนื้อสร้างตัวหรือสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และเมื่อเรามีศรัทธาที่เสมอกัน จะทำให้เรามีความคิดความเห็นที่ลงรอยกัน พูดจาภาษาเดียวกัน นั่นจะทำให้เมื่อเราทำอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็จะง่ายดายขึ้น เนื่องจากเรากำลังดำเนินชีวิตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เสมือนหนึ่งว่าถ้าเรามุ่งที่จะเดินทางไปในมหาสมุทร แล้วเราตั้งเข็มทิศไว้อย่างชัดเจนว่าเราจะเดินทางไปทางทิศตะวันออก ต่อให้มหาสมุทรนั้นจะกว้างใหญ่ไพศาลสักเพียงไหนก็ตาม เรือของเราก็จะไม่ลงทิศผิดทาง เพราะฉะนั้นการที่เรามีศรัทธาที่ชัดเจนหรือมีศรัทธาที่เสมอกัน จึงเปรียบได้กับกัปตันที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการเดินเรือในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าศรัทธานั้นจะทำหน้าที่กำหนดเป้าหมายในการเดินทางชีวิตของเรา ฉะนั้น ถ้าเรามีศรัทธาที่เสมอกัน การเดินทางในเส้นทางแห่งชีวิตคู่ของเรานั้นก็จะเป็นการเดินทางที่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่หลงทาง และไม่เสียเวลาไปในเรื่องที่ไร้สาระแก่นสาร
๒. มีความดีเสมอกัน (สมสีลา) ก็คือ มีศีลเสมอกัน มีความประพฤติเสมอกัน เช่น ถ้าสามีเป็นผู้ที่มีศีล ๕ และภรรยาเองก็มีศีล ๕ เช่นกัน ก็จะทำให้เคารพในคุณค่าของกันและกัน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าสามีเป็นผู้ที่ไม่มีศีล ๕ แต่บังเอิญภรรยาเป็นผู้ที่มีศีล ๕ ภรรยาก็จะให้ความเคารพสามีได้ไม่เต็มที่นัก แล้วฝ่ายสามีเองก็จะรู้สึกได้ว่าตนเองด้อยกว่าภรรยาในแง่ของความประพฤติ นั่นอาจเป็นเหตุให้เกิดการดูหมิ่นถิ่นแคลนซึ่งกันและกัน ถ้าศีลไม่เสมอกันแล้วก็จะทำให้ความเคารพซึ่งกันและกันเป็นไปได้ยากหรือทำให้การเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันมีน้อยลง เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ไม่เคารพในคุณค่า และศักดิ์ศรีของกันและกัน เวลาจะคิด จะพูดหรือจะทำอะไรก็ตามก็จะไม่ยำเกรงกัน เมื่อไม่ยำเกรงกันก็เป็นเหตุให้เกิดความร้าวฉานในการครองเรือนครองรักกันอย่างง่ายดายนั่นเอง
หากสังเกตดูจะพบว่ามีคู่รักเป็นจำนวนมากที่มีศีลไม่เสมอกัน เช่น สามีชอบเที่ยวกลางคืน แต่ภรรยาชอบอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เมื่อผ่านห้วงเวลาไปสักระยะ ทั้งคู่ก็มักจะไปด้วยกันไม่ได้ บางครั้งสามีชอบออกงานสังคม แต่ภรรยานั้นรักสันโดษ ชอบเก็บตัวเงียบ ๆ อยู่ภายในบ้าน สักระยะหนึ่งทั้งคู่ก็จะต้องเลิกร้างห่างเหินกันไป
เพราะฉะนั้น คำว่า ศีลเสมอกัน ถ้าจะนิยามให้กว้างขวางกว่านั้นก็คือ การมีรสนิยมในการดำเนินชีวิตที่เสมอกันนั่นเอง
๓. มีความเสียสละเสมอกัน (สมจาคา) คำว่า " เ สี ย ส ล ะ เ ส ม อ กั น " ในที่นี้หมายความว่า เราจะต้องเสียสละกิเลสส่วนตัวของเราทิ้งไปหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเราจะต้องทิ้งอัตตาของเรา อย่าถือเธอถือฉัน ให้ทิ้งความเป็นเธอความเป็นฉันแล้วหลอมรวมกันเป็นเรา หากเราสามารถละทิ้งอัตตาของแต่ละฝ่ายไปได้ ทิ้งความเป็นเธอทิ้งความเป็นฉันไปได้ แล้วรวมกันเป็น " เ ร า " ได้เมื่อไร เมื่อนั้นเราก็จะก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ถือตนเองเป็นใหญ่ก็จะเกิดความถ้อยทีถ้อยอาศัย เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และนั่นก็จะทำให้คนทั้งคู่สามารถประคับประคองความรักของกันและกันได้อย่างยืนยาว
๔. มีปัญญาเสมอกัน (สมปัญญา) หมายความว่ามีขีดความสามารถในการใช้ปัญญา ขีดความสามารถในการใช้เหตุผลเสมอกัน เมื่อเรามีระดับสติปัญญาเสมอกันหรือใกล้เคียงกันนั้น เวลาที่เราคุยกัน เวลาที่เราวางแผนทำอะไรร่วมกันหรือเวลาที่เราวางโครงการว่าเราจะแต่งงานกันหรือเราจะสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้ร่วมกัน ก็จะทำให้พูดจากันรู้เรื่องในลักษณะที่ว่าพูดจาภาษาเดียวกัน และพอพูดจาภาษาเดียวกัน อยู่ในระดับชั้นทางปัญญาใกล้เคียงกันก็จะมีความคิดความเห็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ แต่ถ้าสามีเป็นคนที่ฉลาดมาก แต่ภรรยาเป็นคนที่ตามความคิดของสามีไม่ทัน สักระยะหนึ่ง คนทั้งคู่ก็จะเกิดอาการ
"น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ"
ซึ่งจะนำไปสู่ " ก า ร แ ย ก ท า ง " กันในที่สุด แต่ถ้าสามีและภรรยาเป็นคนที่มีความคิดความอ่านอยู่ในระดับเดียวกัน ทั้งคู่ก็จะพูดคุยกันรู้เรื่อง สามีคิดภรรยาก็สนับสนุน ภรรยาคิดสามีก็สนับสนุน ก็จะกลายเป็นคู่ที่เติมเต็มซึ่งกันและกันอย่างถึงที่สุด แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งคิด ฝ่ายหนึ่งตามไม่ทัน ในที่สุดก็จะกลายเป็นว่าคนหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่งกำลังก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นลูกตุ้มถ่วงอยู่ข้างหลัง กรณีเช่นนี้ก็จะทำให้การครองรักนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ฉะนั้น ถ้าคนทั้งคู่มีปัญญาเสมอกันแล้ว คิดก็คิดใกล้เคียงกัน พูดก็พูดใกล้เคียงกัน ทำก็ทำใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นไปได้โดยง่าย อุปสรรคต่าง ๆ ก็จะได้รับการแก้ไขโดยไม่ยากเย็นนัก
• • • • •
ว.วชิรเมธี
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "มหัศจรรย์แห่งรัก" | Love Analysis
โฆษณา