21 ธ.ค. 2020 เวลา 06:38 • การศึกษา
“วิเคราะห์เจาะลึกกับคดีสมคิด..ในเชิงอาชญาวิทยา” repost
คุณสมคิด.. เคยถูกจับข้อหาฆ่าคนตายด้วยการรัดคอหรือกดน้ำ ภายในเวลาราวเกือบ 6 เดือน รวม 5 คดี..
เหตุเกิดในโรงแรมและหอพัก ในหลายจังหวัด.. เหยื่อทั้งหมดเป็นนักร้อง หมอนวดแผนโบราณที่เขาไปใช้บริการ..
เมื่อสมคิดถูกจับดำเนินคดี เขาให้การรับสารภาพ ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต..
บางคนเรียกลักษณะการทำผิดซ้ำๆของสมคิดแบบนี้ว่า ..
“ฆาตรกรต่อเนื่อง (serial killer)..”
สมคิด ถูกขังในเรือนจำเป็นเวลา 14 ปี .. เขาทำตัวดี ไม่ก่อปัญหา.. จึงก็ได้รับการลดหย่อนโทษ และอภัยโทษ..
จนกระทั่ง กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา..
เมื่อ 2 วันก่อน มีเหยื่อถูกฆ่าตาย ตำรวจสงสัยว่า สมคิด เป็นคนร้ายในคดีนี้..และอยู่ระหว่างตามหาตัวมาดำเนินคดี..
สมัยผมเรียนอาชญาวิทยา.. เพื่อนร่วมห้องได้นำคดีสมคิดมาศึกษาเป็นคดีตัวอย่าง..
เลยเห็นว่า การวิเคราะห์คดีสมคิด ในแง่อาชญาวิทยา น่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมไทยบ้าง ..
#อาชญาวิทยาคืออะไร..
อาชญาวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาสาเหตุของการกระทำความผิดและอธิบายพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด..
เพื่อนำสิ่งที่วิเคราะห์ได้มาเป็นแนวทางในการลงโทษ แก้ไขผู้กระทำผิด และป้องกันอาชญากรรม..
อาชญาวิทยา เป็นองค์ความรู้ที่ได้จากแนวคิดของปราชญ์และงานวิจัยมากมาย..
เราแบ่งกลุ่มแนวคิดและผลงานวิจัยที่อธิบายสาเหตุการกระทำผิดออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่..
1) สาเหตุที่กระทำผิด เนื่องจาก ผู้กระทำความผิด คิดชั่งน้ำหนักไตร่ตรองข้อดีข้อเสียแล้ว..
เขาเห็นว่า การกระทำผิดจะได้ประโยชน์มากกว่าเสีย.. จึงตัดสินใจเลือกที่จะทำผิด.. นั่นคือ ตัวเขาเลือกที่จะทำผิดเอง..
เรียกว่า “กลุ่มทฤษฎี Classical”..
แนวทางแก้ไขผู้กระทำผิดกลุ่มนี้ คือ รัฐต้องสร้างเงื่อนไขด้านต่างๆ จนทำให้เขาคิดว่า การกระทำผิดมีข้อเสียมากกว่าได้..
 
เช่น การปรับสภาพแวดล้อมให้ไม่เอื้อต่ออาชญากรรม.. ติดตั้ง cctv .. ติดตั้งไฟส่องสว่างในที่เปลี่ยว..หรือการเน้นการป้องปราม.. มีสายตรวจ.. ฝากบ้านไว้กับตำรวจ.. ตั้งด่าน..
และพยายามจับกุมผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมดโดยเร็ว. เป็นต้น..
งานวิจัยในต่างประเทศ ชี้ว่า คนร้ายกลัวถูกจับ มากกว่ากลัวโทษหนัก..
2) สาเหตุที่กระทำผิด ในบางกรณี เกิดจากความผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจ ที่ทำให้ไม่สามารถไตร่ตรองข้อดีข้อเสียของการกระทำผิดได้เหมือนคนปกติทั่วไป..
นั้นคือ ทำผิด เพราะกายจิตผิดปกติ มีอำนาจครอบงำความคิดและการตัดสินใจให้ลงมือทำผิด..
เรียกว่า “กลุ่มทฤษฎี Positive”..
เช่น คนติดยาเสพติด หรือจิตผิดปกติ เป็นต้น
3) สาเหตุที่กระทำผิด เพราะเขาถูกแรงกดดันของสังคมที่เปลี่ยนแปลงหรือมีทัศนคติตีตราเขา.. กล่าวคือ สังคมทำให้เขาทำผิด..
เรียกว่า “กลุ่มทฤษฎี Sociological”..
เช่น สังคมเกิดการแข่งขัน เน้นเอาตัวรอดและผลประโยชน์ มีทัศนคติแง่ลบและไม่ให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิด เป็นต้น
#ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์..
สมคิดเป็นคนที่ขาดการขัดเกลาทางสังคม (socializing) เพราะเขาออกจากบ้านมาใช้ชีวิตภายนอกอยู่คนเดียวมาตั้งแต่เด็ก..
ไม่มีครอบครัวคอยช่วยอบรมสั่งสอน.. เขาต้องต่อสู้ทำงานทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด.. เขาพูดเก่ง ลื่นไหลไปเรื่อย.. ล่าสุดเขาประกอบอาชีพเป็นเซลล์พนักงานขาย.. เดินทางไปเรื่อยๆ..
การโกหก หรือทำผิดเพื่อเลี้ยงชีพ จึงอาจเป็นเรื่องปกติสำหรับเขา..
ทำให้เขาไม่มีความรัก ความผูกพันกับใคร..
การทำผิดในครั้งก่อนๆ ที่เหยื่อเป็นหญิงให้บริการ.. เขามักอ้างว่า เขาใช้บริการเสร็จแล้ว เหยื่อยังเรียกร้องขอเงินเพิ่ม ทำให้เขาไม่พอใจ..
จับเหยื่อกดน้ำในอ่างอาบน้ำหรือรัดคอจนเสียชีวิต..
#ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง..
สมคิด ขาดการอบรมจากพ่อแม่ และโรงเรียน ทำให้เขาไม่ให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมทางสังคมแบบไม่เป็นทางการ (informal social control).. มีเพียงกฎหมาย (formal control) เท่านั้น ที่จะควบคุมเขาได้...
ต่างจากคนทั่วไป ที่มักได้รับการควบคุมจากการสั่งสอนอบรมจากครอบครัว และโรงเรียน ..
การไม่มีครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อน ทำให้เขาขาดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับคนอื่น.. ขาดความผูกพันทางสังคม.. ตามทฤษฎี Social Bonding ซึ่งอยู่ในกลุ่มทฤษฎี Sociological ..
ทฤษฎี Social Bonding เชื่อว่า คนที่ขาดการขัดเกลาทางสังคม .. ไม่มีความผูกพันกับคน องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ.. จะมีโอกาสทำผิดมากกว่า คนที่มีความผูกพันทางสังคม..
การให้ความรักความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อนฝูง.. การปลูกฝังให้รักคนอื่น รักสถาบัน.. การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ช่วยเหลือเห็นอกเห็นใจกัน.. ทำให้ลดโอกาสทำผิดลงได้..
การอ้างว่า เหยื่อขอเงินเพิ่ม นอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ ทำให้บันดาลโทสะและลงมือทำผิด.. ยังสอดคล้องกับทฤษฎี Technique of Neutralization ที่อธิบายว่า ผู้กระทำผิด มักจะโยนความผิด ความชั่วร้ายไปให้คนอื่น..
เช่น ทำผิดเพราะพ่อแม่รังแกฉัน.. ทำผิดเพราะสังคมไม่ให้โอกาส.. ทำผิดเพราะเพื่อนชักชวน.. ทำผิดเพราะเหยื่อยั่วยุ.. เป็นต้น
การที่คนทำผิดโยนความชั่วร้ายไปให้คนอื่น.. ไม่โทษตนเองนั้นในเชิงจิตวิทยา ก็ เพื่อสามารถตอบตนเองได้ว่า ตนเองมีเหตุผลในการเลือกทำสิ่งที่ไม่ดี..
ข้อแก้ตัว หรือคำอธิบายของผู้กระทำผิด จึงต้องฟังด้วยความระมัดระวัง..
ทฤษฎีการตกเป็นเหยื่อ (Victimology) งานวิจัยส่วนใหญ่ พบว่า คนร้ายจะเลือกเหยื่อที่อ่อนแอกว่าตน และที่มีโอกาสในการลงมือทำผิด..
ในกรณีสมคิด การลวงหญิงบริการ หรือหมอนวดแผนโบราณ ซึ่งเป็นผู้หญิง ต้องอยู่ด้วยกันสองต่อสอง.. เป็นเวลานาน ในที่ลับตาคน.. ย่อมมีโอกาสที่จะทำได้สำเร็จง่ายกว่า ล่อลวงหญิงอาชีพอื่น..
บุคคลที่ประกอบอาชีพ หรือใช้ชีวิตล่อแหลมต่อการตกเป็นเหยื่อลักษณะนี้ จึงควร ทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีสติ..
#ฆาตรกรต่อเนื่อง.. (Serial Killer)
คือ การฆ่าเหยื่อ หลายราย เป็นเวลาต่อเนื่องกัน.. เหยื่อทุกคนมักมีลักษณะที่เหมือนๆกัน เช่น ผมสีทอง เป็นเด็ก เป็นหญิงบริการ..
อาจมีจำนวน 2-3 ราย ถึง หลายสิบราย..
ใช้เวลา ไม่กี่เดือน จนถึงหลายปีกว่าจะจับได้..
 
กรณี ฆาตรกรต่อเนื่องในต่างประเทศนั้น มักมีสาเหตุมาจากความคิดจิตใจที่ผิดปกติ..
เช่น มีความเชื่อผิดๆ การฆ่าคนเพื่อสังเวยบูชาซาตาน..
มีความคิดผิดปกติ (โรคจิต จิตเภท) เช่น เห็นและเชื่อว่าเหยื่อคือสัตว์ประหลาดจะมาทำลายโลก จึงต้องฆ่าเพื่อป้องกันคนดี..
หรือ หลงผิดไม่รู้การกระทำของตนว่า กำลังฆ่าคนอื่นอยู่..
หรือหลอนได้ยินเสียงสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสั่งให้ทำผิด..
หรืออาจเพราะมีความผิดปกติทางเพศ (sexual deviance) ..
เช่น เป็นซาดิสม์ขั้นรุนแรง..เห็นความตาย เห็นเลือด เห็นความทรมานเจ็บปวดของคนที่ตนพึงพอใจแล้ว ทำให้ตนเองมีความสุขทางเพศ..
ผู้กระทำผิดกลุ่มที่มีความคิดจิตผิดปกตินี้ บางคนทั้งๆที่รู้ตัวว่า เขากำลังฆ่าคนอื่น.. แม้จิตใจลึกๆไม่อยากจะทำแต่เขาก็ไม่สามารถหักห้ามจิตใจและการกระทำของตนเองได้ เนื่องจากความเจ็บป่วยทางจิตนั่นเอง..
เคยได้ยินจิตแพทย์เล่าให้ฟังว่า พวกนี้น่าสงสารมาก ร้องไห้ต่อหน้าหมอที่เข้าใจเขา วิงวอนขอให้หมอช่วย เพราะเขาเองก็รู้สึกผิด และไม่ต้องการทำแบบนี้ แต่เขาห้ามตนเองไม่ได้..
#ข้อควรพิจารณาของศาล..
กฎหมายไทย ยกเว้นโทษให้กับจำเลยที่สติฟั่นเฟือนจนไม่รู้การกระทำของตน..
แต่ถ้าจำเลยรู้ว่าเป็นการทำผิด ก็ต้องรับโทษ.. รู้น้อย รับน้อย.. รู้มาก ก็รับโทษมาก..
ฟังดู กฎหมายก็สมเหตุสมผลดี ในเชิงทฤษฎีที่ว่า.. คนต้องรับโทษทางอาญาเพราะมีความชั่วร้ายในใจ..
คนชั่วน้อย เพราะรู้สึกถึงการกระทำน้อย ก็ควรรับโทษน้อย..ถูกต้อง..
แต่ตามความเป็นจริงนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก ที่จะหยั่งรู้จิตใจของผู้กระทำ ว่า .. เขารู้สำนึกถึงการกระทำผิดหรือรู้ตัวมากน้อยอย่างไรในขณะกระทำผิด..
โดยเฉพาะในกรณีที่ เขาก็รู้ว่านั่นคือการฆ่า แต่ต้องทำเพราะได้ยินเสียงสั่งซึ่งปฎิเสธไม่ได้.. หรือกรณีที่เขามีความผิดปกติทางเพศ..
กรณีเหล่านี้ แม้รู้สำนึกในการกระทำเต็ม 100% .. แต่ในความรู้สึกของผู้ป่วยนั้น เขาไม่มีทางเลือกอื่น เขาต้องทำมีเสียงบังคับ.. หรือมีความอยากฆ่าเพื่อสนองความต้องการที่มีความรุนแรงมากจนไม่สามารถหักห้ามใจตนเองได้..
กรณีแบบนี้ ในต่างประเทศ เคยมีการถกเถียงกันทางวิชาการระหว่าง ศาล กับจิตแพทย์ที่เห็นต่างกันมาแล้ว..
ฝ่ายศาลมองว่า ผู้กระทำยังรู้ตัวปกติ มีเจตนาชั่วร้าย ต้องรับโทษเหมือนคนทั่วไป..
แต่ฝ่ายแพทย์นิติจิตเวช กลับมองว่า กรณีแบบนี้ ถือว่า เขาควบคุมความคิดและการกระทำของตนเองไม่ได้ เนื่องจากป่วย เขาจึงอ้างข้อต่อสู้เรื่อง วิกลจริต insanity ตามกฎหมายเพื่อไม่ต้องรับโทษได้..
ส่วนกรณีสมคิด ข้อเท็จจริงยังไม่พบว่า. มีการศึกษาสาเหตุการทำผิดหรือตรวจสภาพจิตในเชิงลึก เราจึงยังสรุปไม่ได้ว่า เขาผิดปกติทางจิตหรือไม่.. และรูปแบบใด..
#ทางแก้ไข..
นักกฎหมาย มักสนใจแต่ตัวบทกฎหมาย.. ศาลก็ใช้กฎหมาย แบบขาดเครื่องมือในการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในเรื่องสาเหตุของการทำผิด..
กรณีสมคิด น่าจะเป็นคดีตัวอย่างที่ดีที่จะสะท้อนว่า..
ถ้าเราจับคนทำผิดอย่างสมคิดเข้าคุก.. โดยไม่สนใจสาเหตุในเชิงอาชญาวิทยาแล้ว..
ถ้าเขาป่วยเพราะจิตผิดปกติจริง.. ชีวิตอนาคตของเขาคงมีเพียง 2 ทางเลือก..
1) คือ ถูกจับเข้าคุก.. ให้การรับสารภาพ.. ศาลจะลดโทษให้.. เข้าบำบัดฟื้นฟูในเรือนจำ..
พยายามทำตัวให้เป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม.. อดทนเก็บกลั้นความต้องการเอาไว้.. รอเวลา..
เมื่อพ้นโทษออกมา.. ก็ตามหาคนที่ถูกใจ.. เอามาฆ่าเป็นเหยื่อรายต่อไป ..และต่อๆไป..
แบบนี้ สังคมคงรับได้ยาก..
2) คือ ให้ศาลพิพากษาประหารชีวิต.. เพราะเป็นผู้ร้ายโดยสันดาน.. ที่รับสารภาพ ก็เพราะจำนนต่อหลักฐาน.. ไม่เข็ดกลัวหลาบจำ.. ไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูในเรือนจำได้..และเขาเป็นอันตรายต่อสังคม..
เรือนจำก็ไม่ลดโทษให้.. ประหารชีวิตตามคำพิพากษาสถานเดียว..
ถ้าเลือกทางนี้ ญาติเหยื่อคงพอใจ.. และสังคมก็ปลอดภัยด้วย..
ฟังดูน่าจะดีนะ..
แต่การที่เราป้องกันสังคม ด้วยการฆ่าคนป่วยไป 1 คนนั้น.. เป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้วหรือ..
ถ้าเขาป่วยทางจิต เขาจะต่างจากคนร้ายทั่วไปที่สมควรถูกประหารชีวิตมั้ย..
อย่าลืมว่า.. กระบวนการยุติธรรมมีไว้ ลงโทษคนเลวที่มีจิตใจชั่วร้ายจนเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของสังคม..
เราไม่ได้ต้องการลงโทษคนป่วย..
สาเหตุที่ทำผิด ไม่ใช่เพราะเขาเลว.. แต่เพราะเขาป่วย จึงหยุดตนเองไม่ได้..
โอกาสนี้ ผมจึงอยากเห็น กระบวนการยุติธรรมทางอาญาบ้านเราพัฒนา..
1) ควรแก้กฎหมายให้มีโทษทางเลือกที่หลากหลาย ให้ศาลเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจำเลย..
เพราะทุกวันนี้ กฎหมายกำหนดโทษจำคุกและปรับเป็นหลัก..
ปรับคือ ปล่อย.. โทษจริงๆคือจำคุกอย่างเดียว..
จะช่วยกรองคนที่ไม่ควรเข้าคุกได้เยอะ.. แถมเรือนจำยังไม่แน่นอีกด้วย..
2) ในบางคดี ควรมีการตรวจสภาพจิตในเชิงลึกใน และศึกษาสาเหตุการทำผิดเชิงอาชญาวิทยา ทำรายงานเสนอต่อศาล เพื่อประกอบดุลพินิจในการลงโทษ..
คนทำผิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม.. เช่น ความผิดแบบ Mala Prohibita หรือทำเพราะพลาดพลั้ง ..
เช่น คดีทำลาย.. คดีภาษี.. คดีจราจร.. คดีทรัพยากรธรรมชาติ.. คดีทางปกครองต่างๆ..
ไม่ควรใช้โทษจำคุก.. ต้องใช้โทษทางเลือกอื่นๆที่รุนแรงเพียงพอให้เข็ดหลาบ..
คนทำผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคม เช่น ทำร้าย ปล้น ฆ่า ข่มขืน..
การตัดออกจากสังคมเด็ดขาดหรือชั่วคราว อาจจะเหมาะสม..แล้วหาทางปรับทัศนคติ และกำกับดูแลโดยรัฐอย่างต่อเนื่อง..
ส่วนคนทำผิดเพราะเจ็บป่วย.. เช่น เมาสุรา ติดยาเสพติด โรคจิต หรือจิตเภท.. คุกตารางไม่ใช่เหมาะสำหรับเขา..
ต้องเอาไปรักษาครับ.. เมื่อหายแล้ว.. เขาก็จะไม่ทำผิดอีก..
หวังว่า กระบวนการยุติธรรมไทย.. คงปรับตัวในทางที่ดีขึ้นได้.. โดยเฉพาะเรื่องการค้นหาสาเหตุการกระทำความผิด.. จากตัวอย่างคดีของสมคิดนะครับ..
ส่วนคดีใหม่.. ถ้าสมคิดเป็นคนทำ.. ถ้าจับได้แล้ว ศาลจะตัดสินอย่างไร.. ไม่ต้องเป็นห่วงนะครับ..
เพราะไม่ว่า ศาลท่านจะตัดสินอย่างไร..
ผมเชื่อว่า..
“กฎแห่งกรรม.. ยุติธรรมกว่ากระบวนการยุติธรรมเสมอ..”
ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ยุติธรรมนะครับ.. กรุณางดดราม่า..
กระบวนการของเรานั้นดีอยู่แล้ว.. ถ้าคนดี ได้อยู่ในกระบวนการดี.. ผลก็ต้องดีแน่นอนครับ..
ที่เขียนมา เพียงแค่อยากจะบอกว่า..
“เหนือฟ้า ยังมีฟ้า” ..กฎแห่งกรรมค้ำโลกา.. เท่านั้นเองครับ..
สวัสดี..
โฆษณา