21 ธ.ค. 2020 เวลา 13:00 • ความคิดเห็น
ตรวจโควิด-19 ฟรี ใครต้องไปตรวจ และใครมีประวัติเสี่ยง
ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ ‘ฟรี’ ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งใกล้บ้าน
4
สำหรับผู้ที่เข้าเกณฑ์ตรวจโควิด-19 ได้ฟรีในสถานการณ์ตอนนี้ ได้แก่ 1. ผู้ที่ทำงานหรือเดินทางไปตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563 2. ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และ 3. ผู้ที่เดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นจังหวัดอื่นก็ได้
ถ้าเป็น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ นอกจากต้องกักตัวจนครบ 14 วันแล้ว ยังต้องตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 เป็นต้นไป นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย เพราะต้องรอให้ถึงระยะฟักตัวก่อน ส่วน ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ’ อาจยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ แต่ต้องสังเกตอาการ 14 วัน ซึ่งผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งสองกลุ่ม หากมีอาการผิดปกติก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อทันที
2
ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ ‘ฟรี’ ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งใกล้บ้าน เนื่องจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ สปสช. ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยครอบคลุม ‘ทุกสิทธิ์’ การรักษา
3
ซึ่งเกณฑ์ PUI ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ 1. อาการ + 2. ประวัติเสี่ยง
1
1. อาการ ได้แก่ ไข้ (หรือไม่มีไข้ก็ได้) ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก (แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบสามารถตรวจหาเชื้อได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติเสี่ยง)
1
2. ประวัติเสี่ยง ได้แก่
- เดินทางมาจาก หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรคในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
- สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน
- ไปในสถานที่แออัด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า ที่พบผู้ป่วยยืนยัน หรือ
- ทำงานใน SQ/ASQ
1
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ
1. ผู้ที่ทำงานหรือเดินทางไปตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563
2. ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
3. ผู้ที่เดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นจังหวัดอื่นก็ได้
1
สาเหตุที่ต้องมีเกณฑ์ความเสี่ยงร่วมด้วย ก็เพราะอาการทางเดินหายใจเหล่านี้เกิดจากเชื้อโรคได้หลายชนิด หรือในอีกแง่หนึ่ง ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง โอกาสติดเชื้อโควิด-19 ก็จะต่ำมากและน่าจะเป็นเชื้อชนิดอื่น
อีกอย่าง ถึงแม้ประเทศไทยจะมีห้องแล็บที่สามารถตรวจหาเชื้อได้มากขึ้นแล้ว คือกรุงเทพฯ และปริมณฑล 91 แห่ง + ต่างจังหวัด 153 แห่ง แต่การส่งตรวจจำนวนมากจะทำให้ระยะเวลารอผลนานขึ้น เพราะจำนวนตัวอย่างอาจเกินจำนวนที่ห้องแล็บสามารถตรวจได้ในแต่ละรอบ เช่น จากเดิมจะทราบผลภายใน 8 ชั่วโมง ก็อาจนานเป็น 1-2 วัน การควบคุมโรคก็จะช้าตามไปด้วย โดยเฉพาะการติดตามผู้สัมผัส (ถ้าจำเป็นก็ต้องตรวจ แต่จัดลำดับความสำคัญให้ห้องแล็บตรวจตัวอย่างของกลุ่มเสี่ยงสูงจากการสอบสวนโรคก่อน)
2
อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางของกรมควบคุมโรค หากแพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโควิด-19 ก็สามารถใช้ดุลยพินิจในการส่งตรวจหาเชื้อได้ ถึงแม้จะไม่เข้าเกณฑ์ปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถตรวจจับการระบาดได้เร็วขึ้น
1
สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยง แต่ยังไม่มีอาการ ควรปรึกษาหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
โดยถ้าเป็น ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง’ นอกจากต้องกักตัวจนครบ 14 วันแล้ว ยังต้องตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 เป็นต้นไป นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย เพราะต้องรอให้ถึงระยะฟักตัวก่อน ส่วน ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ’ อาจยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ แต่ต้องสังเกตอาการ 14 วัน ซึ่งผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งสองกลุ่ม หากมีอาการผิดปกติก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อทันที
การตรวจหาเชื้ออีกแบบที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ การค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม (Active Case Finding) ในชุมชน เช่น ชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นการตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง โดยไม่จำเป็นว่าจะมีอาการหรือไม่
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขวางแผนค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในชุมชนภายในเขตสุขภาพที่ 5 (8 จังหวัด รวมสมุทรสาคร) ประมาณ 10,000 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-24 ธันวาคม 2563
ซึ่งจะทำให้ทราบขอบเขตการระบาดที่ชัดเจน และในบางจังหวัดก็มีการสุ่มตรวจกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ซื้อวัตถุดิบจากสมุทรสาคร กิจการเลี้ยงปลา/กุ้ง/ประมง พนักงานขับรถสาธารณะหรือขนส่งของที่เกี่ยวข้องกับสมุทรสาคร
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้จะมีข่าวพบผู้ป่วยจำนวนมากหรือพบผู้ป่วยภายในจังหวัดของตนเองจนเกิดความวิตกกังวล แต่ยิ่งค้นพบผู้ป่วยได้ไวเท่าไร ก็ยิ่งควบคุมโรคได้เร็วเท่านั้น จึงถือเป็นข่าวที่สร้างความมั่นใจมากกว่า
1
ขอยืนยันอีกครั้งว่าผู้ป่วยที่มีประวัติเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ฟรี โดยสามารถเข้าไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน โดยแจ้งประวัติเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก เพื่อจะได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง
อย่าลืมสวมหน้ากากตลอดเวลานะครับ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- แนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การเฝ้าระวังโรค และสอบสวน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมควบคุมโรค (4 ธันวาคม 2563)
- แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมการแพทย์ (7 ธันวาคม 2563)
เรื่อง: ชนาธิป ไชยเหล็ก
โฆษณา