Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
23 ธ.ค. 2020 เวลา 02:18 • กีฬา
เกมฟุตบอลเมื่อสิ้นเสียงปืนที่ No Man’s Land
โดย Ploy Honisz
“ลองคิดดูว่า ระหว่างที่คุณกำลังทานไก่งวง ผมกำลังพูดคุยและจับมือกับผู้คนที่พยายามจะฆ่าผมเมื่อไม่กี่ชั่วโมงก่อน” ความตอนหนึ่งจากจดหมายของนายทหารอังกฤษที่เขียนถึงครอบครัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่ามกลางการรบราฆ่าฟันจากตอนเหนือของฝรั่งเศสยาวไปยังถึงสวิตเซอร์แลนด์ สนามเพลาะที่เต็มไปด้วยทหาร และแผ่นดินไม่มีเจ้าของอย่าง No Man’s Land ที่เต็มไปด้วยศพของบรรดาทหารที่เสียชีวิตและเรื่องราวความขัดแย้ง แต่ยังมีตำนานเล่าถึงเกมฟุตบอลที่น่าจดจำ
2
จากวินาทีที่เยอรมนีรุกรานเบลเยียมในเดือนสิงหาคม ปี 1914 นำไปสู่การสู้รบทั่วทั้งทวีปยุโรป แบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนกลายเป็นมหาสงคราม สำหรับทหารในแนวหน้า สนามเพลาะไม่ต่างไปจากนรกในชีวิตจริง ประวัติศาสตร์ระบุว่าเมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคมปี 1914 ทหารทั้งฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเหนื่อยล้าจากการสู้รบ การเห็นเพื่อนถูกฆ่า และรอเวลาว่าเมื่อไรจะถึงคราวของตัวเอง กลายเป็นความอ่อนล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทว่าเมื่อย่างเข้าช่วงสัปดาห์วันคริสต์มาสในปี 1914 สิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะได้เห็นจากสมรภูมิรบก็เกิดขึ้น
ด้วยความที่คุ้นชินกับเสียงปืนมาตลอด ค่ำคืนวันที่ 24 ธันวาคม 1914 เสียงเพลงคริสต์มาสดังมาจากฝั่งเยอรมนีจึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับทหารในฝั่งอังกฤษ พอมองผ่าน No Man’s Land ออกไปก็เห็นแสงไฟจากตะเกียง และแสงเทียนส่องสว่างเป็นรายทางตลอดสนามเพลาะ ตำนานเล่าว่า การสงบศึกวันคริสต์มาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นเริ่มมาจากฝั่งเยอรมนี เพราะเวลาของพวกเขาเร็วกว่าอังกฤษและฝรั่งเศสหนึ่งชั่วโมง แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะการสงบศึกเกิดขึ้นจริง
เสียงทหารเยอรมันตะโกนดังลั่นว่า “ถ้านายไม่ยิง เราก็ไม่ยิง” นี่คือช่วงเวลาที่พวกเขาฝากชะตาชีวิตไว้ในมือมนุษยธรรมของอีกฝ่าย ในวันคริสต์มาส ทหารทั้งสองฝ่ายวางปืน ลุกออกมาจากที่มั่นของตัวเอง พบปะกันที่แผ่นดินไร้เจ้าของ แลกเปลี่ยนของซึ่งกันและกัน จับไม้จับมือ พูดคุย ทำพิธีศพให้เพื่อนทหารที่นอนตายอยู่ในสมรภูมิ ใช้เวลาซ่อมแซมสนามเพลาะโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยิง และหนึ่งเรื่องที่เล่าขานกันต่อๆ มาคือ ทั้งสองฝ่ายเล่นฟุตบอลด้วยกัน
เออร์นี วิลเลียม นายทหารวัย 19 ปี สังกัดหน่วยที่ 6 Battalion Cheshire Regiment ซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับเมือง Ypres ประเทศเบลเยียม เล่าไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี 1983 ว่า “ลูกบอลมาจากไหนก็ไม่รู้ แต่มาจากทางฝั่งตรงข้าม ไม่ได้มาจากฝั่งเราแน่นอน มันเป็นลูกบอลที่ดีเลย พวกเขาบางคนถอดเสื้อโค้ทออกและก็เริ่มเตะบอลกัน ผมว่าคนหลายร้อยเลยนะที่เตะบอล ผมก็ด้วย ผมใช้ได้ทีเดียวในตอนอายุ 19 ปี ทุกคนดูท่าทางสนุก”
2
“มีเยอรมันบางคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ผมไม่คิดว่ามีคนอังกฤษมากนักที่สามรถพูดเยอรมัน ไม่มีผู้ตัดสิน เราไม่ต้องมีผู้ตัดสินสำหรับเกมแบบนี้ มันเหมือนเด็กเล่นบอลกันบนถนน ไม่มีการจำสกอร์ เตะกันสะเปะสปะไปหมด ไม่เหมือนที่เราเห็นทางโทรทัศน์”
ชาร์ลส์ บร็อกแบงค์ นายทหารสังกัดเดียวกันกับ เออร์นี วิลเลียม เล่าเรื่องของฟุตบอลในวันนั้นไว้ในบันทึกส่วนตัวของเขาว่า “เหตุการณ์ที่เหลือเชื่อคือ ฝ่ายเยอรมันตะโกนออกมาว่า ออกมา และดื่มกินกัน แล้วเริ่มปีนขึ้นมาจากสนามเพลาะ หนึ่งในทหารเยอรมันมาอยู่ข้างหน้าเราโดยไม่มีอาวุธ เช่นเดียวกับหนึ่งในทหารของเรา คนเริ่มออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราพบลูกฟุตบอล แน่ล่ะว่าต้องเตะบอลกัน และพวกเราก็แลกเปลี่ยนสิ่งของกัน”
ฝั่งเยอรมนีก็มีบันทึกถึงการเตะฟุตบอลในช่วงสงครามเอาไว้เช่นกัน จากปากคำของ โยฮันน์ นีแมนน์ จากหน่วย Saxon 133rd Regiment “ทหารชาวสกอตติชปรากฏตัวขึ้นพร้อมด้วยลูกฟุตบอลที่มาจากไหนก็ไม่รู้ และไม่กี่นาทีจากนั้น เกมฟุตบอลก็เริ่มขึ้น ฝั่งสกอตใช้หมวกของพวกเขาวางเป็นกรอบประตู พวกเราก็ทำแบบเดียวกัน มันยากมากที่เล่นบนพื้นที่มีน้ำแข็งจับ แต่เราก็ยังเล่นต่อไป เราเล่นกันราวๆ หนึ่งชั่วโมง และไม่มีผู้ตัดสิน มีลูกผ่านบอลสวยๆ หลายลูกที่พลาดไป เหล่านักบอลสมัครเล่น แม้จะเต็มไปด้วยความอ่อนล้า แต่ก็เล่นด้วยความกระตือรือร้น เมื่อผู้บัญชาการของเราทราบเรื่อง พวกเขาก็สั่งให้หยุด จากนั้นเราก็กลับไปที่สนามเพลาะ เกมจบลงโดยที่เราเป็นฝ่ายชนะ”
หนังสือพิมพ์ The Times ฉบับวันที่ 1 มกราคม 1915 ลงข่าวที่ทหารอังกฤษเตะบอลกับฝ่ายเยอรมันและพ่ายแพ้ 2-3 ประตูในช่วงวันคริสต์มาส อย่างไรก็ดีตามคำบอกเล่าที่มีมา และการค้นคว้าจากหลายๆ ฝ่าย ทุกคนระบุไปในแนวทางเดียวกันว่า ฟุตบอลที่เตะวันนั้นเป็นการเล่นสนุกๆ ไม่ได้มีการแข่งขันกันอย่างเอาจริงเอาจัง บางคนยังบอกอีกว่าข่าวเรื่องการเล่นฟุตบอลของทหารนั้นเป็นเพียงเครื่องมือในการเกณฑ์ทหารไปแนวหน้า และเพื่อเรียกขวัญกำลังใจเท่านั้น
1
ในเดือนธันวาคม ปี 2014 ครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์สงบศึกในวันคริสต์มาส มีการเปิดตัวรูปปั้นเพื่อเป็นตัวแทนของเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นรูปของทหารทั้งสองฝ่ายจับมือกัน โดยมีลูกฟุตบอลอยู่ตรงกลาง ชื่อของรูปปั้นเป็นชื่อเพลงของวง The Farm “All Together Now” และรูปปั้นเป็นผลงานของ แอนดี เอ็ดเวิร์ด
.
สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 มีทหารเสียชีวิตราว 9 ล้านคน และพลเรือนล้มตายราว 13 ล้านคน เหตุการณ์สงบศึกวันคริสต์มาส เหล่าทหารที่วางปืนหันมาเตะบอลกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ได้รับรู้ ท่ามกลางความขัดแย้งและความเลวร้ายของสงคราม ยังคงมีด้านที่งดงามของมนุษย์ซ่อนอยู่
1
#WWI #สงครามโลกครั้งที่1 #มหาสงคราม #คริสต์มาส #ChristmasTruce #ผลฟุตบอล #ผลบอล #ฟุตบอล #Football #Soccer #PlayNowThailand #KhelNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand
ฝากติดตาม
https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand
6 บันทึก
23
3
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกร็ดกีฬา
6
23
3
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย