24 ธ.ค. 2020 เวลา 10:46 • การศึกษา
การเจียรไนพลอยให้สมดุลกับน้ำหนัก​ (Carat)​
น้ำหนักของอัญมณีมีหน่วยเป็น “กะรัต” (Carat) โดยน้ำหนัก 1 กะรัต มีค่าเท่ากับ 0.2 กรัม หน่วยกะรัตยังสามารถแบ่งย่อยได้อีกเป็นหน่วย “สตางค์” (Point) หรือที่คนทั่วไปเรียกย่อๆว่า ตังค์ นั่นเองครับ น้ำหนัก 1 กะรัตมีค่าเท่ากับ 100 สตางค์ ยกตัวอย่างเช่น เพชรน้ำหนัก 0.30 กะรัต คือ เพชรน้ำหนัก 30 สตางค์
สรุป คือ.. 1 กะรัต = 100 สตางค์ = 0.2 กรัม
คำว่า Carat ตัวนี้ มีตัวย่อเป็น ct. ซึ่งเป็นคนละคำกับคำว่า Karat ที่เป็นหน่วยของเปอร์เซ็นต์ทองนะครับ ภาษาไทยจะเขียนเหมือนกันเพราะว่าอ่านออกเสียงเหมือนกัน ระวังสับสนนะครับ
อัญมณีส่วนใหญ่จะคิดเป็นราคา “ต่อกะรัต” ครับ ยกตัวอย่างเช่น พลอยทับทิมหนึ่งเม็ดน้ำหนัก 1.52 กะรัต ราคากะรัตละ 15,000 บาท ดังนั้นพลอยเม็ดนี้ราคาทั้งเม็ดเท่ากับ 1.52 x 15,000 = 22,800 บาท
อัญมณีที่มีขนาดใหญ่จะมีความหายากกว่าอัญมณีขนาดเล็ก ทำให้มีราคาต่อกะรัตที่สูงกว่า ทั้งนี้เปรียบเทียบกับอัญมณีชนิดเดียวกันและคุณภาพใกล้เคียงกันนะครับ อย่างไรก็ตาม ยังมีอัญมณีบางชนิดที่ซื้อขายกันเป็นเม็ดหรือเป็นชิ้นตามความพอใจครับ เช่น หยก และ พลอยที่นำมาแกะสลักเป็นชิ้น
รูปร่างและลักษณะการเจียระไน
เพชรและพลอยสามารถเจียระไนได้หลายรูปร่าง ซึ่งแต่ละรูปร่างจะมีส่วนประกอบหลักเหมือนกัน คือ ส่วนบน(Crown) ส่วนล่าง (Pavilion) และขอบระหว่างส่วนบนและส่วนล่าง (Girdle)
ส่วนประกอบของเหลี่ยมด้านบนของพลอย จะประกอบด้วยหน้าเทเบิล (Table) หรือภาษาที่เรียกกันง่ายๆว่า หน้ากระดาน และเหลี่ยมอื่นๆที่อยู่รอบหน้าเทเบิล หากเพชรหรือพลอยมีลักษณะเป็นเหลี่ยมเกสรหรือเหลี่ยมเพชร (Brilliant cut) จะมีเหลี่ยมรูปว่าว (Bezel facet) เหลี่ยมรูปร่างสามเหลี่ยมที่เรียกว่าเหลี่ยมยอด (Star facet) และเหลี่ยมแซมบน (Upper girdle facet) อยู่รอบหน้าเทเบิล ส่วนด้านล่างจะประกอบด้วยเหลี่ยมแซมล่าง (Lower girdle facet) เหลี่ยมแปดล่าง (Pavilion main facet) และเหลี่ยมตรงส่วนปลายก้นที่เรียกว่าคิวเลท (Culet) ครับ
เพชรจะนิยมเจียระไนเป็นเหลี่ยมเกสร (ตามรูปด้านบน) ส่วนพลอยหลายชนิดมักเจียระไนเป็นเหลี่ยมผสม (Mixed cut) คือ มีหน้าพลอยเจียระไนแบบเหลี่ยมเพชร (Brilliant) ส่วนก้นพลอยเจียระไนเป็นชั้นๆ (Step cut)
กว่าพลอยหนึ่งเม็ดจะเจียระไนออกมาได้อย่างสวยสดงดงามนั้น ช่างเจียระไนจะต้องมีความสามารถในการดูก้อนพลอยครับ โดยกำหนดว่าควรเจียด้านไหนเป็นหน้าพลอย ด้านไหนเป็นก้นพลอย ภาษาช่างจะเรียกว่า “การตั้งน้ำ” ดังนั้น ช่างจะต้องพิจารณาว่าด้านไหนมีสีสวยที่สุดเมื่อเจียออกมาเป็นด้านหน้า รวมถึงพิจารณาตำหนิว่าไม่ให้เห็นด้านหน้าชัดเกินไป อีกทั้งยังต้องรักษาน้ำหนักพลอยไว้ให้ได้มากที่สุดอีกด้วย ซึ่งบางครั้งการรักษาน้ำหนักพลอยก็มีผลต่อความสวยงามเช่นกันครับ เช่น หากพลอยก้อนมีลักษณะแบน การเจียระไนตามรูปร่างก้อนเพื่อรักษาน้ำหนัก จะทำให้รูปทรงพลอยแบน มองดูแล้วพลอยมีช่องโหว่ตรงกลาง เห็นเป็นหน้าต่าง (Window) แต่ในกรณีที่เจียระไนก้นพลอยลึกเกินไป จะทำให้พลอยดูมืด เห็นมุมมืดบนหน้าพลอย (Extinction)
อ่านดูแล้ว ดูเหมือนว่าจะมีข้อจำกัดเยอะไหมครับ อยากได้พลอยที่สวยด้วย แล้วก็น้ำหนักเยอะด้วย แต่นั่นเป็นหน้าที่ของช่างเจียระไนครับ ที่ต้องเจียระไนให้ได้พลอยที่สวยที่สุดและรักษาน้ำหนักไว้ให้ได้มากที่สุด
นอกจากการเจียระไนแบบเหลี่ยมแล้ว ยังมีการเจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon) คือมีลักษณะเป็นโดมโค้งมนเหมือนหลังเต่า ส่วนด้านก้นพลอยอาจมีลักษณะแบนหรือโค้งเล็กน้อย พลอยที่นิยมนำมาเจียหลังเบี้ย ได้แก่ พลอยปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น พลอยสตาร์ พลอยตาแมว โอปอล ซึ่งทำให้เห็นปรากฏการณ์ได้ชัดเจน พลอยที่มีลวดลาย เช่น พลอยจำพวกอะเกต (Agate) และพลอยที่มีเนื้อตัน ตำหนิมาก คุณภาพต่ำ ก็มักจะนำมาเจียระไนเป็นหลังเบี้ยเช่นกัน ส่วนการเจียระไนแบบอื่นๆที่สามารถพบได้ เช่น การเจียระไนแบบลูกปัด (Bead) และงานแกะสลักเป็นชิ้นงานต่างๆ (Carving) ครับ
โฆษณา