Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
27 ธ.ค. 2020 เวลา 03:34 • การศึกษา
เวลาเกิดเหตุละเมิดและมีผู้เสียชีวิต หากผู้เสียชีวิตมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว เช่น ลูกมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย
1
ซึ่งกฎหมายกำหนดให้พ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายสามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากคนทำละเมิดได้
เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ว่า หากในขณะที่ลูกถูกทำละเมิดจนเสียชีวิตนั้น พ่อกับแม่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกจึงไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่จะต้องผูกพันให้การอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่
แต่หลังจากที่ลูกเสียชีวิตไปแล้ว พ่อกับแม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน กรณีเช่นนี้จะมีผลทำให้ลูกนอกสมรสกลับกลายเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และจะทำให้พ่อมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากคนทำละเมิด หรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้หรือไม่?
ประเด็นนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ (เป็นการวินิจฉัยคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ) ซึ่งผมได้เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์เป็นข้อ ๆ เพื่อความสะดวกในการอ่าน
1. วันที่ xx เมษายน 2559 รถยนต์คันที่บริษัทประกันภัยได้รับประกันภัยไว้ได้เกิดอุบัติเหตุ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นางสาว ก.
2. ต่อมา วันที่ xx พฤษภาคม 2559 พ่อและแม่ของนางสาว ก. ได้จดทะเบียนสมรสกัน และใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยวิธีระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
3. อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะแก่พ่อและแม่ของนางสาว ก. คนละ 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
4. ต่อมา บริษัทประกันภัยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และให้อนุญาโตตุลาการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหรือยกคำเสนอข้อพิพาทที่ 1
และให้ผู้คัดค้านผู้เสนอข้อพิพาทที่ 1 (พ่อของนางสาว ก.) คืนเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันรับเงินจากผู้ร้องแก่ผู้ร้อง
5. ศาลชั้นต้นยกคำร้อง... ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
6. ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคำร้องว่า...
6.1 ขณะเกิดเหตุละเมิด ผู้ตายเป็นบุตรนอกสมรสของผู้คัดค้าน (พ่อ) ซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับแม่ของผู้ตาย
หลังจากนางสาว ก. ถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านจึงได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ของผู้ตาย เป็นผลให้นางสาว ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านกับแม่ของผู้ตาย
6.2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557 บัญญัติให้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด
ดังนั้น แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ xx เมษายน 2559 ซึ่งขณะนั้นนางสาวก. มีอายุ 21 ปีเศษ และถึงแก่ความตายไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านและแม่ของนางสาว ก. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ xx พฤษภาคม 2559 ย่อมมีผลให้นางสาว ก. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่นางสาว ก. เกิดคือตั้งแต่วันที่ xx มิถุนายน 2537
6.3 นางสาว ก. จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่นับแต่นั้น การทำละเมิดเป็นเหตุให้นางสาว ก. ถึงแก่ความตายย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นพ่อขาดไร้อุปการะ
6.4 ศาลฎีกาเห็นว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
สรุปก็คือ การที่พ่อและแม่ของนางสาว ก. จดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากที่นางสาว ก. เสียชีวิตนั้น มีผลทำให้นางสาว ก. มีสถานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพ่อ และมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่นางสาว ก. เกิด
นางสาว ก. จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อและแม่
เมื่อนางสาว ก. ถึงแก่ความตาย พ่อและแม่ของนางสาว ก. จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะ หรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยได้นั่นเอง
#ครอบครัว #ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร #กฎหมายย่อยง่าย
1
Reference:
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2562
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557, 1563
7 บันทึก
48
5
12
7
48
5
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย