27 ธ.ค. 2020 เวลา 11:02 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
วอน (เธอ), มุมมองความรัก ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว!
เรื่องราวที่ว่าด้วยเรื่องของวัยรุ่น ช่วงหลังมักถูกถ่ายทอดเรื่องราวในแบบซีรีส์มากกว่าภาพยนตร์ เพราะมีเวลาในการเล่าเรื่องได้มากกว่า เลี้ยงกระแสความนิยมและการติดตามจากแฟนคลับได้นานกว่า จนปัจจุบันนั้นมีหลายเรื่องหลายแนวให้เลือกดู นั่นทำให้การมาของหนังไทยส่งท้ายปีเรื่อง วอน (เธอ) หนังที่ว่าด้วยเรื่องความรักในวัยรุ่น ที่ถูกบอกเล่าผ่านหลายมุมมอง จึงมีความน่าสนใจขึ้นมาทันที
ภายใต้นิยามว่า “เพราะความรัก... ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว” ทำให้หนัง วอน (เธอ) ถูกบอกเล่าเรื่องราวผ่าน 4 คน 4 มุมมอง ของกลุ่มเพื่อนนักศึกษา ที่ให้บังเอิญว่า เพื่อน 3 คน แอบหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน
เริ่มจาก เดี่ยว (มีน-พีรวิชญ์) เพื่อนที่แอบปลื้มและพร้อมทำทุกอย่างเพื่อเนเน่ ต่อด้วย โอม (เซ้นต์-ศุภพงษ์) หนุ่มแบดบอยเสน่ห์แรงที่หวังจะกลับใจเมื่อเจอเนเน่ แต่เขาจะทำได้ไหม? จนมาถึง บิว (พีค-ภีมพล) เพราะรู้ว่าเพื่อนแอบชอบเนเน่อยู่ จึงทำให้คิดกับเนเน่ได้แค่เพื่อน และท้ายที่สุดกับ เนเน่ (ฟ้า-ษริกา) สาวสวยดาวคณะที่ใคร ๆ ต่างก็หลงรัก ผู้หญิงที่เป็นจุดศูนย์ของเรื่อง และเป็นบทสรุปของทุกความสัมพันธ์
การเล่าเรื่องเหตุการณ์เดียวผ่านมุมมองของตัวละครที่แตกต่างกัน ความสนุกของวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้อยู่ตรงที่การเล่นกับความแตกต่างผ่านมุมมองของแต่ละตัวละคร เป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่ท้าทายให้คนดูค่อย ๆ ต่อจิกซอว์จากแต่ละเรื่องราว ในตอนท้ายอาจเฉลยให้เห็นเรื่องราวที่ถูกต้องที่สุดหรืออาจไม่ให้เห็นเลยก็ได้ เป็นภาระของคนดูที่ต้องตีความและทำความเข้าใจเอาเอง..
อาจเพราะประเด็นหลักของเรื่องวนเวียนอยู่กับเรื่องราวความรัก ความพยายามเผยความในใจ การพิสูจน์ตัวเอง การไม่ได้ปูพื้นตัวละครให้คนดูรู้จักมากพอ การเล่าเรื่องเฉพาะช่วงที่เกี่ยวข้องกับตัวละครในตอนของตัวเอง ที่ยังไม่ทันไต่กราฟความน่าสนใจและน่าติดตามได้เพียงพอ แต่เหมือนเป็นภาคบังคับ ที่ต้องพาตัวละครไปสู่บทสรุปในตอนของตัวเองให้ได้
ทำให้บางช่วงบางตอน เราอาจไม่สามารถทำความเข้าใจกับการแสดงออกของตัวละคร โดยเฉพาะช่วง 2 ตอนแรกของหนัง เรื่องของเดี่ยวและโอม หนังมาดีขึ้น ช่วง 2 ตอนหลัง กับเรื่องของบิวและเนเน่ ที่องค์ประกอบของเรื่องราวเริ่มเข้าที่เข้าทาง ซึ่ง 2 ตอนหลังนี่เอง ถึงทำให้รู้สึกว่าได้ดูหนังเรื่องนี้จริง ๆ (เสียที)
งานกำกับของ สุโกสินทร์ อัครพัฒน์ ถือว่าน่าสนใจกับการเล่าเรื่องราวจาก 4 มุมมอง มันมีความท้าทายและดูเหมาะกับหนังที่เกี่ยวกับวัยรุ่น แต่ว่าเอาเข้าจริง ๆ รู้สึกว่าบทภาพยนตร์ไม่ได้แข็งแรงพอที่จะใช้วิธีนี้ จนรู้สึกว่าหากเลือกวิธีการเล่าเรื่องในแนวทางปกติ ให้เวลากับการสร้างตัวละครให้คนดูรู้สึกอิน ไปจนถึงรักในตัวละคร (ซึ่งนักแสดงแต่ละคนทำหน้าที่ได้ดีแล้ว) เมื่อพาไปสู่บทสรุป น่าจะทำให้เรื่องราวมีมิติลงตัวมากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนัง วอน (เธอ) โดดเด่นขึ้นมาและเป็นส่วนหนึ่งที่ประคับประคองหนังตลอดเรื่อง ก็คือ องค์ประกอบศิลป์และเพลงประกอบที่นำเสนอออกมาได้ดี ส่งผลต่ออารมณ์ของเรื่อง เป็นเหมือนตัวแทนบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละตัวละคร แม้บางครั้งแอบรู้สึกว่าเหมือนกำลังดูมิวสิควีดีโออยู่ก็ตาม
โดยสรุปแล้ว วอน (เธอ) อาจไม่ใช่หนังที่ดูสนุกหรือลงตัวนักสำหรับทุกคน (จะว่าไปเมื่อดูจากทีมนักแสดงนำ ก็รู้ว่าหนังเลือกจะสื่อสารกับใคร) แต่หนังก็สามารถถ่ายทอดดราม่ามิตรภาพระหว่างเพื่อน-ความรัก ที่วัยรุ่นต้องเผชิญ เรียนรู้ และก้าวผ่านได้ดีพอสมควร
โฆษณา