28 ธ.ค. 2020 เวลา 07:59 • สุขภาพ
การทำวิจัยสุขภาพของตนเอง ep 1
อย่างที่ผมเคยบอกว่าอายุ 40 ปีแล้วสังขารก็เริ่มร่วงโรยเป็นธรรมดาโรคภัยต่างๆก็เริ่มที่จะปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะทุกวันนี้โรคเบาหวานความดันโลหิตสูงนั้นมาไวกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมากบางคนอายุแค่ 30 ก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ผมเองก็เป็นโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุ 40 แต่จริงๆแล้วความดันโลหิตสูงนั้นเป็นแค่อาการแสดงของความผิดปกติของร่างกาย เช่นเราอาจจะมีไขมันเกาะหลอดเลือดมากเกินไป เส้นเลือดที่เข้าออกไตมีภาวะตีบ หรือความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดก็จะส่งผลให้มีการแสดงออกมาเป็นความดันโลหิตสูงนั่นเอง เพราะฉะนั้นการจะแก้อาการเหล่านี้ถ้าจะให้ดีควรแก้ที่ต้นเหตุสำหรับผมนั้นการใช้ยาเป็นการรักษาเพื่อประวิงเวลาให้เราได้ฟื้นฟูสภาพร่างกายตัวเองให้เราได้รักษาตัวเองที่ต้นเหตุ แต่หากเราไม่ใช้ยาเลยเราก็อาจจะไม่มีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขต้นเหตุอาจจะเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตไปซะก่อน หลังจากผลการตรวจสุขภาพประจําปี 2563 ซึ่งผมมีไขมันเลวในเลือดสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดมีค่าน้ำตาลถึง 130 ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน มันทำให้ผมต้องหยุดพิจารณาพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของตัวเองทันทีเพราะไม่อยากมีโรคเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้ ผมปรับเปลี่ยนการกินเลิกกินข้าวเหนียวกินข้าวเจ้าแทนและงดขนมหลังอาหารที่ผมชอบ งดชาเขียวที่ผมชอบ ผ่านไป 1 เดือนไปตรวจซ้ำปรากฏว่าระดับน้ำตาลลงมาที่ 104 ก็ค่อยโล่งอกไปหน่อย ส่วนความดันโลหิตนั้นยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 150/100 ทั้งที่ผมปรับเปลี่ยนการกินแล้ว แล้วก็ออกกำลังกายโดยการทำบอดี้เวทแทบทุกวัน แต่ความดันโลหิตก็ยังสูงอยู่ดี แม้หมอจะเพิ่มยาให้อีก 1 เม็ดก็ยังไม่ช่วยอะไร ผมเคยอ่านตำราเล่มหนึ่งบอกว่าถ้าน้ำหนักลดลง 1 กิโลกรัมจะช่วยลดความดันโลหิตลงมาได้ถึง 10 มิลลิเมตรปรอทแต่สำหรับผมนั้นเวลาผ่านไป 3 เดือนน้ำหนักผมลดลงมาถึง 8 กิโลกรัมแต่กลับไม่มีผลกับความดันโลหิตเลย ผมจึงต้องพิจารณาว่าเหตุใดสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ความดันโลหิตลดลง สิ่งแรกที่ผมคิดได้ก็คือผมนอนหลับไม่เต็มอิ่มหรือหลับไม่สนิทบางคืนมีอาการผวาด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วก็น่าจะมาจากการที่ผมเป็นโรคกระเพาะอาหารนั่นเอง ผมจึงต้องรักษาโรคกระเพาะอาหารควบคู่ไปด้วยหลังจากปรับเปลี่ยนการกินงดอาหารรสจัดแล้วก็กินยาโรคกระเพาะอาหารไปด้วยทำให้ผมนอนหลับสนิทขึ้น ทำให้ความดันโลหิตลดลงมาบ้างแต่บางวันก็ยังสูงอยู่ ผมจึงต้องทำวิจัยสุขภาพของตัวเองเพื่อค้นหาสาเหตุแนวทางแก้ไขให้ตัวเองต่อไป เดี๋ยวจะมาเล่าต่อใน EP 2 ครับ
โฆษณา