30 ธ.ค. 2020 เวลา 02:56 • ปรัชญา
Boxing day
แฟนบอลจะรู้จักคำว่า boxing day ในช่วงเวลาหลังวันคริสต์มาสที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจะฟาดแข้งแบบมาราธอน 3 แมตช์ในเวลา 10 วัน เป็นลีกชั้นนำเดียวของยุโรปที่จัดการแข่งขันแถมด้วยโปรแกรมอันหฤโหด ขณะที่ลีกในประเทศอื่นๆ หยุดพักครึ่งฤดูกาลแรก พักผ่อนช่วงคริสต์มาสตามความเชื่อ หนีหิมะในฤดูหนาว จึงทำให้ลีกอังกฤษเป็นลีกที่โหด มันส์ นักเตะต้องมีความฟิตมากกว่าเดิม ส่วนทีมงานของสโมสรและสมาคมฟุตบอลก็จะไม่ได้หยุดพักเฉลิมฉลองในช่วงเวลาตั้งแต่ Christmas eve ไปจนถึงปีใหม่ หากทีมใดสามารถโกยแต้มในช่วงนี้ได้มีโอกาสจะจบฤดูกาลในอันดับที่ต้องการ
ด้วยโปรแกรมอันหฤโหดในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนตัวผมคิดว่า boxing day คือวันชกมวย (ฮ่าๆๆ) “ก็มันเตะกันโหดอย่างนี้ จะให้คิดยังไง” นักเตะก็กรอบ บาดเจ็บ ส่งผลเสียต่อทีม บางทีมต้องเสริมทัพ บางทีมเปลี่ยนผู้จัดการทีม ในช่วงเปิดตลาดซื้อขายนักเตะฤดูหนาวเดือนมกราคม
ความจริงแล้ว boxing day คือวันแกะกล่องของขวัญในวันที่ 26 ธันวาคม หลังวันคริสต์มาส ประเด็นอยู่ตรงที่แล้วเป็นวันแกะกล่องของขวัญของใครกันล่ะ?
ในวัน Christmas eve ถึงวันคริสต์มาส จะมีการรวมญาติเฉลิมฉลองมอบของขวัญกันครอบครัว ของขวัญส่วนใหญ่จะถูกแกะในวันคริสต์มาส แต่จะมีของขวัญส่วนหนึ่งที่ถูกเก็บไว้ในวันรุ่งขึ้นให้แด่พนักงานบริการ พ่อครัว แรงงาน ลูกน้อง คนจน หรือทาส(ในสังคมโบราณ) เพื่อตอบแทนและชดเชยที่เขาได้หยุดพักเฉลิมฉลองอยู่กับครอบครัวจากนายจ้าง/หัวหน้า ที่เป็นกลไกเบื้องหลังสายพานการผลิต บริการ ให้เทศกาลคริสต์มาสดำเนินไปอย่างราบรื่น ทำให้ผู้อื่นเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข
แง่หนึ่ง boxing day เป็นวันคริสต์มาสของบรรดาแรงงานหรือชนชั้นล่าง การเอื้อเฟื้อแบบนี้เป็น sense ของมูลนิธิซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของคริสตศาสนา แต่มูลนิธิหรือแม้กระทั่งการสังคมสงเคราะห์ไม่ต้องการความเสมอภาคพร้อมกัน กล่าวคือความเหลื่อมล้ำเป็นตัวสร้าง idea แบบนี้ มันต้องมีชนชั้นคนรวยแล้วจึงจะมีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อเอื้อเฟื้อคนจน เพราะหากเสมอภาค ระบบมูลนิธิ และสังคมสงเคราะห์ก็จะล่มสลายลง ทุกคนต้องได้ลิ้มรสการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในวันเดียวกัน และถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะไม่มีวัน boxing day ก็ได้
โฆษณา