31 ธ.ค. 2020 เวลา 19:25 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📍:: จะทำอย่างไรถ้าผู้ออกหุ้นกู้ถูกฟ้องล้มละลาย?::
ในช่วงนี้บริษัทต่าง ๆ หันมาออกหุ้นกู้มากขึ้นเนื่องจากการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินทำได้ยากและมีเงื่อนไขต่อตัวบริษัทผู้กู้มากมาย เมื่อเทียบกับการระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ที่มีเงื่อนไขน้อยกว่าและมีโอกาสระดมทุนได้ในจำนวนที่มากกว่า และในแง่ของนักลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปของดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่สูงกว่าการฝากเงินมากและการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ยังถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุนประเภทหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ออกหุ้นกู้มีสถานะทางการเงินที่ดีหรือได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี
นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นกู้ นักลงทุนจะอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทซึ่งจะได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าของบริษัท และเนื่องจากการออกหุ้นกู้มีความคล้ายคลึงกับการกู้ยืมเงินทำให้หุ้นกู้จำนวนมากมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันการชำระหนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ หรือหลักประกันทางธุรกิจตามกฎหมาย ทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับชำระหนี้หุ้นกู้คืนได้สูงกว่าการลงทุนในหุ้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับชำระเงินต้นคืนล่าช้าหากมีการแก้ไขข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้เพื่อขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ และสภาพคล่องในการขายต่อในตลาดรองค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่เป็นตราสารทุน
ในการลงทุนจึงต้องพิจารณาศึกษาโปรไฟล์ของผู้ออกหุ้นกู้และธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ให้รอบคอบด้วย ถึงแม้ว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างน้อยในการลงทุนในหุ้นกู้ แต่จากสภาพเศรษฐกิจในสภาวะปัจจุบันท่านอาจจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็น หนี้กู้ยืมเงินทั่วไป หรือการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้
ซึ่งในส่วนของการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้นั้น ยังเกิดขึ้นกับหุ้นกู้ของบริษัทที่เคยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ investment grade อย่าง EARTH มาแล้ว และเมื่อเจอกับวิกฤตโควิด19 อดีตรัฐวิสาหกิจที่แสนจะมั่นคงอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังประสบปัญหาจนต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
⚖ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ เจ้าหนี้จะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ถ้าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้มีจำนวนหนี้ที่แน่นอนก็อาจฟ้องผู้ออกหุ้นกู้เป็นคดีล้มละลายได้แม้ว่าหุ้นกู้จะยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน
💡 อย่างไรก็ตามโดยปรกติแล้วในข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้มักจะมีข้อกำหนดที่เรียกว่า การผิดนัดไขว้ (cross default) เช่น กำหนดไว้ว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ในจำนวนเกินกว่า XX บาท ก็จะเป็นเหตุให้หุ้นกู้นี้ถึงกำหนดไถ่ถอนโดยพลันได้ ซึ่งกว่าจะถึงขั้นที่ครบองค์ประกอบในการฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ข้อกำหนดในส่วนของการผิดนัดไขว้ (cross default) น่าจะถูก triggered ไปก่อนแล้ว
ย้อนกลับมาต่อที่คดีล้มละลาย ถ้าศาลพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงก็จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด อันเป็นเสมือนหมายยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ห้ามขายทรัพย์สินที่ยึดไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจในการ จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ รับเงินหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง ต่อสู้คดีใด ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ทั้งนี้เพื่อดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาจัดสรรและเฉลี่ยเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายได้
⭐ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวในพระราชบัญญัติล้มละลายแม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม กล่าวคือคดีล้มละลายจะอยู่เหนือคดีแพ่งอื่น ๆ นั่นเอง
ทั้งนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะโฆษณาคำสั่งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งมีข้อปฏิบัติสำคัญที่เจ้าหนี้ต้องกระทำคือ เจ้าหนี้ต้องเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกำหนดเวลา เพื่อที่จะได้ทราบว่ามีเจ้าหนี้ทั้งหมดกี่รายและจำนวนหนี้เท่าไหร่เพื่อประโยชน์ในการจัดการเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ได้อย่างถูกต้อง โดยเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามกำหนดจะหมดสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้
ℹ ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้ควรจะต้องติดตามข่าวสารและยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนดเวลาเพื่อที่จะได้ไม่เสียสิทธิ
ศาลจะมีคำพิพากษาให้ล้มละลายหากเจ้าหนี้ลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือไม่มีมติจากเจ้าหนี้ในที่ประชุม หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ
โดยที่หลังจากศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยการล้มละลายของลูกหนี้จะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งลำดับในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้หุ้นกู้จะได้กล่าวในข้อต่อไป
💰 จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ผู้ถือหุ้นกู้เปรียบเสมือนเจ้าหนี้ของบริษัทย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าของบริษัทซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็คือลูกหนี้นั่นเอง โดยผู้ถือหุ้นกู้ประเภทต่าง ๆ จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้หุ้นกู้ตามลำดับขั้นต่อไปนี้
1️⃣ หุ้นกู้มีประกัน (Secured Bond)
o ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน เป็นหลักประกัน รวมทั้งหลักประกันทางธุรกิจอื่น ๆ ที่กฎหมายอนุญาต ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีบุริมสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ โดยสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันจะถูกนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาใช้คืนหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้มีประกันเป็นลำดับแรก
o นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดให้หุ้นกู้ประเภทนี้ต้องมีบุคคลที่สามคือ “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bondholders’ Representative)” ทำหน้าที่ดูแลมูลค่าหลักประกันในยามปรกติให้เป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิ รวมทั้งเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อศาลในยามที่ผู้ออกหุ้นกู้ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายหรือได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
o ในกรณีหุ้นกู้มีประกันที่มีบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นค้ำประกันการออกหุ้นกู้นั้น หากมีการผิดนัดชำระหนี้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิดำเนินการฟ้องร้องผู้ค้ำประกันและบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันได้ด้วย
2️⃣ หุ้นกู้ไม่มีประกัน (Unsecured Bond/ Senior Bond)
o หมายถึงหุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้เป็นประกันในการออกซึ่งหากผู้ออกล้มละลายต้องทําการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน
o ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทผู้ออก
3️⃣ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond)
o หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือ Subordinated Bond คือ หุ้นกู้ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะ เช่น การจ่ายดอกเบี้ย และอายุ เหมือนหุ้นกู้ทั่วไป จะแตกต่างกันตรงที่สิทธิในการเรียกร้องเมื่อผู้ออกตราสารเกิดล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก แต่จะมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย
4️⃣ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน
o เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิชนิดหนึ่งที่ไม่มีกำหนดอายุหุ้นกู้ ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้อาจได้รับเงินคืนเมื่อมีการไถ่ถอนโดยผู้ออกหุ้นกู้ หรือได้รับเงินคืนในลักษณะเดียวกับหุ้นคือเมื่อมีการขายในตลาดรอง หรือเมื่อเลิกกิจการ อย่างไรก็ตามสภาพคล่องในการซื้อขายยังถือว่ามีน้อยกว่าการซื้อขายหุ้นที่เป็นตราสารทุนแท้ ๆ
o ในทางบัญชีจะถือว่าเงินทุนที่ได้จากการออก Perpetual Bond สามารถนับเป็นทุนได้หากได้รับชำระค่าหุ้นกู้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และผู้ออกหุ้นกู้มีการไถ่ถอนคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม 2563
o “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) จึงหมายความว่า หากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่น จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย ซึ่งเมื่อไม่มีการผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนดตามไปด้วย
5️⃣ หุ้น (Shares)
o ผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของบริษัทจึงมีสิทธิได้รับชำระทุนคืนเป็นอันดับสุดท้ายหลังจากสิ้นสุดการชำระบัญชีแล้ว ซึ่งถ้าในกรณีล้มละลาย ก็มักจะไม่ได้คืนเลยสักบาท
o ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นอาจแบ่งได้อีกเป็น ผู้ถือหุ้นสามัญ (ordinary shares) และผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ (preference shares) ซึ่งมักจะมีข้อแตกต่างกันในส่วนของสิทธิออกเสียง สิทธิในการได้รับเงินปันผล และสิทธิในการได้รับชำระทุนคืน ซึ่งแน่นอนว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับชำระทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
o ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ถือหุ้นจะเป็นเจ้าของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในฐานะเดียวกับลูกหนี้ก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นไม่ต้องมีความรับผิดเกินกว่าค่าหุ้นที่ต้องชำระ
💡 เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นน้อยที่สุดก็คือการลงทุนในหุ้นกู้มีประกัน ทั้งนี้ ยังจะต้องพิจารณาประเภทและมูลค่าหลักประกันด้วยเพื่อลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด
- ทิพย์ชนก รัตโนสถ. (2552). คำอธิบายเรียงมาตรา กฎหมายลักษณะห้างหุ้นส่วนและบริษัท. กรุงเทพฯ: โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 290
- ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่  ๙๕/๒๕๖๒เรื่อง  การปฏิบัติในช่วงการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมสำหรับการจัดประเภทรายการของหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน
- พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓
- พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โฆษณา