Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มมาเก๊า
•
ติดตาม
1 ม.ค. 2021 เวลา 10:06 • การศึกษา
[ตอนที่ 1] “สถาบันกามอยช์” องค์การภาษาและวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกชาติแรกที่ติดต่อกับไทย
ในบรรดาองค์กรส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศในประเทศไทย เท่าที่หลายคนรู้จักจะมีหลายชาติอย่างเช่น
- ญี่ปุ่น: เจแปนฟาวน์เดชั่น (บริเวณสถานี BTS อโศก กรุงเทพฯ)
- เกาหลีใต้: ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี (บริเวณสถานี BTS อโศก กรุงเทพฯ) และสถาบันเซจง (ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ม.ธรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น)
- จีนแผ่นดินใหญ่: สถาบันขงจื้อ (ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น)
- เยอรมนี: สถาบันเกอเธ่ (บริเวณสถานี MRT ลุมพินี กรุงเทพฯ)
- ฝรั่งเศส: สมาคมฝรั่งเศส (เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และบริเวณสถานี MRT ลุมพินี กรุงเทพฯ)
- สหราชอาณาจักร: บริติช เคานซิล (เชียงใหม่ และอีก 6 แห่งในกรุงเทพฯ)
“โปรตุเกส” ในฐานะชาติตะวันตกชาติแรกที่ติดต่อกับไทย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีองค์กรส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศในไทย ก่อนอื่นทาง “หนุ่มมาเก๊า” ขอเกริ่นแนะนำองค์กรของโปรตุเกสกันก่อนครับ
สถาบันกามอยช์ (ภาษาโปรตุเกส: Instituto Camões) เป็นสถาบันเพื่อส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสไปทั่วโลก ทางรัฐบาลโปรตุเกสจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ในปี ค.ศ.1992 ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันกามอยช์หลายแห่งตามประเทศต่าง ๆ ยังแบ่งเป็นศูนย์ภาษาโปรตุเกส (Centros de Língua Portuguesa) และศูนย์วัฒนธรรมโปรตุเกส (Centro Cultural Português) ในประเทศไทยนั้น สถาบันกามอยช์จะอยู่กับสถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ
2
ทาง “หนุ่มมาเก๊า” เลยติดต่อทางสถานทูตโปรตุเกสเพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันกามอยช์ ได้รับเกียรติจากคุณลัลน์ลลิต สมานุหัตถ์ เลขาเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ที่ประสานงานกิจการด้านวัฒนธรรมของสถานทูต มาให้ข้อมูลครับ
**การสัมภาษณ์ดังกล่าวมีขึ้นในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ.2018 ข้อมูลส่วนหนึ่งจึงไม่อัพเดทแล้ว**
สถานทูตโปรตุเกส ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือสี่พระยา
หนุ่มมาเก๊า: สวัสดีครับ คุณลัลน์ลลิต ก่อนที่จะคุยกันถึงเรื่องสถาบันกามอยช์ อยากจะให้แนะนำสถานทูตโปรตุเกสสักหน่อยครับ
ลัลน์ลลิต: หน้าที่หลักของสถานทูตโปรตุเกสในไทย จะประสานงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การขอวีซ่าเข้าประเทศโปรตุเกส และการดูแลชาวโปรตุเกสในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ที่ทางสถานทูตรับผิดชอบจะครอบคลุมประเทศไทย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชาและลาวค่ะ
1
ตรงเสาประตูทางเข้าสถานทูต มีสัญลักษณ์ตราแผ่นดินของโปรตุเกส เป็นรูปกิ่งต้นมะกอกผูกด้วยริบบิ้น ล้อมลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อ (Armillary sphere) อุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ใช้วัดพิกัดตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า สำหรับนำร่องในการเดินเรือ หน้ารูปทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อเป็นรูป “โล่แห่งโปรตุเกส” (Shields of Portugal) สัญลักษณ์ของโปรตุเกสแบบที่ปรับปรุงเมื่อปี ค.ศ.1481 รูปทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อพร้อมโล่แห่งโปรตุเกสยังปรากฏบนธงชาติโปรตุเกสด้วย
หนุ่มมาเก๊า: ถ้าให้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โปรตุเกส จะเป็นอย่างไรครับ
ลัลน์ลลิต: เริ่มต้นจากโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่มาติดต่อกับไทยในสมัยอยุธยาตอนกลาง จนภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาที่ใช้ในหมู่ชาวตะวันตกในอยุธยาช่วงนั้น นอกจากเรื่องค้าขายแล้ว ก็มาเป็นทหารรับจ้าง เผยแผ่ศาสนา เกิดชุมชนชาวโปรตุเกสที่อยุธยา ในสมัยนั้นมีจำนวนชาวโปรตุเกสในไทยมากที่สุด ราว 3,000 คน พอกรุงแตก เข้าสมัยธนบุรี ชาวโปรตุเกสจากอยุธยาก็อพยพมาอยู่ที่กุฎีจีน ฝั่งธนบุรี
ต่อมาก็แตกสายไปตั้งชุมชนที่วัดคอนเซ็ปชัญ ตรงสามเสนบ้าง หรือโบสถ์กาลหว่าร์ แถวสัมพันธวงศ์ แต่เชื้อสายชาวโปรตุเกสเหล่านี้ก็กลมกลืนกับคนไทยเป็นคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสไปหมดแล้ว ส่วนคนจากโปรตุเกสโดยตรงที่มาอาศัยอยู่ในไทยในปัจจุบัน มีไม่เกิน 200 คน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ราบรื่นเรื่อยมาตลอด ปีนี้ก็เพิ่งครบรอบ 500 ปี สนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกระหว่างไทยกับโปรตุเกสด้วย
อาคารสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ดัดแปลงมาจากอาคารโกดังเก็บสินค้าเก่า
หนุ่มมาเก๊า: เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่นานทีเดียว เห็นกล่าวถึงเรื่องภาษาโปรตุเกสที่ใช้ในหมู่ชาวตะวันตกในไทยสมัยอยุธยา ผมเคยเห็นหนังสือทางการทูตระหว่างรัชกาลที่ 4 ของไทย กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีภาษาอังกฤษและภาษาโปรตุเกสด้วย ตอนนิทรรศการครอบรอบ 200 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ เลยอยากทราบว่าบทบาทภาษาโปรตุเกสในไทยสมัยก่อน และสถานการณ์ภาษาโปรตุเกสในไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างครับ
ลัลน์ลลิต: ถ้าสถานการณ์ของภาษาโปรตุเกสในไทยตอนนี้ เท่าที่ทราบก็ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปท่องเที่ยวโปรตุเกสเพิ่มขึ้น และคนไทยที่สนใจในประเทศโปรตุเกสมีมากขึ้น ที่ ม.ธรรมศาสตร์จะสอนภาษาโปรตุเกสบ้าง ในฐานะส่วนหนึ่งของ ป.ตรี สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่จุฬาฯ ทางภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ เปิดเป็นวิชาโทหรือวิชาเลือกเสรี รวมถึงวิชาโปรตุเกสและบราซิลในโลกปัจจุบัน (Contemporary Portugal and Brazil) เพื่อให้รู้จักโปรตุเกสในแง่มุมอื่นมากขึ้น
ส่วนเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับภาษาโปรตุเกสในไทยเพิ่มเติม แนะนำให้ถามคุณเบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ ที่เคยทำงานที่สถานทูตและปัจจุบันรับสอนภาษาโปรตุเกสค่ะ
**เวบไซต์ที่เกี่ยวข้อง: คำอธิบายรายวิชา สาขาภาษาโปรตุเกส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย**
https://www.arts.chula.ac.th/~west/portuguese/description/
เบญจรัศมี: ในสมัยก่อนภาษาโปรตุเกสทำหน้าที่เป็นเสมือนภาษากลางแห่งการสื่อสารหรือที่เรียกว่า Lingua franca ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่โปรตุเกสได้เดินเรือไปถึงและเริ่มการติดต่อ ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงประเทศไทยด้วย
ส่วนปัจจุบันภาษาโปรตุเกสมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่นักธุรกิจไทยไปลงทุนในประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสในทวีปต่าง ๆ มากขึ้น อีกทั้งหลายธุรกิจในเหล่าประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกสก็มองไทยเป็นประเทศสำคัญสำหรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งการใช้ภาษาโปรตุเกสก็เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้การติดต่อสื่อสารในเชิงธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ในโลกวิชาการ ภาษาโปรตุเกสก็มีบทบาทสำคัญเพราะเอกสารสำคัญหลายฉบับก็เขียนเป็นภาษาโปรตุเกสเท่านั้น ซึ่งทำให้มีนักวิจัยหลายคนต้องมาเริ่มเรียนภาษาโปรตุเกสกับเรา เพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์สำหรับการวิจัยของเขาด้วยค่ะ
ในด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเลยทีเดียว และแน่นอนว่าอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นมัคคุเทศน์ หรือโรงแรมก็มีความต้องการผู้รู้ภาษาโปรตุเกสมากขึ้นค่ะ มีมัคคุเทศน์หลายคนที่ติดต่อมาเรียนภาษาโปรตุเกสกับเรา เพราะมีนักท่องเที่ยวพูดโปรตุเกสมาเที่ยวเมืองไทยเยอะค่ะ
ภายในอาคารสถานทูตโปรตุเกส
หนุ่มมาเก๊า: ขอถามในฐานะคนที่ทำเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศที่ยังไม่มีเกณฑ์ฉบับทางการออกมา เพื่อใช้ในงานหลัก อย่างการทับศัพท์ชื่อภาษาต่างประเทศของวัตถุในระบบสุริยะ หรือพวกชื่อภูมิประเทศบนวัตถุเหล่านี้ คุณลัลน์ลลิตคิดว่าเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาโปรตุเกสจะช่วยสถานทูตในแง่ไหนบ้างครับ
ลัลน์ลลิต: ก็จะช่วยทางสถานทูตได้เยอะเวลาที่ต้องเขียนทับศัพท์ชื่อสกุลคนโปรตุเกส หรือพวกชื่อเมืองในโปรตุเกส ตามหนังสือราชการและประชาสัมพันธ์บนเวบไซต์ค่ะ เท่าที่ทราบข่าว ตอนนี้ทางราชบัณฑิตสภาได้ดำเนินการทำเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาโปรตุเกส เพิ่งจัดประชุมเรื่องนี้ที่สถานทูตไปเมื่อปีที่แล้วค่ะ แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการเปิดตัวเกณฑ์นี้ออกมาเมื่อไหร่
**เวบไซต์ที่เกี่ยวข้อง: คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ตอนคำโปรตุเกสในภาษาไทย ในมติชนสุดสัปดาห์ เดือนตุลาคม 2017**
https://www.matichonweekly.com/column/article_59948/
ภาพถ่ายอาคารบ้านพักเอกอัครรราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยในสมัยก่อน ในอาคารสถานทูต
หนุ่มมาเก๊า: หวังว่าเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาโปรตุเกสของทางราชบัณฑิตฯ จะออกมาในเร็ว ๆ นี้นะครับ ในเมื่อภาษาย่อมมาคู่กับวัฒนธรรม อยากให้แนะนำสถาบันกามอยช์ ที่สถานทูตโปรตุเกสแห่งนี้หน่อยครับ
ลัลน์ลลิต: ค่ะ สถาบันกามอยช์ที่กรุงเทพนี้ จะเรียกว่าเป็นศูนย์วัฒนธรรมของสถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยก็ได้ เรามีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมพวกคอนเสิร์ตและงานแสดงศิลปะ โดยจะเน้นจัดกิจกรรมที่กรุงเทพ อย่างงานถัดไปเป็นคอนเสิร์ตเปียโนโดยศิลปินชาวโปรตุเกส ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.2018 ค่ะ
สวนโปรตุเกสในพื้นที่สถานทูต
หนุ่มมาเก๊า: ถ้าเทียบกับหน่วยงานด้านภาษาและวัฒนธรรมจากชาติยุโรปชาติอื่นในกรุงเทพ อย่างสถาบันเกอเธ่ของเยอรมัน หรือสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ ที่มีอาคารศูนย์แยกออกมาไว้จัดกิจกรรม นิทรรศการ เปิดคอร์สภาษาและวัฒนธรรม ที่สถาบันกามอยช์แห่งนี้เป็นแบบนั้นไหมครับ
ลัลน์ลลิต: ตอนนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้นค่ะ สถาบันกามอยช์หรือศูนย์วัฒนธรรมที่นี่จะเป็นเพียงสำนักงานฝ่ายวัฒนธรรมภายในตัวสถานทูตโปรตุเกสเท่านั้น ไม่มีนิทรรศการและมีอาคารพื้นที่จัดกิจกรรมแยกออกมา และยังไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชม ส่วนเรื่องคอร์สแนวภาษาและวัฒนธรรม ทาง ผอ. ศูนย์วัฒนธรรมเคยเปิดคอร์สเรียนภาษาโปรตุเกสที่นี่ ครั้งล่าสุด ประมาณปี 2015 – 2016 เป็นคอร์ส 40 ชั่วโมง ราคา 4,500 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา 5,000 บาทสำหรับบุคคลทั่วไปค่ะ
เข้าสู่พื้นที่บริเวณทำเนียบเอกอัครราชทูต
หนุ่มมาเก๊า: พอพูดถึงเรื่องภาษาและวัฒนธรรมแล้ว อาหารเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ เลยอยากให้แนะนำร้านอาหารโปรตุเกสในกรุงเทพสักหน่อยครับ
ลัลน์ลลิต: ก็มี 3 ร้านค่ะ ร้านแรกเป็นร้าน La portugalia แถวสถานี MRT สุทธิสาร จะเป็นอาหารโปรตุเกสทั้งหมด ร้าน il fumo ตรงถนนพระราม 4 แถวสถานี MRT คลองเตย ส่วนร้านสุดท้าย ร้านบ้านสกุลทองตรงชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี จะเป็นอาหารฝั่งไทยเชื้อสายโปรตุเกสค่ะ
**หมายเหตุจากหนุ่มมาเก๊า : ร้าน La portugalia ปิดกิจการแล้วในปัจจุบัน**
อาคารทำเนียบเอกอัครราชทูตหลังนี้เป็นอาคารทรงโคโลเนียล สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1860 (ประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ 4) หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางสัญจรหลักในกรุงเทพสมัยก่อน
หนุ่มมาเก๊า: สุดท้ายนี้ อยากขอคำแนะนำจากคุณลัลน์ลลิตและคุณณัฐนรี สำหรับคนที่สนใจภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกส ว่าควรจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี มีแหล่งข้อมูลอะไรแนะนำบ้างครับ
ลัลน์ลลิต: อาจจะเป็นพวกหนังโปรตุเกสก่อนก็ได้ค่ะ หรืออาจจะลองเรียนจากอินเตอร์เนต ตามเวบไซต์เรียนภาษาต่าง ๆ หรือ youtube
เบญจรัศมี: เริ่มจากรู้จักตัวเองว่าชอบทำอะไร แล้วเอาภาษาโปรตุเกสเข้าไปเป็นส่วนนึงของสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น หากชอบฟังเพลง ก็เริ่มฟังเพลงภาษาโปรตุเกส หรือหากชอบดูหนัง ก็เริ่มหาหนังที่พูดเป็นภาษาโปรตุเกส หรือมีซับไตเติ้ลภาษาโปรตุเกสดู เรามักตั้งความชอบเป็นจุดเริ่มต้นก่อนเสมอค่ะ เพราะมันจะทำให้เราสนุกในการเรียนรู้ภาษาไปด้วย ในส่วนของหลักภาษาโปรตุเกส ก็อาจจะไปหาซื้อหนังสืออธิบายมาซักเล่ม แล้วอ่านประกอบก็ได้ค่ะ ไม่ยาก
หนุ่มมาเก๊า: ขอขอบคุณคุณลัลน์ลลิต และคุณณัฐนรี ที่สละเวลามาพูดคุยเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันกามอยช์แห่งนี้ รวมถึงเรื่องภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกสในประเทศไทย ขอบคุณมากครับ
หน้าจั่วหลังคาด้านหน้า ประดับรูปโล่แห่งโปรตุเกส ล้อมด้วยช่อพรรณไม้และมงกุฎ
1 บันทึก
2
3
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
หน่วยงานและกิจกรรมต่าง ๆ ด้านภาษาและวัฒนธรรม
1
2
3
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย