4 ม.ค. 2021 เวลา 06:56 • ประวัติศาสตร์
"น้ำแข็ง" เข้ามาในไทยเมื่อไหร่???
ประเทศไทยเพิ่งจะมารู้จักน้ำแข็งเอาในยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 ที่ทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น จนกลายเป็นช่วงเวลาที่คนไทยรับเอาวัฒนธรรมผ่านสินค้าต่าง ๆ ที่ลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนไกล "น้ำแข็ง" ก็เป็นหนึ่งในนั้น บันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทำให้คาดเดากันว่าน้ำแข็งก้อนแรกเดินทางมาสร้างความเย็นสดชื่นให้คนไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2405 ถึง 2411
โดยผู้ที่สั่งน้ำแข็งเข้าเมืองไทยยุคนั้น คือ พระยาพิสนธ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เจ้าของเรือเจ้าพระยานำเข้าน้ำแข็งเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ สินค้าหรูหราจากยุโรป โดยเรือเจ้าพระยาเดินทางมาจากสิงคโปร์ใช้เวลาราว 15 วันต่อ 1 เที่ยว นอกจากจะใช้เวลานาน มีราคาแพงแล้ว เนื่องจากน้ำแข็งอยู่ในอุณหภูมิปกติได้ไม่นานก็จะละลาย ในอดีตวิธีการขนส่งน้ำแข็งไม่ให้ละลาย คือนำน้ำแข็งใส่ถังกลบด้วยขี้เลื่อยเพื่อช่วยรักษาความเย็นไว้ให้อยู่นาน ๆ ทำให้น้ำแข็งจึงเป็นของแปลกใหม่ที่จำกัดอยู่กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้มีใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่มักถูกแจกจ่ายให้เจ้านายและขุนน้ำขุนนาง และจะมีส่วนสำคัญก็ตรงที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำไอศกรีมเป็นของเสวยให้กับเจ้าขุนมูลนายในบางมื้อ
เมื่อ พ.ศ.2411 มีสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ รัชกาลที่ 4 ทรงเชิญนักปราชญ์จากยุโรป พร้อม เซอร์แฮรี่อ็อต ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์ เป็นพระราชอาคันตุกะมาดูสุริยุปราคา โดยจัดการที่พัก อาหารการกิน ตามแบบอย่างอารยประเทศสมบูรณ์แบบทุกประการ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามไม่ได้เป็นเมืองป่าเถื่อนอย่างที่ฝรั่งเข้าใจกัน การรับรองครั้งนั้น น้ำแข็ง มีส่วนเสริมสร้างการดื่มของพระราชอาคันตุกะอย่างสำคัญ
ซึ่งเซอร์แฮรี่อ็อต ได้บันทึกความประทับใจไว้ ความว่า “พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดอาหารเลี้ยงแขกเมือง นำเอาพ่อครัวฝรั่งเศสเข้ามาให้รู้จักพร้อมด้วยชาวอิตาลีหนึ่งคน และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน จัดการเลี้ยงดูอย่างฟุ่มเฟือยบริบูรณ์ ของอร่อยที่หาไม่ได้ในแถบนี้ก็จัดหามาจากสิงคโปร์ การทำกับข้าวก็ทำอย่างประณีต มีทั้งเหล้าและไวน์ต่าง ๆ น้ำแข็งก็บริบูรณ์ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องการอีก”
พระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) ได้เขียนถึงน้ำแข็งไว้ในหนังสือ ‘ฟื้นความหลัง’ เล่ม 1 ว่า “…เมื่อมีน้ำแข็งใหม่ ๆ คนส่วนมากยังไม่เคยเห็น และซ้ำจะไม่เชื่อว่าน้ำแข็งมีจริง จนถึงทางราชการเอาใส่ถาดตั้งไว้ให้ราษฎรดูที่พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ตึกศาลาสหทัย ราษฎรที่พากันไปดูลางคนคิดถึงคนอื่นที่บ้าน เป็นห่วงว่ายังไม่เคยเห็น ก็ขอก้อนน้ำแข็งซึ่งเขาต่อยไว้แล้ว เป็นก้อนเล็ก ๆ เอาไปฝาก หรืออวดคนที่บ้าน”
นอกจากนี้ยังบันทึกถึงมุมมองของคนไทยต่อน้ำแข็งไว้ด้วยว่า “ชาวบ้านชั้นผู้ใหญ่ห้ามเด็กไม่ให้กิน บอกว่าแสลง กินเข้าไปแล้วร้อน เห็นจะหมายถึงว่าร้อนใน หาว่ามันใส่ยาอะไรก็ไม่รู้ จึงทำให้น้ำแข็งจึงไม่ใช่ ‘รักแรกพบ’ ของคนไทยแต่อย่างใด เพราะกว่าจะเชื่อเรื่องมีคนปั้นน้ำเป็นตัวได้จริงก็เป็นเรื่องยากโข เมื่อได้มาเห็นน้ำแข็งเข้ากับตาตัวเองก็ไม่ค่อยชอบใจนัก แถมใคร ๆ ก็ไม่เดือดร้อนถ้าจะมีหรือไม่มีน้ำแข็งกิน เพราะน้ำจากโอ่งดินเองก็เย็นชื่นใจดี “ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นว่ากินน้ำแข็งปวดฟัน” – บันทึกส่วนหนึ่งจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้อย่างนั้น
กว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำแข็งได้ด้วยตนเองก็ต้องรอจนถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการตั้งโรงน้ำแข็งแห่งแรกของไทยชื่อ ‘น้ำแข็งสยาม’ บนถนนเจริญกรุง โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ทำให้ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าโรงน้ำแข็งนายเลิศ หลังจากผลิตน้ำแข็งเองได้ ความนิยมในการบริโภคน้ำแข็งจึงเริ่มกระเตื้องขึ้น และมีการตีพิมพ์โฆษณาน้ำแข็งในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ตั้งแต่ปี 2432 ในราคาปอนด์ละ 4 อัฐ โดยบริษัทแอนเดอร์สันอีกด้วย
การบริโภคน้ำแข็งของคนไทยที่เริ่มนิยมแพร่หลาย ยืนยันได้ด้วยวัฒนธรรม ‘เจ๊กขายน้ำแข็ง’ โดยพ่อค้าชาวจีนจะใส่น้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ ลงในน้ำหวาน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการราดน้ำหวานลงบนก้อนน้ำแข็งแล้วนำภาชนะไปรองก่อนนำกลับมาราดใหม่ ราดซ้ำไปซ้ำมาจนได้น้ำหวานเย็นเจี๊ยบถูกใจ แล้วจึงขยับมาเป็นการใช้กบไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดเล็ก ๆ ราดด้วยน้ำหวานอย่างที่เรารู้จักกันในชื่อน้ำแข็งไสจนถึงปัจจุบันนี้
อย่าลืมกดติดตาม กดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขียนบทความต่อๆ ไปด้วยนะครับ แล้วก็ถ้าอยากให้เขียนเรื่องอะไร comment ไว้ได้เลยครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา