ประโยชน์ของเปราะหอม
หัวและใบสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ใบใช้รับประทานเป็นผักแกล้ม มีกลิ่นหอม หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำมาใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกงหรือนำมาตำใส่เครื่องแกง หรือนำมาหั่นใส่ผัดเผ็ด หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำราดข้าวมันไก่ ส่วนทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม
เปราะหอมมีกลิ่นที่หอม สามารถช่วยในการผ่อนคลาย เหมาะสำหรับใช้เป็น Aroma therapy
ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาวสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม
คนไทยโบราณเชื่อว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์การปลูกเปราะหอมไว้หน้าบ้าน หรือใช้เปราะหอมนำมาแช่น้ำให้ผู้ป่วยรับประทาน จะช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจและขจัดมารออกไปได้ และยังมีความเชื่อว่าเปราะหอมเป็นไม้มงคลที่ใช้สำหรับใส่ลงไปในน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และยังใช้ผสมในพระเครื่อง รวมไปถึงการนำมาใช้เป็นว่านมหาเสน่ห์สำหรับชายหนุ่ม โดยนำว่านมาปลุกเสกด้วยคาถาแล้วนำมาเขียนคิ้ว หรือใช้ทาปากเพื่อให้ได้รับความเมตตา รักใคร่เอ็นดู หรือใช้ในงานแต่งของชาวอีสาน ด้วยการนำเปราะหอมไปแช่ไว้ในขันใส่น้ำสำหรับดื่มเพื่อความเป็นสิริมงคล
ด้วยความหอมจากเปราะหอม จึงมีการนำมาใช้เป็นเครื่องสำอาง แป้งฝุ่น แป้งพัฟผสมรองพื้น เจลแต้มสิว สบู่เปราะหอม แชมพู ครีมนวดผม เป็นครีมกันแดด หรือใช้ทำเป็นน้ำยาบ้วนปาก
สำหรับเครื่องสำอางจากเปราะหอมที่ใช้ทาหน้าจะช่วยแก้สิว แก้ฝ้า ทำให้ผิวหน้าดูสดใส และช่วยรักษาผิวพรรณ
ใช้เป็นยาสระผม โดยใช้ว่านหอมผสมกับใบชมวง (ส้มโมง), แน่งหอม (เร่วขน), ขมิ้น, ต้มกับน้ำมวก และใช้น้ำที่ได้ไปสระผม จะช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมดกดำเงางามและมีกลิ่นหอม