5 ม.ค. 2021 เวลา 07:30 • อาหาร
ขนมจีน ข้าวต้มมัด ของกินใกล้ตัวแต่เป็นคำไทยใช่หรือเนี่ย?
พูดถึงของกินเพื่อนๆทุกคน ก็ต้องคุ้นเคยกับชื่อของกินเหล่านี้เป็นอย่างดี เช่น ขนมจีน ข้าวต้มมัด แต่รู้หรือเปล่าว่าชื่อของกินเหล่านี้ ล้วนมีที่มาที่ไป และที่สำคัญชื่อของกินแต่ละอย่างไม่ใช่คำไทยแท้ มีที่มาที่ไปที่สายกินทุกๆคนอาจจะยังไม่รู้ก็ได้ วันนี้ ภาษาไทยใกล้ตัวก็จะขอพูดถึง ชื่อของกินใกล้ตัวที่ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่จะมาจากคำภาษาอะไร เพื่อนๆทุกคนไปสนุกกับภาษาไทยใกล้ตัวได้เลย
ขนมจีน
ขนมจีน อาหารยอดนิยมที่ทุกคนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมต้องเรียกว่าขนม ทั้งที่เป็นของคาว แล้วมีที่มาจากประเทศจีนจริงหรือ? ตอบได้เลยว่า "ขนมจีน" ไม่ใช่ขนม และไม่ได้มีที่มาจากประเทศจีน แต่เป็นอาหารมอญ คำว่า "ขนมจีน"เป็นคำยืมจากภาษามอญ มาจากคำว่า ขะนอมจิน แปลว่า เส้นสุก เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยจึงเกิดการลากเข้าความเป็น ขนมจีน
การลากเข้าความก็คือการเปลี่ยนแปลงเสียงของคำในภาษาต่างประเทศ เข้ามาเป็นคำไทย ด้วยการเรียกที่ผิดเพี้ยนจากจากภาษาต่างประเทศที่เป็นต้นฉบับ อย่างเช่น คำว่า Royal Pattern เป็น ราชปะแตน Telegraph เป็น ตะแล็บแก๊บ เป็นต้น
ดังนั้นคำว่า "ขนมจีน" จึงไม่ใช่ขนมที่มาจากประเทศจีนอย่างแน่นอน
ข้าวต้มมัด
ข้าวต้มมัด หรือ ข้าวต้มผัด ดูจากลักษณะก็น่าจะเข้าใจได้แล้วว่าชื่อขนมประเภทนี้ เป็นคำไทยอย่างแน่นอน เพราะทำจากข้าว และมีรูปร่างเป็นมัดๆ จึงเรียกว่า "ข้าวต้มมัด"อย่างที่ไม่ต้องสงสัยกัน
อ่าว แล้วทำไม ไม่ใช่คำไทยล่ะ? เพราะข้าวต้มมัดเป็นขนมที่มีที่มาจากแถบชวา มลายู ซึ่งเป็นขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียวแล้วนำมาห่อกับใบตองแล้วนำไปต้ม ที่เรียกว่า "เกอตุปัต" คล้ายกับข้าวต้มมัดของไทย แต่วัตถุดิบแตกต่างกัน เมื่อเรียกชื่อขนมชนิดนี้ในภาษาไทย จึงเกิดการลากเข้าความจาก "เกอตูปัต"กลายเป็น "ข้าวต้มผัด"และกลายเป็น "ข้าวต้มมัด" อย่างที่เราเรียกกันจนถึงทุกวันนี้
ในตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกๆท่าน คงหิวกันแล้ว ขอจบสาระน่ารู้ไว้เพียงเท่านี้ และติดตามภาษาใกล้ตัวได้ในบทความต่อไปนะครับ
อ้างอิงจาก
โฆษณา