6 ม.ค. 2021 เวลา 11:53 • การศึกษา
ภาษาไทย คำไหนถูก?
1
เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต่างก็เคยสะกดคำในภาษาไทยผิด ความยาก และความแตกต่างของคำในภาษาไทย อาจจะทำให้เราสะกดคำผิดอย่างปฏิเสธไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคนที่รักภาษาไทยหลายๆคน ก็อาจจะสะกดคำผิดโดยที่เราไม่รู้ตัว วันนี้ขอนำเสนอ คำในภาษาไทยที่คนไทยสะกดผิดมากที่สุด
เลือนราง หรือ เลือนลาง คำนี้เป็นคำที่คนไทยสะกดผิดกันบ่อย ซึ่งหลายคนนิยมใช้สลับกันระหว่าง ร กับ ล หรือมักจะได้ยินคำเหล่านี้อยู่บ่อยครั้งว่า ภาพลางๆ เห็นลางๆ เชื่อว่าหลายคนคงพูดและเขียนในลักษณะดังกล่าวอย่างแน่นอน โดยจริงแล้ว คำว่า "เลือนลาง" เป็นคำที่ผิด แล้วจะต้องสะกดด้วย ร เป็น "เลือนราง"
คำว่า เลือนราง ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า ไม่ชัดเจน, พอระลึกได้บ้าง, เช่น ความจำชักเลือนรางไปบ้างแล้ว ตาไม่ดีมองเห็นภาพเลือนราง
1
ซึ่งคำว่า "ราง" ก็มีความหมายในพจนานุกรมอีกความหมายว่า ราง ๓, ราง ๆ
ว. ไม่กระจ่าง, ไม่ชัดเจน, เช่น เห็นราง ๆ ภาพราง ๆ
1
เมื่อใดก็ตามถ้าหากใช้คำว่า "ลาง" ความหมายจะเปลี่ยนทันที เป็น สิ่งหรือปรากฏการณ์ที่เชื่อกันว่าจะบอกเหตุดีหรือเหตุร้าย หรือลางบอกเหตุนั่นเอง เพราะฉะนั้นคำที่ถูกต้องคือคำว่า เลือนราง ภาพรางๆ เห็นรางๆ
4
หมูหยอง หรือ หมูหย็อง คำนี้เป็นคำที่สะกดผิดกันบ่อยมากถือว่าเป็นคำที่มักเขียนผิดเป็นอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ พบได้ตามบรรจุภัณฑ์ที่ขายในห้างสรรพสินค้า หรือเป็นของกินที่ชื่นชอบสำหรับใครหลายคน ที่จริงแล้วคำว่า "หมูหยอง" ที่เราเห็นกันตามบรรจุภัณฑ์ หรือที่เราเขียนกันเป็นการเขียนที่ผิด ในฐานะผู้เขียนก็เคยเขียนผิดมาแล้วเหมือนกัน เพราะเป็นคำที่เราเห็นกันบ่อยมาตั้งเด็ก คำที่ถูกต้อง คือคำว่า "หมูหย็อง"
"หย็อง" มีความหมายในพจนานุกรมว่า ทำให้เป็นฝอยฟู ๆ เช่น เอาเนื้อหมูไปหย็อง, เรียกเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ที่ทำให้เป็นฝอยฟู ๆ ว่า หมูหย็อง ไก่หย็อง
ส่วนคำว่า "หยอง" เป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม "หมูหยอง" จึงไม่ใช่คำที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
1
"จัดจ้านในย่านนี้ พริ้วไหวดั่งสายน้ำ" พาดหัวข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กับ ชื่อน้ำตก เอ๊ะคำไหนผิดถูกกันแน่? หรือถูกทั้งสองคำ บ่อยครั้งที่เราจะพบเจอคำนี้ คือคำว่า พลิ้ว กับ พริ้ว ซึ่งใช้กันบ่อยมากชนิดที่แยกไม่ออกกันเลยทีเดียวว่า คำไหนผิด คำไหนถูก บางคนใช้พลิ้ว เช่น "หญ้าสีเขียวพลิ้วไหวในสายลม" บางคนใช้ พริ้ว ให้คำมีสัมผัสกับ ร เช่น "พริ้วพราวสครับไวท์ สครับสมุนไพรไทยแท้" จึงทำให้มีการใช้ในลักษณะดังกล่าวอย่างแพร่หลาย
1
เป็นที่แน่นอนคำที่ถูกต้องคือคำว่า "พลิ้ว" มีความหมายในพจนานุกรมว่า สะบัดไปตามคลื่นลม เช่น ธงพลิ้ว, พลิ้วไหว อีกความหมายหนึ่งคือ บิด เบี้ยว เช่น คมมีดพลิ้ว หรือ "บิดพลิ้ว" หรือ "เบี้ยว" ในภาษาปาก ที่แปลว่าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ก็มีที่มาที่ไปจากคำนี้เช่นกัน
ส่วนคำว่า "พริ้ว" เป็นคำที่ไม่มีความหมายในพจนานุกรม จึงไม่ใช่คำที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
1
ต่อไปเป็นคำหมวด กะ กับ กระ เคยกันบ้างไหมที่ทุกคนมักจะสะกดคำในหมวดนี้ผิดกันบ่อยครั้ง แล้วแยกกันออกหรือไม่ว่าคำไหน ผิด-ถูก ในบทความนี้มีหลักการจำง่ายๆ ระหว่าง กะ กับ กระ และเปรียบเทียบการใช้ เพื่อให้เข้าใจการใช้ที่ถูกต้องนะครับ
กะเพรา หรือ กระเพรา ถือว่าเป็นอาหารหลักที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยปกติทุกคนมักจะเรียกติดปากว่า "ผัดกระเพรา" แบบมี ร ควบกล้ำ จากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน พบเห็นว่าร้านอาหารส่วนใหญ่มักเขียนแบบมี ร ควบกล้ำ เป็นที่น่อนว่าเขียนในลักษณะดังกล่าวเป็นการเขียนที่ผิด เพราะคำที่ถูกต้องตามพจนานุกรม คือคำว่า "กะเพรา" นั่นเอง
วิธีในการแยก กะ กับ กระ แยกกันอย่างไร ?
การแยก กะ กับ กระ นั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ซึ่งจะต้องใช้วิธีในการจำเป็นคำ แต่วิธีในการจำเป็นคำนั้นอาจจะทำให้เราสับสน และลืมง่าย วิธีการที่ผู้เขียนจะพูดถึงนี้เป็นการแยกคุณสมบัติของความหมายของคำ แต่ใช้ไม่ได้หมดทุกคำ ใช้ได้เฉพาะคำทั่วๆไป และพบเห็นกันบ่อย ซึ่งวิธีช่วยให้จำง่ายขึ้น เมื่อเข้าใจวิธีในการแยก จะสามารถจำได้ และช่วยให้สะกดคำที่ถูกต้อง อย่างง่ายดาย
การใช้ "กระ" ใช้กับความหมายที่มีคุณสมบัติที่สามารถใส่ได้ อะไรก็ตามที่สามารถใส่ได้ให้นึกถึง "กระ" ขึ้นมาทันที
กระบะ (ใส่ของได้) กระทะ (ใส่อาหารได้)
กระโปรง (สวมใส่ได้) กระเพาะ (ใส่อาหารที่เรากินเข้าไป)
กระบุง (ใส่ของ) กระเชอ (ภาชนะชนิดหนึ่ง ใส่ของ)
ส่วนการใช้ "กะ" ใช้กับความหมายที่มีคุณสมบัติที่ไม่สามารถใส่ได้ เป็นความหมายทั่วๆไป ที่มีคุณสมบัติเพียงอย่างเดียว หรือใช้เป็นชื่อเรียก คำเรียกของสิ่งนั้น เช่น
กะเพรา (ผักชนิดหนึ่ง) กะพง (ปลา)
กะรัต (หน่วยมาตราชั่งพลอย) กะหรี่ (เครื่องปรุงอาหารชนิดหนึ่ง)
กะเทย (เพศชายบุคลิกเป็นหญิง) กะลา (ส่วนแข็งที่หุ้มเนื้อมะพร้าว)
3
ดังนั้น คำว่า กะเทย, กะหรี่ จึงไม่มี ร ควบกล้ำ เพราะทั้งสองคำมีคุณสมบัติเป็นชื่อเรียก หรือคำเรียกของสิ่งนั้น
อย่างไรก็ตาม วิธีการแยกในลักษณะนี้ไม่สามารถใช้ได้หมดทุกคำ แต่เป็นการแยกเฉพาะคำทั่วไปที่จะช่วยให้ทุกคนจำได้ง่ายยิ่งขึ้น
เป็นอย่างไรบ้างครับกับบทความนี้ เพื่อนๆเคยสะกดคำไหนผิด อย่าลืมคอมเมนท์นะครับ ถ้าไม่อยากพลาดสาระดีๆ ฝากกดติดตามเพจ ภาษาไทยใกล้ตัว เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความต่อไปด้วยนะครับ แล้วภาษาไทยจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป กราบขอบพระคุณผู้อ่านทุกๆท่านนะครับ
อ้างอิง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 https://dictionary.orst.go.th/
1
โฆษณา