5 ม.ค. 2021 เวลา 18:16 • สุขภาพ
การตรวจหาเชื้อโควิดโดยชุดตรวจแบบ rapid test ดีไหมนะ แล้วต่างจาก RT-PCR ยังไง วันนี้มีคำตอบ…
ก่อนอื่นเลยถ้าพูดถึง COVID-19
เชื้อไวรัสที่กำลังระบาดหนักอยู่ในตอนนี้
หลายคนคงจะทราบชื่อ และรู้จักกันดีแล้ว
ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ที่หลายประเทศ
รวมถึงประเทศไทยเองก็ตามได้รับผลกระทบหนัก
นั่นก็พิสูจน์แล้วว่า
เชื้อตัวนี้ไม่ได้กระจอกอย่างที่ใครเค้าว่า…
วันนี้เลยอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักเชื้อไวรัสตัวนี้ให้ถ่องแท้ และอยากให้ทุกคนทราบถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ควรรู้ รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวเมื่อตัวเองและคนใกล้ชิดเข้าข่าย มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อมาฝากกัน
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักเจ้าเชื้อไวรัสตัวนี้กันก่อน
เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ตั้งชื่อให้เก๋ๆอย่างเป็นทางการว่า
“ Coronavirus disease starting in 2019(COVID-19) “
ภาพเชื้อ COVID-19 ภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จากตัวอย่าง Nasopharyngeal swab
ขอขอบคุณภาพจาก https://www.cdc.gov/media/subtopic/images.htm
ลักษณะของเชื้อรูปร่างคล้ายมงกุฏ ขนาดประมาณ 0.12 ไมครอน(คูณสิบยกกำลังลบหก) ซึ่งเล็กมากๆไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่องถึงจะเห็น โดยไวรัสชนิดนี้เป็น RNA virus กล่าวคือ มันมีสารพันธุกรรมที่เป็นอาร์เอ็นเอ
ความน่ากลัวของมันคือ โอกาสการกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าดีเอ็นเอไวรัส
ขอบคุณภาพจาก https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-981-15-4814-7_3
ส่วนประกอบของเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย
- มีสารพันธุกรรมเป็น RNA และเป็นไวรัสที่มี Envelope
ล้อมรอบ Nucleocapsid protein (N)
- มีส่วนแหลมที่ยื่นออกมารอบๆตัวมันคือ Spike glycoprotein(S) ซึ่งมันจะเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างตัวไวรัสกับผิวเซลล์ที่มีตัวรับ ACE2 receptor อยู่ซึ่งพบได้ที่เซลล์ของถุงลมปอดของคนเรา
- ตัวเชื้อมีส่วนของ Membrane glycoprotein(M) และ Envelope นี้จะช่วยให้ไวรัสยึดเกาะกับเซลล์ของโฮสต์ได้
แล้วเชื้อมีผลต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร
หลายงานวิจัย และทั่วโลกต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เชื้อมันมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะปอด ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงปอดจะอักเสบรุนแรง เชื้อจะไปทำลายเนื้อเยื่อปอด ทำให้การหายใจติดขัด ต้องใส่ทิวบ์และเครื่องช่วยหายใจ
1
เชื้อติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางละอองฝอยจากการไอ จาม และ สารคัดหลั่งต่างๆในระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นจึงเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเป็น Nasopharyngeal swab และ Throat swab
ด้วยความที่เชื้อมีขนาดเล็ก มันสามารถฟุ้งกระจายไปในอากาศได้ เขาจึงรณรงค์ให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดเพื่อป้องกันตัวเอง
ในเรื่องของตรวจหาตัวเชื้อ
ถ้าเป็น RNA-virus จะต้องตรวจหาเชื้อด้วย
วิธี RT-PCR(Reverse transcription polymerase chain reaction)
เอ…มันต่างจากPCR ปกติอย่างไง🤔
ต้องท้าวความอย่างนี้ก่อน
การทำ PCR คือการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม PCR ปกติจะเพิ่มจำนวน DNA จาก DNA (มี DNAเป็นต้นแบบ) จาก DNA ที่น้อยๆให้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการสกัด DNA จากตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ
ส่วน RT-PCR จะต่างกับ PCR ปกติตรง สกัดจากสิ่งส่งตรวจแล้วได้ RNA และใช้ RNA เป็นต้นแบบในการเพิ่มจำนวน DNA จะต้องใส่เอนไซม์ Reverse transcriptase ซึ่งจะเปลี่ยน RNA ให้เป็น cDNA(complementary DNA) ก่อนหลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ PCR ต่อไป
ในการตรวจหาตัวเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR เป็นวิธีที่ให้ผลชัดเจนและถือเป็นการตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยทำการเก็บตัวอย่าง Nasopharyngeal swab และ Throat swab ด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสการพบเชื้อ เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อย จึงทำการสกัดเชื้อจากตัวอย่างดังกล่าวแล้วเพิ่มจำนวนเชื้อด้วย RT-PCR เพื่อทำการ detect เชื้อ สำคัญที่สุดคือการออกแบบ primer ที่สอดคล้องกับส่วนประกอบของเชื้อ
ขอขอบคุณภาพจาก https://www.globalbiotechinsights.com/articles/20247/the-worldwide-test-for-covid-19
ข้อดีของการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจเจอเชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ บางครั้งเราอาจพบว่า คนที่ติดเชื้อโควิด-19ไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกายและสามารถแพร่เชื้อให้แก่คนที่ภูมิต้านทานตำ่ได้ ดังนั้น หากรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยง เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงของการระบาดของโรค ควรไปตรวจและกักตัวเองเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด
เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการตรวจโดยวิธี Rapid test ที่เป็นชุดตรวจแบบ Strip หน้าตาจะคล้ายๆที่ตรวจครรภ์ ซึ่งมีทั้งแบบตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ และแอนติบอดีต่อเชื้อในเลือด แต่ที่นิยมตรวจกันคือ COVID-19 IgM & IgG แอนติบอดี ซึ่งเป็นชุดตรวจที่เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น เพียงแค่หยดเลือดลงไปทดสอบ ข้อดีคืออ่านผลง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ ใช้ตรวจยืนยันการติดเชื้อไม่ได้ ถ้าผลของ Rapid test เป็น negative ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไข้ไม่ได้ติดเชื้อ บางรายอาจเป็นเพราะพึ่งได้รับเชื้อ ร่างกายยังไม่สร้างภูมิคุ้มกันจึงตรวจไม่พบ แต่ถ้าผลขึ้น positive แสดงว่าสร้างภูมิแล้วจะต้องพิจารณาต่อว่าเป็นชนิด IgM หรือ IgG ถ้า IgM ก็บ่งบอกว่าพึ่งติดเชื้อแล้วสร้างภูมิเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน ส่วน IgG positive ก็บ่งบอกว่าติดเชื้อมานานแล้ว หายแล้ว การตรวจหาแอนติบอดีมีข้อเสียคือ ถ้ารับเชื้อมาแล้วร่างกายยังไม่สร้างภูมิ จะตรวจไม่พบแอนติบอดี ดังนั้น การตรวจหาแอนติบอดีต้องได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 2 week ประมาณ 14 วัน หรือรับเชื้อมาเกิน 10 วันขึ้นไปเริ่มแสดงอาการ แล้วถึงจะตรวจพบแอนติบอดีได้ในกรณีได้รับเชื้อมาแล้วสร้างภูมิ
ขอขอบคุณภาพจาก https://primahometest.com/en/covid-19_serological_test
ตัวอย่างชุดตรวจแบบ Rapid test
ขอขอบคุณภาพจาก https://reallaboratory.com/product/all-test-covid19-rapid-test/
ข้อควรรู้เกี่ยวกับชุดตรวจคัดกรองแบบ Rapid test โดยกระทรวงสาธารณสุข
ขอบคุณภาพจาก https://www.moph.go.th/index.php/news/read/1719
ข้อสำคัญ คือ ชุดตรวจแบบ Rapid test ห้ามซื้อมาตรวจเองนะ เพราะจะต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ต้องอาศัยผู้มีความรู้และสามารถให้คำแนะนำในการแปลผลได้และจะต้องทำโดยผู้ที่มีความรู้ในชุดตรวจเป็นอย่างดี
คำแนะนำ เรื่องแนวทางปฏิบัติตัวหากตนเองและคนใกล้ชิดเสี่ยงติดโควิด
1.หากพบว่าตนเอง หรือคนใกล้ชิด ที่คลุกคลีกับเรามีความเสี่ยง แนะนำให้ไปตรวจโดยไปตรวจกับทาง รพ.รัฐบาล ใช้สิทธิบัตรทองได้น้า หรือเอกชนใกล้บ้านท่าน หากใครใช้สิทธิประกันสังคมก็จะตรวจฟรีในครั้งแรก ส่วนใครที่มีความเสี่ยงสูง สัมผัสหรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงสามารถแจ้งประวัติให้กับทาง รพ.ใกล้บ้านท่านแล้วขอตรวจโควิดฟรีได้ แต่จะต้องเข้าข่ายว่าไปข้องแวะกับกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการนะ
สำหรับใครที่ต้องการขอผล จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย
ขอขอบคุณภาพจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/27533
2.หากมีความเสี่ยง ควรกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ การสังเกตอาการเบื้องต้น มีไข้สูง ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น ไอแห้ง ปวดเหมื่อยกล้ามเนื้อ ในบางรายมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
3.งดเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะจังหวัดที่ควบคุมสูงสุด ในพื้นที่สีแดง เพราะการระบาดถือว่าอัตราค่อนข้างสูง โอกาสที่เราจะนำเชื้อจากจังหวัดหนึ่งไปแพร่อีกจังหวัดจึงไม่ใช่เรื่องแปลก
4.ทำใจให้สบาย อย่าวิตกกังวลมากไป เอ…ตรูติดยังว่ะ
5.ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอและเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน โรคไต โรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ร่วมถึงผู้สูงวัยทั้งหลาย จงระมัดระวังตัวให้มากๆ เพราะโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติหลายเท่า
6.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด “ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ก็ยังใช้ได้อยู่
สุดท้ายนี้ อยากให้ทุกคนเข้มแข็ง และมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโควิด และผ่านพ้นวิกฤติการระบาดระลอกสองไปได้ด้วยกัน สู้ๆ :)
อ้างอิงข้อมูลจาก
@Super lab man_ยอดมนุษย์แลป🔬
06/01/2564
โฆษณา