พารากราฟต้นนี้คนที่อยากจะพูดถึงที่สุดจะยังไม่ใช่ตัวผู้กำกับซักเท่าไหร่ แต่เป็นนักแสดงนำชายซะมากกว่า เขาคนนั้นคือ Marlon Brando นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำงานว่าจะไม่มีใครควบคุมเขาได้แม้กระทั่งผู้กำกับก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือในปีเดียวกันนั่นเอง Brando มีผลงานขึ้นหิ้งอีกเรื่องนึง ที่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนิกที่น่าสนใจของวงการภาพยนตร์อเมริกัน นั่นคือการรับบท “Don Vito Corleone” ในภาพยนตร์เรื่อง “The Godfather” ทั้งนี้ทั้งนั้น Brando ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายและได้รางวัล กับเรื่อง The Godfather สำหรับ Oscar ปี 1973 และเข้าชิงอีกเช่นกันใน Oscar ปี 1974 กับ Last tango in Paris แต่ไม่ได้รางวัล
มีเกร็ดสำหรับเรื่องราวของ Brando ที่น่าสนใจระหว่างการถ่ายทำ Last Tango in Paris คือเขาเป็นนักแสดงที่ไม่ท่องบท และจะด้นสดหน้ากล้องเสมอ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ออกมาคือการได้อารมณ์ที่ ‘สด’ เป็นธรรมชาติ และเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า บทของแบรนโดในเรื่องนั้น จะเป็นเป็นบทบาทที่เขาต้องแสดงเป็นตัวละครที่ไม่แคร์โลก ใช้ชีวิตด้วยความสนุกเพื่อหนีความเจ็บปวด ในตรงนี้ทำให้นึกถึงตัวละคร Tomas ใน The Unbearable Lightness of Being (1988) ที่นำแสดงโดย Daniel Day-Lewis แตกต่างกันเพียง Tomas ไม่ได้มีปูมหลังที่เจ็บปวดแต่อย่างใด
Brando กับการแต่งหน้าเป็น Vito Corleone ใน The Godfather (ภาพขวา)
Bernardo Bertolucci เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาเลียนที่มีผลงานโด่งดังมากมาย และเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ แจ้งเกิดจาก The Conformist (1970), Last Tango in Paris (1972) ก่อนจะโด่งดังสุดขีดใน The Last Emperor (1987) งานของแบร์โตลุชชี่มักจะพูดถึงเรื่องราวทางการเมือง โดยนำเสนอผ่านความเปราะบางของตัวละคร เซ็กส์ และความสัมพันธ์ของตัวละคร ทั้งงานของเขาเองยังโดดเด่นในเรื่องของการดีไซน์งานภาพที่ “ซีเนมาทิก” ดีไซน์โลกของตัวเองได้เฉพาะตัวมากๆ (และเป็น “ซีเนมาทิก” ที่ผู้เขียนชื่นชอบอีกด้วย)
สำหรับ Last Tango in Paris นั้น แบร์โตลุชชี่สร้างเรื่องราวส่วนใหญ่ให้เกิดอยู่ในโลเคชั่นเดียว ซึ่งก็คือรังรักแสนสวาทของ 2 ตัวละคร เรื่องราวจะนำเสนอผ่านให้เห็น 3 ด้าน คือ 1. ระหว่างที่พระเอกกับนางเอกอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะเป็น ‘ห้องสวาท’ ของทั้งสองซะเป็นส่วนใหญ่ 2. คือชีวิตส่วนตัวของนางเอก ที่ภาพยนตร์ได้แทรกเพื่อให้เห็นชีวิตส่วนตัว สภาพแวดล้อม อันนำสู่วิธีคิดของนางเอก เป็นวัยรุ่นที่สนุกอยากรู้อยากลอง 3. คือชีวิตส่วนตัวของพระเอก แสดงให้เห็นถึงปมในชีวิตของเขาที่นำมาสู่การเป็นคนไม่แคร์โลกในปัจจุบัน
Bertolucci (ซ้าย) กับ Schneider ในกองถ่าย (ขวา)
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่อุดมไปด้วย “Sex Scene” ที่ทุกฉากการมีเซ็กส์ล้วนสื่อความหมายว่าตัวละครกำลังพัฒนาไปสู่จุดไหน และความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอกกำลังเป็นรูปแบบใด Roger Ebert บอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้การสื่อความหมายผ่าน Sex Scene คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง In the Realm of the Senses (1976) ของ Nagisa Ôshima ที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคู่รักที่พัฒนาไปเรื่อยๆผ่านกิจกรรมสังวาสนี้ บางคนยังบอกอีกว่าจริงๆแล้วภาพยนตร์ของโอชิมาพูดถึงความก้าวร้าวของรัฐบาลทหารที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆต่างหาก (ก็เป็นเรื่องที่หากสนใจก็ต้องเอาไปวิเคราะห์กันต่อไป!)
แบร์โตลุชชี่บอกว่าที่หนังของเขาอุดมไปด้วยฉากเซ็กส์ซีนเหล่านี้เป็นเพราะว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์มาจากการดูผลงานของ Andy Warhol ในเรื่อง Blue Movie (1969) ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็เป็นหนังโป๊ดีๆนี่เอง! ผสมกับความฝันของตนเองที่ฝันว่าได้พบเจอกับผู้หญิงปริศนาคนหนึ่งแล้วร่วมรักกัน นี่จึงเป็นที่มาของการที่ตัวละครหลักทั้งสองตัวพบเจอกันแต่จะไม่ถามไถ่ชื่อกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้สนุกสนานไร้ข้อผูกมัด ทั้งแบร์โตลุชชี่ยังได้แรงบันดาลใจในการออกแบบตัวละครและบรรยากาศของเรื่องมาจากงาน Painting ของ Francis Bacon ศิลปินในลัทธิ Expressionism (แสดงพลังอารมณ์) ซึ่งแบร์โตลุชชี่บอกว่างานของเบคอนเปรียบเสมือนคนที่ถูกกัดกินจากภายในจิตใจ ทั้งการลงสีของเบคอนเองก็เปรียบเสมือนกับบรรยากาศของกรุงปารีสในฤดูหนาว และนี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้อง Last Tango กันใน Paris
งาน Painting ของ Francis Bacon ในเรื่อง
ดังนั้นจึงนำมาสู่งานภาพของกรุงปารีสในฤดูหนาวที่ถูกถ่ายทำโดยผู้กำกับภาพ Vittorio Storaro นอกจากเรื่องสีสันของภาพยนตร์ อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเล่าเรื่องก็คือการเคลื่อนกล้องไปมา ซึ่งขับโลกแห่งความฝันของแบร์โตลุชชี่ให้เต็มอรรถรสมากยิ่งขึ้น สำหรับ Storaro เขาเป็นผู้กำกับภาพชื่อดังที่โด่งดังกับการออกแบบช็อตภาพยนตร์แบบลองเทค เน้นช็อตการแสดงต่อเนื่องของนักแสดง และอาร์ตไดเรคชันในภาพจะมีสีสันที่บาดตา ตัวอย่างของงานที่เด่นที่สุดของ Storaro คือ The Conformist, Apocalypse Now (1979) และ The Last Emperor โดยแต่ละเรื่องงานภาพจะมีจุดเด่นอย่างที่กล่าวไป
ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro
ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย Gato Barbieri ศิลปินแจ๊สแซ็กโซโฟนชาวอาเจนติน่าที่เส้นเสียงของดนตรีจะมีอิทธิพลของละตินเคลือบแฝง สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น Gato ใช้แซ็กโซโฟนในการบรรเลงพร้อมทั้งได้ Orchestra ของ Oliver Nelson ร่วมสร้างอารมณ์เคล้าบรรยากาศหมองหม่นของปารีส
อีกเรื่องหนึ่งที่จะไม่พูดก็ไม่ได้ก็คือเรื่อง “Butter Scene” ที่ในเรื่องคือซีนที่พระเอกต้องข่มขืนนางเอกทางทวารหนัก โดยเกร็ดที่เป็นที่พูดถึงคือในตอนบรีฟนักแสดงก่อนที่จะเข้าฉากนั้น มีเพียงผู้กำกับแบร์โตลุชชี่กับพระเอกอย่างแบรนโดเท่านั้นที่รู้กันว่าซีนนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่นางเอกอย่าง Maria Schneider ไม่รู้ พอเริ่มการถ่ายทำชไนเดอร์จึงตกใจมาก และหลั่งน้ำตาออกมาจริงๆ ในเหตุการณ์นี้ชไนเดอร์บอกว่าเธอเหมือนถูก “ข่มขืนทางอารมณ์” และชีวิตเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บทสัมภาษณ์ของชไนเดอร์ที่สัมภาษณ์กับ The Daily Mail ในปี 2008 นี้ถูกเปิดเผยออกมา จึงทำให้มีนักแสดงร่วมวงการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชไนเดอร์ ทั้ง Jessica Chastain, Anna Kendrick รวมถึง Chris Evans ส่วนทางด้านแบร์โตลุชชี่บอกว่าฉากนี้เขาต้องการให้ชไนเดอร์แสดงความรู้สึกจริงๆ ภายหลังเขารู้สึกผิด แต่ไม่ได้เสียใจอะไรกับเหตุการณ์นี้
สำหรับเรื่องศีลธรรมของธุรกิจภาพยนตร์นั้นก็เป็นอีกเรื่องที่เราต้องไปถกเถียงกันต่อ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงคุณูประการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ฝากเอาไว้ อันในระดับมาสเตอร์พีซนั้น Last Tango in Paris ถือเป็นงานวิเคราะห์ตัวละครผ่านการร่วมรักที่งานหลายเรื่องรุ่นหลังจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และการแสดงระดับมาสเตอร์ของ Marlon Brando ที่โดยส่วนตัวผมชอบมากกว่าบทของเขาใน The Godfather ซะอีก พร้อมแล้วกับบรรยากาศแทงโก้ในบรรยากาศฤดูหนาวของปารีส ยินดีต้อนรับเข้าสู่ห้องแห่งความฝัน