7 ม.ค. 2021 เวลา 00:30
DAY 6: โควิด กับ เครดิตบูโร ไม่รู้ว่าจะ “ติด” อะไรก่อนกัน
นี่คือข้อความหนึ่งที่ส่งเข้ามาในคอมเมนต์ ตอนผมจัดรายการมันนีโค้ชพบประชาชน เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา
เชื่อว่าตอนนี้คนไทยจำนวนไม่น้อย น่าจะอยู่สภาวะคล้ายๆ กัน คือ สุขภาพก็ต้องระวัง การเงินก็ต้องคอยระแวง ในมุมหนึ่งก็ห่วงว่าตัวเองจะติดเชื้อโควิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ห่วงงาน ห่วงกิจการ ห่วงความมั่นคงทางรายได้ กลัวว่าโควิดระลอกใหม่จะมากระทบ ทำให้รายได้ลดลงหรือหายไป
ลำพังรายได้หายไป กินอยู่ใช้จ่ายก็ลำบากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าปัจจุบันมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนส่งอยู่ด้วย แบบนี้ยิ่งเหนื่อยกันไปใหญ่ เพราะถ้ารายได้หายไป ก็จะไม่มีเงินผ่อนชำระหนี้หรือมีไม่พอ ส่งผลต่อเครดิตการเงิน กระทบต่อโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต ต่อเนื่องกันยาวเป็นลูกโซ่
จำได้ว่าในรายการผมหยิบคอมเมนต์นี้มาพูดคุย ให้กำลังใจแล้วก็ชวนคิดกันว่า “ถ้าเราจะรอดทั้งคู่ ไม่ติดอะไรเลย ไม่ว่าจะเชื้อโควิด และประวัติเครดิตที่เสียหาย” จะทำอย่างไรได้บ้าง
สำหรับประเด็นสุขภาพ ผมว่าเรารู้กันหมดแล้วหละ ว่าต้องทำอะไรบ้าง ถึงจะป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิดได้ ไม่ว่าจะเป็น ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือมาจับหน้าจับตา ใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างกันสักหน่อย หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยง ผมว่าพวกเราดูแลตัวเองและให้ความร่วมมือกันเต็มที่อยู่แล้ว
จะสังเกตว่า ตัวเราเองก็ไม่รู้หรอกว่าเชื้อโรคอยู่กับใคร อยู่ที่ไหน แต่เราก็ใช้หลัก “ป้องกัน” เอาไว้ก่อน ในอีกด้านหนึ่งที่เป็นเรื่องเครดิตการเงิน ผมว่าเราก็สามารถใช้วิธีคิดเช่นเดียวกันได้ครับ คือ ป้องกันไว้ก่อน ตามแนวทางต่อไปนี้
1. ลองจัดทำรายการรับจ่ายของครัวเรือนเรา ล่วงหน้าไปอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อตรวจดูสภาพคล่องทางการเงิน
รายการรับจ่ายก็ทำแบบง่ายๆ สไตล์เราเองเลย ขึ้นต้นด้วย “รายรับ”​ จะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าแรง แล้วแต่รายได้เราเป็นรูปแบบไหน ลองประเมินตามจริงดู
ใครทำงานประจำ แล้วถูกลดค่าล่วงเวลา ลดคอมมิชชั่น ไปยันลดเงินเดือน ก็ใส่ตัวเลขรายรับในแต่ละเดือนแบบที่คาดว่าน่าจะได้ (ขอเป็นขั้นต่ำ) เพื่อจะได้ข้อมูลเอามาประเมินสภาพคล่องได้ถูก
ใครไม่ได้ทำงานประจำ เช่น ฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ ก็ให้ประมาณรายได้แบบประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เช่น 3 เดือนแรกของปี ยอดขายอาจหายไป 30% 50% เป็นต้น ผมว่าเราเคยผ่านช่วงล๊อคดาวน์เมื่อปีที่แล้วมาแล้ว ตัวเลขนี้น่าจะประมาณการได้ใกล้เคียงมากขึ้น
จากนั้นลงข้อมูลรายจ่ายทั้งหมดลงไป ลงให้ครบ อย่าให้ตกหล่น สุดท้ายก็เอารายรับตั้งลบด้วยรายจ่าย แล้วดูสิว่า 6 เดือนต่อจากนี้ การเงินเรา​ “ติดลบ” หรือเปล่า ติดลบทุกเดือนมั้ย หรือมีเดือนไหนติดลบเป็นพิเศษ
ถ้าทำตัวเลขแบบประเมินสถานการณ์แบบเลวร้ายแล้วไม่ติดลบ ก็ให้ควบคุมวินัยการใช้จ่ายตามงบที่เราประมาณการไว้ เพราะงบการเงินที่เป็นบวก มันยังคงเป็นแค่กระดาษนะครับ จะกว่าเราจะทำมันให้เป็นจริง
2. ถ้าสภาพคล่องติดลบ (ย้ำ! ติดลบ) ให้วางแผนลดค่าใช้จ่ายคงที่ โดยให้เริ่มจากการเจรจายอดผ่อนชำระหนี้ทุกรายการก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยไล่เรียงไปหาค่าใช้จ่ายส่วนตัว
คนที่การเงินติดลบ การประหยัดการบริโภคในครอบครัวจะช่วยเรื่องสภาพคล่องได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เท่ากับการลดรายจ่ายคงที่จากค่างวดผ่อนชำระหนี้ ดังนั้นให้วางแผนเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ทุกราย จะโทรติดต่อหรือไปที่สาขา ยังไงก็ได้ครับ แต่ก่อนไปคุยวางแผนสักนิดนึงว่าหนี้แต่ละรายการเราจะขอลดค่างวดอย่างไร
(กรณีมีเจ้าหนี้หลายราย ทั้งสถาบันการเงินที่เป็นธนาคาร และที่ไม่ใช่ธนาคาร อาจลองติดต่อทั้งหมดคราวเดียว ผ่านทาง “ทางด่วนแก้หนี้” ก็จะช่วยประหยัดเวลาได้เป็นอย่างดี ติดต่อทางด่วนแก้หนี้ที่ลิงค์นี้ครับ https://www.1213.or.th/App/DebtCase)
1
ทั้งนี้ต้องทำตัวเลขบนกระดาษก่อนนะ ว่าถ้าหนี้แต่ละรายการลดงวดผ่อนไปตามแผนที่เราคิดไว้ มันช่วยเรื่องสภาพคล่องของเราได้จริงหรือเปล่า อย่าสักแต่ขอไปที ให้พอได้ทำ แต่ผลลัพธ์โดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง แบบนี้ถือไม่มีประโยชน์ครับ
แนวทางการเจรจาเรื่องของผ่อนชำระ แนะนำให้เป็นตามลำดับขั้นดังนี้
ก) ขอพักชำระทั้งยอดผ่อน (กรณีหนักมาก)
ข) ขอพักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ย
ค) กรณีดอกเบี้ยกับยอดผ่อนต่อเดือนใกล้กันมาก ให้ขอลดดอกเบี้ย หรือลองเจรจาอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ได้ลดค่างวดและไม่ผิดเงื่อนไขดอกเบี้ย
ง) ลองขอยืดหนี้สั้นเป็นหนี้ยาว เพิ่มจำนวนงวด ให้ผ่อนต่อเดือนต่ำลง
(ผลลัพธ์ของการเจรจาต้องบอกนะครับว่า แล้วแต่กรณี Case by Case จริงๆ ยังไงผมแนะนำให้พูดคุยพร้อมแสดงงบรายรับรายจ่ายของเรากับทางสถาบันการเงินด้วย)
แนวทางต่างๆ ที่เล่ามาให้พูดคุยเจรจาพร้อมระบุกรอบเวลาด้วย เช่น ขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 6 เดือน แล้วจะกลับมาจ่ายเต็มจำนวนตามปกติตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป อย่าพูดขอ โดยไม่มีระยะเวลาที่ชัดเจน ลองนึกภาพว่าเราเป็นเจ้าหนี้บ้าง แล้วลูกหนี้เรามาขอพักชำระหนี้ ไม่จ่ายเลย แล้วก็ไม่บอกด้วยว่านานแค่ไหน เราจะรู้สึกอย่างไร
หัวใจสำคัญของการเจรจา คือ ต้องทดลองทำตัวเลขบนกระดาษงบรายรับรายจ่ายของเราก่อน เพื่อให้เห็นว่าเงื่อนไขที่เราขอกับทางสถาบันการเงิน ช่วยให้มีสภาพคล่องผ่านพ้นปัญหาได้จริงหรือเปล่า อย่าขอเขาชุ่ยๆ รับปากไปมั่วๆ พอให้ผ่านไปที แล้วก็ไปมีปัญหาผิดนัดชำระเขาทีหลัง แบบนี้เรียก ไม่มีความรับผิดชอบได้เหมือนกันนะครับ
ผมเองก็ไม่ทราบว่า หลังจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการกลางอะไรออกมาเพื่อช่วยลูกหนี้หรือเปล่า แต่เรื่องแบบนี้ในมุมมองของผม ถ้าประเมินว่าตัวเรามีแนวโน้มที่จะมีปัญหา คุยก่อนได้เลยครับไม่ต้องรอ
3. จัดสรรเงินสำรอง หรือรายได้เสริม เพื่อมาเติมสภาพคล่องส่วนที่ขาด
ถ้าปรับลดรายจ่ายคงที่ทุกทางแล้วยังไม่พอ ให้พิจารณานำเงินสำรองมาเติมส่วนที่ยังขาดในแต่ละเดือน แต่ถ้าไม่มีเงินสำรองอยู่เลย ให้คิดเรื่องการหารายได้เพิ่มได้แล้วครับ แบบนี้รอนานไปจะยิ่งแย่ หยิบจับทำอะไรก่อน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าในระยะยาว
สำหรับใครที่สนใจแนวทางจัดการเงินสู้วิกฤต ผมเคยคุยไว้ให้ฟังบ้างแล้ว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Youtube นี้ครับ
สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า ไม่ว่าพิษภัยด้านสุขภาพหรือพิษภัยทางการเงิน เราสามารถป้องกันตัวเองให้ลดความเสี่ยงจากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หลักสำคัญคือ ตัวเราเองต้องรับผิดชอบและกระตือรือร้นต่อปัญหามากกว่าในสภาวะปกติสักหน่อย เราก็จะสามารถผ่านมันไปได้
ทั้งโควิดและประวัติการชำระหนี้ เราเลือกไม่ติดทั้งคู่ได้ครับ ขอแค่เราตั้งใจที่จะเป็นผู้รอดจริงๆ และลงมือป้องกันทุกอย่างตั้งแต่วันนี้
(เอาเข้าจริง! ตอนนี้ผมว่าประวัติเครดิตอาจจะป้องกันได้ง่ายกว่าด้วยนะ)
โค้ชหนุ่ม
05-01-2021
โฆษณา