7 ม.ค. 2021 เวลา 02:29 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โครงการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ของเกาหลีใต้
สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ ได้ประกาศริเริ่มโครงการสำรวจดวงจันทร์ “Lunar Exploration Project” ไว้ในปี ค.ศ.2015 โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถนำอวกาศยานโคจรเพื่อไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ภายใน 5 ปี
ซึ่งเมื่อนับมาจนถึงปัจจุบันก็ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว วันนี้จึงขอพาทุกท่านร่วมติดตามเรื่องราวว่าแผนการเดินทางไปดวงจันทร์ของประเทศเกาหลีใต้วางแผนไว้เป็นแบบไหน มีความก้าวหน้าอย่างไร มีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร ตลอดจนการไปดวงจันทร์จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศได้เพียงใด เพื่อเป็นอีกหนึ่งข้อมูลตัวอย่างซึ่งหยิบยกมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย
Korea Pathfinder Lunar Orbiter (KPLO) Mission
หลังจากที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แล้ว Korean Aerospace Research Institute (KARI) จึงกำหนดแผนพัฒนาโครงการสำรวจอวกาศ โดยจะเริ่มต้นจากการส่งอวกาศยานเพื่อสำรวจดวงจันทร์ในปี ค.ศ.2016 และจะส่งยานที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ในปี ค.ศ.2020 ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของเกาหลีใต้ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นก้าวแรกสำหรับการสำรวจอวกาศในห้วงลึกต่อไป ตลอดจนเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของความสำเร็จในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยโครงการนี้ได้วางแผนการดำเนินการไว้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างละเอียดซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 เฟส กล่าวคือ เฟสที่ 1 จะเป็นการพัฒนาอวกาศยานเพื่อสำรวจอวกาศโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ กับองค์การบริหารด้านการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งพัฒนาและเรียนรู้ในเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ การสื่อสารคมนาคมในอวกาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีของอุปกรณ์ Payload และในเฟสที่ 2 จะมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนขั้นตอนต่าง ๆ ด้วยตนเอง อาทิเช่น การพัฒนาอวกาศยาน การยิงนำส่ง เป็นต้น
Pathfinder คือ อวกาศยานที่ใช้ในการเดินทางไปดวงจันทร์ โดยได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ Payload ต่าง ๆ ซึ่งมี 5 อุปกรณ์หลัก กล่าวคือ กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง (Resolution 5 เมตร), กล้องถ่ายภาพพื้นที่กว้างแบบ Polarized, เซนเซอร์สนามแม่เหล็ก, เซนเซอร์รังสี Gamma และ อุปกรณ์ทดสอบระบบอินเตอร์เนตในอวกาศ ที่ผลิตขึ้นเองโดยเกาหลีใต้ ซึ่งในปัจจุบันได้รับการประกาศความก้าวหน้าแล้วประมาณ 70% ร่วมกับอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า “Shadow Cam” ซึ่งคืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับถ่ายภาพในมุมมืดบนดวงจันทร์ที่ผลิตและสนับสนุนโดย NASA มีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัมและใช้งบประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ KARI ได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านกิจการอวกาศที่เรียกว่า Korea Pathfinder Lunar Orbiter (KPLO) Mission ร่วมกับ NASA ไปแล้วในเดือน ธ.ค. ปี ค.ศ.2016 โดยจะให้ความร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนภารกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการออกแบบ ระบบติดต่อสื่อสาร และ ระบบนำร่อง เป็นต้น การร่วมมือระหว่างสององค์กรในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกส่วนสำคัญที่เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้กับโครงการ
ภาพจำลองการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์
การเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์อาจไม่ใช่สิ่งที่ง่ายตามที่วางแผนไว้ แม้จะประสบความสำเร็จในขั้นตอนการออกแบบ แบบ Preliminary Design เรียบร้อยในปี ค.ศ.2017 หากแต่ในขั้นตอนการออกแบบในรายละเอียดเชิงลึกทางเทคนิคแบบ Detailed Design พบว่า KPLO ที่ได้รับการออกแบบ มีน้ำหนักมากเกินข้อจำกัดสำหรับการยิงนำส่ง กล่าวคือ เพิ่มขึ้นจาก 550 กิโลกรัม เป็น 678 กิโลกรัม ทำให้จะต้องปรับปรุงรายละเอียดในการออกแบบเพิ่มเติม เช่น ลดเวลาที่จะโคจรรอบเดือนจันทร์จากประมาณ 1 ปีเหลือประมาณ 9 เดือน และเพิ่มระยะสูงในการโคจรดังกล่าวจากประมาณ 100 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว เป็นประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นต้น โดยในปลายปี ค.ศ.2019 KARI ได้ประกาศเลื่อนกำหนดการจากกำหนดการเดิมที่จะยิงนำส่งอวกาศยานในเดือน ธ.ค. ปี ค.ศ.2020 เป็นเดือน ก.ค. ปี ค.ศ.2022 โดยจะใช้จรวดนำส่ง Falcon 9 ของ SpaceX และจะยิงนำส่งจากท่าอวกาศยาน Cape Canaveral ทั้งนี้จากการเลื่อนกำหนดการในครั้งนี้ ส่งผลโดยตรงต่องบประมาณที่ใช้ จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็นประมาณ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ งบประมาณที่ต้องการเพิ่มเติมนี้ได้รับการเปิดเผยว่า ประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในส่วนการยิงนำส่งร่วมกับ SpaceX และอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยและการทดสอบเพิ่มเติม
โครงการสำรวจดวงจันทร์นี้ เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นของ KARI ว่าการไปดวงจันทร์นั้น จะส่งผลให้เกิดพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศอย่างรวดเร็ว นำไปสู่พัฒนาการด้านอวกาศเบื้องลึกต่อไป และที่สำคัญความสามารถด้านกิจการอวกาศจะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญของความสำเร็จของประเทศในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเป็นการแสดงพลังอำนาจของชาติอีกด้วย โดยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา หลายประเทศในทวีปเอเชียได้แข่งขันกันอย่างมากในด้านกิจการอวกาศและการเดินทางไปดวงจันทร์ เช่น การเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ของอวกาศยานของประเทศจีนและญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.2007 หรือ ของประเทศอินเดียในปี ค.ศ.2008 เป็นต้น และมีแนวโน้มจะทำการสำรวจเข้าไปในอวกาศส่วนลึกมากขึ้น เช่น ดาวอังคาร หรือดาวพฤหัส ต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว เกาหลีใต้จึงได้จัดทำโครงการสำรวจดวงจันทร์นี้ขึ้น โดยใช้ทุนในการวิจัยจากรัฐบาลเป็นหลักและมีหน่วยงานด้านการวิจัยภายในประเทศร่วมมือกันถึง 15 หน่วยงาน โครงการนี้มีความมุ่งหวังทั้งในด้านการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่า มากกว่า 70% ของประชาชนเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ และที่สำคัญได้มีการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ที่จะได้รับจากโครงการนี้จะสูงมากกว่าระดับพันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่าเงินที่ใช้ในการลงทุนกว่า 5 เท่า
Ms.Yi So-yeon นักบินอวกาศหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ ได้เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ระหว่าง 8 – 19 เม.ย.2008 นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ผ่านมาของ KARI
มารู้จักกับเราเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา