10 ม.ค. 2021 เวลา 23:30 • ประวัติศาสตร์
That Others May Live
Part.1
เจ้าหน้าปฏิบัติการพิเศษค้นหาและช่วยชีวิต หรือ เจ้าหน้าที่พีเจ ( PJ ; Pararecue Jumper) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พลร่มกู้ภัย” นั้น ซึ่งหน่วยนี้ถือเป็นหน่วยรบพิเศษหน่วยหนึ่งของ กองทัพอากาศ มีหน้าที่หลักๆ ในการปฏิบัติงานด้าน RESCUE ช่วยเหลือนักบินในพื้นที่การรบ
แต่ปัจจุบันขอบเขตการทำงานได้ขยายวงกว้างออกไปมาก เพราะนอกจากต้องเตรียมกำลัง ความพร้อมในยามศึกสงครามแล้ว ภารกิจอีกด้านหนึ่ง หน่วย “พีเจ” (PJ) ทำภารกิจช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ด้วย ซึ่งถือว่างานด้านนี้มีส่วนสำคัญมากมิใช่น้อย เพราะในยามที่ไม่มีสงคราม สิ่งหนึ่งที่ทหารพึงกระทำก็คือการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มความสามารถ
จากนี้เราลองมาดูกันนะครับว่า “ประวัติหน่วยพีเจ” นี้มีความเป็นมาและมีการฝึกเพื่อให้กลายเป็น “นักรบสายช่วยเหลือ” อย่างไรกันบ้าง??
ในอดีตสืบเนื่องจากยุคสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาได้นำกำลังทหารเข้ามาในผืนแผ่นดินไทย เพื่อใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นฐานในการรบกับเวียดนามเหนือ ซึ่งประเทศเวียดนามในขณะนั้นได้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ เวียดนามเหนือ ปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ และ เวียดนามใต้ ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย
สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะหยุดยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแบบฉบับของสหภาพโซเวียตที่ต้องการให้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า “คาบสมุทรอินโดจีน” กลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่เรียกว่า “ทฤษฎีโดมิโน” โดยขณะนั้นประเทศจีน ลาว กัมพูชาและพม่า ได้ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ไปแล้ว คงเหลือแต่เพียงประเทศไทย เวียดนามใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ยังไม่เป็นระบอบคอมมิวนิสต์
ดังนั้นเพื่อยับยั้งทฤษฎีดังกล่าว สหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้ ซึ่งเหมือนจะเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกาเองจึงต้องเข้าต่อสู้กับเวียดนามเหนือ โดยนอกจากเวียดนามเหนือแล้วยังมีกลุ่มพันธมิตรลัทธิคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุน อาทิ พวกเวียดกง ซึ่งเป็นแนวร่วมประชาชนคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้ที่ติดอาวุธเบา ได้รับการสั่งการจากเวียดนามเหนือ สหภาพโซเวียต ลาว และกัมพูชา
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมในสงครามด้วยโดยปริยาย กองทัพอากาศ ในขณะนั้นเองได้เริ่มจัดตั้ง หน่วยค้นหาและช่วยชีวิต หรือ พีเจ (PJ) ขึ้นปี พ.ศ.2518 - 2519 เพื่อเข้าช่วยเหลือนักบินที่ได้ทำการรบในสมรภูมิและตกลงในพื้นที่อันตรายให้กลับออกมาให้ได้ โดยจะรับเฉพาะเหล่าอากาศโยธิน (อย.) และเหล่าแพทย์ ไปปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิต ณ ศูนย์ส่งกลับทางอากาศ
และมีส่วนหนึ่งส่งไปประจำหน่วยบิน ฮ. ค้นหาและช่วยชีวิต โดยเริ่มแรกนั้นมีเจ้าหน้าที่ PJ เพียง 17 คน เท่านั้น และได้ทำการเปิดหลักสูตรเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิตรุ่นที่ 1 ให้กับกำลังพล ทอ.ขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2524 ซึ่งเมื่อสำเร็จหลักสูตรแล้วจะบรรจุเข้าสังกัด ฝูงบิน 201 และฝูงบิน 203 กองบิน 2 ลพบุรี ในปี 2526 ซึ่งเป็น “ฝูงบินเฮลิคอปเตอร์ช่วยชีวิต” ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานตามหน่วยบินเฮลิคอปเตอร์ช่วยชีวิต
หลักสูตรค้นหาและช่วยชีวิตได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรมาจนถึงรุ่นที่ 3 ขณะเดียวกันในปี พ.ศ.2519 ถือว่าเป็น พีเจ (PJ) รุ่นสุดท้าย จากนั้นในปี พ.ศ.2548 ได้เกิดเป็นหลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งได้มีการรวมศาสตร์การปฏิบัติการพิเศษของ กองทัพอากาศ ไว้ในหลักสูตรเดียว คือ “COMMANDO PJ” และ “CCT”
สำหรับการฝึกการเป็น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษค้นหาช่วยชีวิต นั้น ผู้รับการฝึกต้องจบหลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ กองทัพอากาศมาก่อน ซึ่งเป็นเหมือนพื้นฐานของการเป็นเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิต การฝึกที่สำคัญในห้วงแรกอันเป็นพื้นฐานนี้ ได้แก่ การฝึกการลงเชือกจากหน้าผา, การฝึกการลงเชือกทางดิ่งจากอากาศยาน ฮ., การฝึกลงเชือก Fast Rope, การฝึกการใช้ Hoist, การฝึกการเรียกอากาศยาน ฮ., การฝึกการช่วยเหลือทางน้ำ 10 feet 10 knot, การฝึกดำน้ำโดยใช้เครื่องช่วยหายใจใต้น้ำขั้นต้น, การฝึกการค้นหาและช่วยเหลือ, การฝึกการลาดตระเวนทางบกและทางน้ำ, การฝึกการดำรงชีพในป่า, การฝึกการใช้แผนที่เข็มทิศ, การฝึกบุคคลทำการรบ, การปฐมพยาบาลเวชกิจฉุกเฉินและการปฐมพยาบาลในพื้นที่การรบ, การฝึกโดดร่มแบบกระตุกเอง, การฝึกการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่การรบ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงพื้นฐานส่วนของการเข้าบรรจุเป็น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษค้นหาและช่วยชีวิต ทั้งนี้การฝึกที่สำคัญของ “เจ้าหน้าที่พีเจ” (PJ) เรียกว่า “การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ” หรือ“COMBAT SEACH AND RESCUE” หรือเรียกย่อว่า “CSAR” ซึ่งถือว่าเป็นงานหลักที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษค้นหาและช่วยชีวิต ทุกคนต้องรู้และต้องปฏิบัติได้โดยสมบูรณ์แบบ...
ในคราวหน้าเราลองมาดูกันนะครับว่า การฝึกเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษค้นหาและช่วยชีวิต มีรูปแบบการฝึกอะไรและยังไงบ้าง เพื่อให้กลายเป็น “เจ้าหน้าที่พีเจ” (PJ) อย่างสมบูรณ์แบบในตอนต่อไป
คอลัมน์ : IRON SOLDIERS ทหารเหล็ก มหากาฬ
โดย “จิ้งจอกทะเล”
โฆษณา