7 ม.ค. 2021 เวลา 12:21 • ไลฟ์สไตล์
คริปโตแสตมป์...เปิดโลกคู่ขนานวงการสะสม
เผยแพร่วันที่ 7 มกราคม 2564
ใช่แต่เพียงโควิด-19 ที่มีส่วนทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมาวงการสะสมแสตมป์ได้รับความสนใจมากขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงล็อกดาวน์ไปกับการซื้อขายออนไลน์สินค้าประดามี อันรวมถึงสินค้าประเภทสิ่งสะสมและแสตมป์เท่านั้น แต่ความล้ำยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเงิน หรือ “ฟินเทค” ด้วยเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ก็ยังช่วยเปิดโลกคู่ขนานให้แก่บรรดานักสะสมรุ่นใหม่ด้วย
ผู้คนในยุคนี้คงเริ่มคุ้นชินบ้างแล้วกับสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เรียนกันว่า “คริปโตเคอเรนซี่” โดยเฉพาะช่วงข้ามศักราชใหม่มาไม่นานที่ทำเอาบรรดานักลงทุนตาลุกวาวกันเป็นทิวแถวด้วยค่าเงินดิจิทัลทีชื่อ “บิตคอยน์” พุ่งขึ้นจากเหรียญละ 2 หมื่นกว่าดอลลาร์ทะลุเกิน 3 หมื่นดอลลาร์ หรืออีกนัยหนึ่งมีค่าเป็นเงินบาทสูงถึง 1 ล้านบาทเลยทีเดียว
เงินนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ทดแทนกันได้ตามมูลค่า แต่เมื่อฟินเทคขยายครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว แบบว่าต้องเป็นสิ่งนั้น ๆ โดยเฉพาะ เช่น บ้าน ที่ดิน ผลงานศิลปะ หรือของสะสม จึงมีการพัฒนารหัสมาตรฐานใหม่ที่เรียกว่า ERC-721 สำหรับสินทรัพย์ดังกล่าวที่เรียกว่า Non-fungible Token ให้เป็นเหรียญดิจิทัลแบบทดแทนกันไม่ได้ เท่ากับเปิดทางสว่างให้แก่สิ่งสะสมในโลกดิจิทัลไปโดยปริยาย
โอกาสนี้มาเคาะประตูวงการแสตมป์เพื่อการสะสมในปี 2562 โดยผู้บุกเบิกรายแรกคือ การไปรษณีย์ออสเตรีย จับมือกับเงินสกุลอีเธอเรียมของยุโรป และผู้ให้บริการคริปโตเคอเรนซี่ที่ชื่อโอเพ่นซี ร่วมกันออกแสตมป์บล็อกเชนเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมในปีนั้น ภายใต้ชื่อ Crypto stamp 1.0 ซึ่งมีทั้งดวงแสตมป์ที่ฉีกออกมาใช้งานตามปกติและเก็บสะสมได้ กับแสตมป์ในโลกเสมือนจริงที่ลงทะเบียนผ่านคิวอาร์โค้ด และรหัสกระเป๋าอิเลกทรอกนิกซึ่งจะระบุความเป็นเจ้าของและมีมูลค่าตามสกุลเงินดิจิทัลให้สะสมได้เช่นกัน
ด้วยจำนวนผลิตค่อนข้างจำกัดเพียง 1.5 แสนดวง คริปโตแสตมป์ 5 ดวง/ชุด ในแบบภาพหัวยูนิคอร์นที่แตกต่างกันตามสีและจำนวนพิมพ์ (ดำ 78,500 ดวง เขียว 40,000 ดวง น้ำเงิน 20,000 ดวง เหลือง 10,000 ดวง และแดง 1,500 ชุด) จำนวนนี้ยังกันไว้ 500 ชุด สำหรับผู้ที่มีกระเป๋าอิเลกทอรนิกในเครือข่ายซื้อหาได้ด้วยเงินดิจิทัล จึงสร้างความคึกคักให้แก่วงการนักสะสมและนักลงทุน คริปโตเคอเรนซี่อย่างทันตาเห็น และจำหน่ายหมดภายในเวลาไม่กี่วัน
จากความสำเร็จในเวอร์ชั่นแรก ไปรษณีย์ออสเตรียก็ถอยคริปโตแสตมป์ 2.0 ออกมาอีกครั้งในปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ครั้งนี้ออมาเป็น 4 แบบ เป็นภาพหัวสัตว์ 4 ชนิด (ฮันนีแบดเจอร์ ลามา แพนด้า และสุนัข) บนพื้นหลังต่างสีกัน ชนิดราคา 700 ยูโรเซ็นต์ หรือ 7 ยูโร เที่ยวนี้ผลิตจำนวนเท่ากันทั้งหมดคือแบบละ 6 หมื่นดวง รวมเป็น 2.4 แสนดวง แต่ละดวงบรรจุในรูปบัตรเครดิตขนาด 8.6 X 5.0 ซม.
ด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่ผสมผสานทั้งออฟเซ็ต ซิลค์สกรีน ปั๊มฟอยล์ร้อน และการพิมพ์แบบใช้ความร้อน บนบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดวงแสตมป์เป็นสติกเกอร์ลอกออกมาผนึกใช้งานได้เลย ส่วนแสตมป์ดิจิทัลต้องสะสมผ่านการลงทะเบียนทางออนไลน์ ครั้งนี้ก็เช่นกันเปิดจำนวนหนึ่งให้จองล่วงหน้าทางออนไลน์ก่อนวันแรกจำหน่าย โดยแสตมป์รูปสุนัขเป็นที่นิยมจนหมดก่อนวันปิดจอง แต่จนถึงขณะนี้หมดเกลี้ยงทั้งออนไลน์ออฟไลน์ ส่วนราคาซื้อขายก็เลยไปไกลจากราคาหน้าดวงทั้งแสตมป์ที่จับต้องได้และแสตมป์เสมือนจริง อีกทั้งยังทำคอลเลกชันพิเศษ limited edition บรรจุยูนิคอร์นทองคำแท่งหนัก 1 กรัม จำนวน 999 ชุดให้ลุ้นโชครับสิทธิ์ซื้อในราคา 50 ยูโรจนเป็นที่ฮือฮาไม่น้อย
แน่นอนว่าจบเวอร์ชั่น 2 แล้ว ไปรษณีย์ออสเตรียได้ประกาศว่าจะออกคริปโตแสตมป์ 3.0 ตามมาในปี 2564
ความจริงนอกจากออสเตรียแล้ว ยังมีโครเอเชียอีกหนึ่งประเทศที่การไปรษณีย์เริ่มออกแสตมป์บล็อกเชนเป็นครั้งแรกเมื่อปีกลายในวันที่ 9 กันยายน โดยร่วมกับบริษัท Bitx พัฒนาบนแพลตฟอร์มโอเพ่นซีในชื่อ Postereum และอิงกับสกุลเงินอีเธอเรียมเช่นกัน
คริปโตแสตมป์ชุดแรกของโครเอเชีย ใช้โอกาสครบรอบ 180 ปี “เพนนีแบล็ก” แสตมป์ดวงแรกของโลก ดีไซน์ภายใต้ธีมยานพาหนะขนส่ง 5 แบบ คือ รถบรรทุก (60,000 ดวง) รถไฟ (25,000 ดวง) เรือ (10,000 ดวง) เครื่องบิน (4,000 ดวง) และโดรน (1,000 ดวง) รวมทั้งสิ้น 100,000 ดวง แต่ละดวงชนิดราคา 50 คูนาโครเอเชีย หรือราว 6.60 ยูโร ในรูปชีตที่ระลึกมีแสตมป์สติกเกอร์หนึ่งดวงบนแผ่นพีวีซีบรรจุรหัสลงทะเบียนแสตมป์ดิจิทัล ทำนองเดียวกับของออสเตรีย
แสตมป์แต่ละดวงนอกจากใช้งานและสะสมแบบจับต้องได้อย่างที่คุ้นเคยแล้ว วันนี้ยังสะสมอยู่ในบล็อกเชนซึ่งจะคงอยู่ตลอดกาล ถือเป็นมิติใหม่ของแสตมป์สะสมที่คงทนต่อความเสียหายใด ๆจากกาลเวลา อีกทั้งมีมูลค่าซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไม่ต่างจากวงการสะสมแสตมป์คลาสสิกนั่นเอง
ให้หลังไม่กี่เดือน คริปโตแสตมป์ชุดที่ 2 ของโครเอเชียก็ออกตามมาในวันที่ 15 ธ.ค.2563 ก่อนวันครบรอบ 12 ปีของเทคโนโนโลยีบล็อกเชนที่ให้กำเนิดสกุลเงินดิจิทัล “บิตคอยน์” เป็นครั้งแรกของโลก แสตมป์ชุดนี้ฉายภาพประวัติศาสตร์การส่งไปรษณีย์ของประเทศ 5 แบบ ประกอบด้วยภาพบุรุษไปรษณีย์ออสเตรีย-ฮังการี 9,000 ดวง บุรุษไปรษณีย์บนมอเตอร์ไซค์ 8,000 ดวง พนักงานส่งโทรเลขขี่จักรยาน 6,000 ดวง บุรุษไปรษณีย์บนหลังม้า 4,000 ดวง และรถม้าไปรษณีย์ 3,000 ดวง รวมทั้งหมด 30,000 ดวง
24 พฤศจิกายน 2563 การไปรษณีย์สหประชาชาติได้ออกแสตมป์ดิจิทัลของตนเองเป็นครั้งแรกเช่นกัน ในลักษณะชีตขนาดเล็กบรรจุแสตมป์หนึ่งดวง 3 แบบ เป็นชนิดราคา 7.75 ดอลลาร์ 8.00 ฟรังก์สวิส และ 7.00 ยูโร จำนวนชนิดราคาละ 30,000 แผ่น แต่ละแผ่นบรรจุรหัสคริปโตที่ซ่อนอยู๋ในแถบทึบให้ขูดออกเพื่อนำไปลงทะเบียนในแพลตฟอร์มสกุลเงินอีเธอเรียม จะได้แสตมป์ในโลกออนไลน์ที่สะสมได้ถึง 51 แบบ โดยแต่ละชนิดราคาประกอบด้วยข้อความ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาตินั่นเอง
เทคโนโลยีบล็อกเชนในวันนี้จึงเปิดมิติใหม่ให้แก่วงการสะสมแสตมป์ ในการเชื่อมโยงโลกยุคเดิมของคนรุ่นเก่าเข้ากับโลกยุคดิจิทัลของคนรุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืนและกลับมาฟื้นชีวิตชีวาอีกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ
โฆษณา