7 ม.ค. 2021 เวลา 13:19 • การศึกษา
สถานบริการ vs ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หลายๆ คนอาจสงสัยในคำว่า ‘สถานบริการ’ ว่าครอบคลุมถึงธุรกิจประเภทใดบ้าง แล้วร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสถานบริการหรือไม่ วันนี้ LAW IS IN THE AIR จะมาอธิบายถึงความแตกต่างของธุรกิจ 2 ประเภทนี้กันค่ะ
1
1. สถานบริการ
ความหมาย
ตามพ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 “สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้า ดังต่อไปนี้
(1) สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ
(2) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า
(3) สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า แต่ไม่รวมถึง
(ก) สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(ข) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือ
(ค) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(4) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) มีดนตรีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้นักร้องนักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า
(ข) มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า
(ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวทีหรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม
(ง) มีลักษณะของสถานที่การจัดแสงหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(5) สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น.
3
(6) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เวลาทำการ
21.00 - 02.00 น. (สำหรับสถานบริการประเภทสถานเต้นรำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ)
* สถานบริการแต่ละประเภทมีเวลาเปิดปิดไม่เท่ากัน ศึกษาเพิ่มเติมได้จากกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547
ข้อจำกัด
(1) ไม่อยู่ใกล้ชิดวัด โรงเรียน สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานศึกษา โรงพยาบาล
(2) ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน
(3) ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ (zoning) หรือในสถานที่ตั้งโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ศึกษาเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่ในแต่ละจังหวัด)
ใบอนุญาต (เบื้องต้น)
(1) ใบอนุญาตสถานบริการ
(2) ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา
(3) ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร
2. ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ความหมาย
ตามพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 สถานที่จำหน่ายอาหาร คือ
อาคาร สถานที่ หรือบริเวณใดๆ ที่มิใช่ที่หรือทางสาธารณะที่จัดไว้เพื่อประกอบอาหารหรือปรุงอาหารจนสำเร็จและจำหน่ายให้ผู้ซื้อสามารถบริโภคได้ทันที
ทั้งนี้ หากผู้ใดประสงค์จะขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ จะต้องได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์จากกรมสรรพสามิต และต้องปฏิบัติตามข้อห้ามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เวลาทำการ
เปิดทำการได้ตามปกติ แต่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ได้ตั้งแต่ 11.00 น. ถึง 14.00 น. และ 17.00 น. ถึง 24.00 น.
*ที่มา/ศึกษาเพิ่มเติม: ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558
ข้อจำกัด
ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
(1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
(2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและร้านขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา
(3) สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นร้านค้าหรือสโมสร
(4) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
(5) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
(6) สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
(7) สวนสาธารณะของทางราชการที่จัดไว้เพื่อการพักผ่อนของประชาชนโดยทั่วไป
* ที่มา/ศึกษาเพิ่มเติม: พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกฮอล์ พ.ศ. 2551
ใบอนุญาต (เบื้องต้น)
(1) ใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร
(2) ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา
.
BY LAW IS IN THE AIR เพราะกฎหมายใกล้ตัวกว่าที่คิด
ฝากกดไลค์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ❤
#กฎหมาย #ทนายความ #เหล้า #กฎหมายขายเหล้า #ขายเหล้า #สถานบันเทิง #ขายเหล้าถูกกฎหมาย #ธุรกิจขายเหล้า #เปิดร้านอาหาร #ฟ้องศาล #ใบอนุญาตขายเหล้า #ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา #ขออนุญาตขายเหล้า #ขออนุญาตเปิดร้านอาหาร #lawisintheair
โฆษณา