7 ม.ค. 2021 เวลา 16:36 • ความคิดเห็น
#หลายคนมักจะตั้งคำถามว่าแท้จริง - มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?
“ไม่มีใครบนโลกนี้อยากตายหรอก หากเขายังมีความสุขกับชีวิต” ประโยคบอกเล่าจากผู้ที่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จที่ยังคงทิ้งรอยบาดแผลไว้จากปมในอดีตและยังคงถามหาความตายให้ชีวิตในทุก ๆ วัน โดยจากรายงานสถิติการฆ่าตัวตาย 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมาของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปัจจุบันอัตราแนวโน้มการฆ่าตัวตายยังคงเพิ่มสูงขึ้น และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุก ๆ ปี แต่ในทางทฤษฎีจากการศึกษาของ Curra (1994) ได้สะท้อนถึงลักษณะของสาเหตุการฆ่าตัวตายโดยจำแนกเป็น 4 ประเภทคือ การฆ่าตัวตายที่วางแผนไว้ล่วงหน้า การฆ่าตัวตายแบบสองจิตสองใจ การฆ่าตัวตายเพื่อทำร้ายผู้ร้ายผู้อื่นและการฆ่าตัวตายแบบไม่ตั้งใจ
3
ทฤษฎีเป็นเพียงการระบุถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายเพียงเท่านั้น มิได้ล่วงรู้ถึงภาวะจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดภายในของผู้ที่ตัดสินใจอย่างแท้จริง ทิ้งเงื่อนงำ และปริศนาเพื่อรอไขคำตอบ แต่ทว่ามนุษย์ผู้เป็นสัตว์สังคม (Social animal) ตามคำกล่าวของอริสโตเติล นักปรัชญายุคกรีกผู้เชื่อตามสภาพธรรมชาติของมนุษย์ว่าต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ๆ ทั้งการติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระเพียงลำพังได้ สังคมจึงเกิดขึ้น ด้วยความต่างทางเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา และสถานะทางสังคมจึงจำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมาจนถึงยุคปัจจุบันที่กำลังพลิกโฉมเข้าสู่การพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมือก่อให้เกิดความสะดวกสบายและเชื่อมต่อกันได้อย่างอิสระด้วยเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ที่กำลังมีอิทธิพลต่อผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิเช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ และทวิตเตอร์ให้ผู้ใช้งานสร้างโปรไฟล์ของตนเองผ่านระบบออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักด้วยประโยคสุดฮิตที่เรียกว่า "พื้นที่ส่วนตัว" แม้จะส่วนตัวในที่สาธารณะก็ตาม
3
เป็นที่น่าสังเกตว่า “พื้นที่ส่วนตัว” มักจะแสดงความเป็นตัวตนผ่านการโพสต์ การแชร์รูปภาพ วีดิโอ หรือข่าวสารรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นถึงบุคคลอื่น ๆ ทั้งเชิงบวก(positive) และเชิงลบ(negative) ตั้งแต่การชื่นชมให้กำลังใจไปจนถึงการส่อเสียด ล้อเลียนและคุกคามจนนำไปสู่การเริ่มต้นรังแกผู้อื่นผ่านสังคมออนไลน์ หรือที่รู้จักกันว่า "Cyberbullying" ส่งผลพวงให้เหยื่อได้รับผลกระทบต่อจิตใจเกิดความรู้สึกอับอาย หวาดระแวง หดหู่ เศร้าหมอง ท้อแท้ ตลอดจนสิ้นหวัง ในบางรายยังกระทบต่อสุขภาพเกิดความเครียด นอนไม่หลับ เจ็บป่วย ทำร้ายตนเองและนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุดซึ่งโดยทั่วไปแล้วมนุษย์มีความเปราะบางและอ่อนไหวซ่อนอยู่ภายใน ขณะเดียวกันวิธีการจัดการและรับมือกับปัญหาของแต่ละบุคคลก็มักจะต่างกันออกไป เคยสังเกตไหมว่าปัจจุบัน "การเข้าถึงข้อมูลง่ายแต่กลั่นกรองน้อย" เสมือนเป็นตัวกระตุ้นสำคัญของปัญหาการ Bully ในสังคมที่ยิ่งทวีความรุนแรงสะท้อนผ่านปลายนิ้วมือให้รู้สึก "ราวกับความตายนั้นกลายเป็นเรื่องง่าย แต่ความท้าทายคือการต้องมีชีวิตอยู่"
1
จึงอาจกล่าวได้ว่าการมีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันเปรียบเสมือนการอยู่เพื่อต่อสู้กับสังคมและผู้คนที่ต้องพบเจอโดยพร้อมจะตัดสินเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะรูปลักษณ์ ฐานะ การศึกษา หรือหน้าที่การงานผ่านการเสพข้อมูลอันมิได้ผ่านการไตร่ตรอง หรือพิจารณาถึงข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วนจนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ หรือขุดคุ้นเรื่องราวในอดีตมาพูดคุยด้วยถ้อยคำที่รุนแรงอย่างสนุกสนานด้วยเหตุว่าความจริงคือสิ่งที่ทุกคนต้องรับได้จนกลายเป็นความเคยชินของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่มีบทเรียนเรื่องราวการฆ่าตัวตายจากการโดนสังคมประณาม หรือโจมตีสะท้อนผ่านสื่อให้พบเห็นกันทุกวัน คำถามในตอนนี้ มนุษย์คนนึงเติบโตมาเพื่อตายเพียงเพราะสังคมที่เจอมันยุติธรรมใช่หรือไม่ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะเลิกกำหนดความตายให้ใครสักคนจากปลายนิ้วมือ จงอย่าเริ่มต้นเพื่อสิ้นสุดชีวิตใครกันอีกเลย
- จงอย่าถามหาความจริงจากคนอื่น หากท่านคือหนึ่งในเรื่องโกหก-
โฆษณา