7 ม.ค. 2021 เวลา 17:12 • สุขภาพ
การตีตราทางสังคมในยุค COVID-19
เมื่อพบกับความสูญเสียฉับพลัน กลไกการป้องกันตนเองทางจิตของมนุษย์ก็จะเริ่มทำงาน
- เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะตื่นตระหนกและอาจจะเกิดการปฏิเสธไม่ยอมรับความสูญเสียนั้น
- หลังจากนั้นบางคนก็โกรธเกรี้ยวกราดหรือหากล่าวโทษบุคคลสิ่งแวดล้อม บางคนก็หดหู่ซึมเศร้าหรือว่ากล่าวโทษตนเอง
- หลายคนพยายามเหนี่ยวรั้งต่อรองหรือหาวิธีการเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย
- แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับแล้วปรับตัวเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าต่อไป
...การระบาด COVID-19 ระลอกแรกได้ผ่านพ้นไปจนสังคมยอมรับความสูญเสียได้แล้ว โดยไม่ได้มีการกล่าวโทษต่อกันด้วยรู้ว่าเป็นเหตุอุบัติใหม่ที่เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่การระบาดระลอกสองสถานการณ์กลับต่างกัน
...ในขณะที่การระบาดระลอกแรกกำลังจะสงบ ระบบเศรษฐกิจกำลังจะพลิกฟื้น การประกอบอาชีพกำลังกลับคืนสู่ภาวะปรกติ การค้าการลงทุนกำลังตื่นตัว ผู้คนกำลังตั้งต้นเตรียมพร้อมที่จะเริ่มชีวิตใหม่ แล้วฉับพลันความฝันก็ต้องพังทลายไปในชั่วเวลาไม่ทันข้ามคืนจากการระบาดระลอกสอง ในสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดความกลัว ความสับสน และความวิตกกังวลในสังคม สิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมและยอมรับก็คือ การเกิดความโกลาหลของสังคม แล้วจะเกิดการกล่าวโทษหรือการตีตราทางสังคมตามมา
การตีตราทางสังคม หรือ Social stigmata
...ไม่มีใครอยากถูกสังคมตีตราหรือถูกเหมารวมไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็คือ การตีตราทางสังคม หรือ Social stigmata ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกตัวทางสังคมของกลุ่มคน และทำให้เกิดพฤติกรรมเลือกปฏิบัติทั้งต่อคนในเชื้อชาติเดียวกันและต่างเชื้อชาติที่สังคมเข้าใจว่าสัมผัสหรืออาจจะเป็นแหล่งกระจายเชื้อไวรัส
...สิ่งที่เราพบมากขึ้นในการระบาดระลอกสองของ COVID-19 คือ การเบี่ยงเบน ซ่อนเร้น หรือปกปิดข้อมูลการติดเชื้อ รวมทั้งพฤติกรรมการป้องกันตนเองที่หย่อนลงหรือบางคนที่ไม่ได้ตระหนักถึงการป้องกันตนเองเลย สุดท้ายเมื่อข้อมูลไม่สามารถปกปิดเอาไว้ได้แล้วเปิดเผยสู่สังคมที่กำลังจับจ้องมองอยู่ การตีตราทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการตำหนิ การดูแคลน การต่อว่าแบบเหมารวม การเลือกปฏิบัติ หรือการปฏิบัติที่แปลกแยกจากคนอื่น จึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"...ทุกคนรู้ว่าไม่มีใครอยากติดเชื้อ การที่สังคมตีตราไม่ได้เกิดจากการที่คนผู้นั้นติดเชื้อแต่เกิดจากพฤติกรรมที่ทำให้ติดเชื้อและพฤติกรรมการแพร่กระจายเชื้อของคนผู้นั้นต่างหาก..."
- ผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะคนที่ดูแลป้องกันตนเองเต็มที่ แต่เป็นโดยเกิดจากผลการกระทำของผู้อื่นที่ไม่ระมัดระวัง หรือจากผู้ที่ไม่รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม มักจะได้รับความเห็นอกเห็นใจและเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับโรคเพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
- ผู้ติดเชื้อ COVID-19 จากการที่ไม่ได้ดูแลป้องกันตนเองให้เต็มที่หรือใช้ชีวิตด้วยความประมาท แม้ว่าจะได้รับความเห็นอกเห็นใจและมีกำลังใจจากคนรอบข้าง แต่ท่านก็ต้องยอมรับว่าอาจจะมีเสียงตำหนิติติงจากสังคมที่ไม่ได้ตำหนิจากการที่ท่านติดเชื้อ แต่ว่าตำหนิจากการไม่ระมัดระวังแล้วทำให้ติดเชื้อซึ่งอาจจะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อออกไปอีกที่ทำให้คนอื่นในสังคมได้รับผลกระทบ
- ผู้ที่รู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 แล้วยังไม่ได้ดูแลป้องกันตนเองให้เต็มที่และยังมีพฤติกรรมที่อาจจะแพร่กระจายเชื้อได้อีก ท่านต้องยอมรับให้ได้ว่าท่านอาจจะไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจหรือกำลังใจ และแม้สังคมอาจจะไม่ถึงกับตีตราแต่ก็จะต้องมีเสียงวิพากษ์ตำหนิติติงจากสังคม
- ผู้ที่รู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 ที่นอกจากจะไม่ได้ดูแลป้องกันตนเองให้เต็มที่แล้วยังมีพฤติกรรมที่แพร่กระจายเชื้อ และเมื่อติดเชื้อแล้วยังไม่ได้แสดงความสำนึกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งยังแสดงปฏิกิริยาต่อต้านก้าวร้าว หรือจนกระทั่งถึงดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่น สังคมจะตีตราคนจำพวกนี้ ท่านคงจะต้องยอมรับผลจากการกระทำของท่าน
...จริงอยู่ว่าการที่ใครจะได้รับผลอย่างไรย่อมต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของคนคนนั้น แต่การตีตราทางสังคมจะทำใคนในสังคมรรับรู้แล้วส่งผลกระทบต่อการควบคุมและป้องกันการกระจายเชื้อตามมาอย่างมากมาย
- อาจทำให้ประชาชนปกปิดอาการเจ็บป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ
- อาจขัดขวางไม่ให้ประชาชนเข้ารับการรักษาทันที
- อาจทำให้ประชาชนหมดกำลังใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ
ภาครัฐบาล
- การสื่อสารที่ก่อให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำ เช่น
๑) การสื่อสารที่สร้างความหวาดกลัว ตอกย้ำความรุนแรง
๒) การสื่อสารที่ทำให้เกิดการกล่าวโทษบุคคลหรือกลุ่มใด หรือ
๓) การสื่อสารที่ทำให้เกิดทัศนคติเหมารวมกลุ่มคนชนชาติ ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม
การสื่อสารที่ตอกย้ำในสังคมลักษณะนี้จะทำให้สังคมไร้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อกัน
- การบอกเล่าข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญ มนุษย์มักจะกลัวสิ่งที่ไม่รู้ และการแสดงความรู้สึกกลัวไปที่ผู้อื่นนั้นทำได้ง่าย โดยเฉพาะการกล่าวโทษให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเหยื่อของความกลัว สิ่งที่สำคัญก็คือการให้ข้อมูลที่แท้จริง เปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่ต้องให้เกิดการตีความที่แต่ละคนอาจจะตีความไปไม่เหมือนกัน
- ความเป็นเอกภาพของการสื่อสารโดยตัวแทนแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ การให้ข่าวสื่อต่อมวลชนที่ตรงกัน การแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันให้ประชาชนทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่สำคัญต่อการควบคุมป้องกัน จะทำให้ประชาชนไม่เกิดความสับสนกับข้อมูลที่ระดมถั่งโถมกันเข้ามาว่าสิ่งใดเป็นข่าวจริงหรือสิ่งใดเป็นข่าวลวง
- การสื่อสารให้สังคมรับรู้ว่าทุกคนมีบทบาทที่จะช่วยกันทำให้เกิดความสงบโดยเร็ว
ภาคประชาชน
- การไม่เบี่ยงเบน ซ่อนเร้น หรือปกปิดข้อมูล แล้วให้ข้อมูลความเสี่ยงการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วยที่เป็นจริง ซึ่งจะทำให้การควบคุมการแพร่กระจายและการรักษามีประสิทธิภาพ
- การไม่ให้ข่าวเกินจริงหรือการสร้างข่าวลือข่าวลวงที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนกของสังคม
- การคัดกรองข่าวจริงข่าวลวงเพื่อให้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง ไม่เต้นตื่นตระหนกกับทุกข่าวที่ได้รับ
...การตีตราทางสังคม ทางแก้ของปัญหานี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายและแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ได้รับผลกระทบแล้วช่วยกันแก้ไขปัญหา
...การเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับ COVID-19 มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนให้คนในสังคมปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยต่อสู้กับโรค แล้วจึงจะหยุดยั้งไม่ให้ความกลัวและการตีตราทางสังคมแพร่กระจายมากขึ้น
...ร่วมกันเปิดใจรับ ปรับใจรู้ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคม...
โฆษณา