Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
•
ติดตาม
8 ม.ค. 2021 เวลา 06:46 • ประวัติศาสตร์
ปราสาทนครหลวงเคยมีคูน้ำล้อมเหมือนปราสาทนครวัด
ปราสาทนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งโปรดเกล้าฯ “ให้ช่างออกไปถ่ายหย่างพระนครหลวงและปราสาทกรุงกำพุชประเทศเข้ามาให้ช่างกระทำพระราชวังเปนที่ประทับร้อนตำบลริมวัดเทพจันท์ สำหรับขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึ่งเอานามเดีมซึ่งถ่ายมาให้ชื่อว่าพระนครหลวง” เป็น 1 ใน 5 พระราชมณเฑียรที่ประทับนอกพระนคร “มียอดปรางค์ยอดเดียว แลมียอดมณฑปเรียงรายเป็นหลายยอด” โดยยอดปรางค์ทั้งหมดตั้งบนฐานซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้นยอดล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่เชื่อมปรางค์บริวารที่แต่ละยอดด้านและมุมของระเบียงคดเข้าด้วยกันทั้งหมด 28 ยอด เมื่อรวมกับปราสาทประธานที่อยู่กึ่งกลางด้านบนของฐานชั้นที่ 3 ซึ่ง ในรัชกาลที่ 5 รื้อทำใหม่เป็นมณฑปพระพุทธบาทยอดเดียว ก็จะมียอดปรางค์ปราสาทรวมกับยอดมณฑปเท่าที่เห็นรวมกันทั้งหมด 29 ยอด
ปราสาทนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ถ่ายจากด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าของปราสาทและในอดีตเคยเป็นทางเข้าหลัก (ภาพ: สุรเชษฐ์ แก้วสกุล)
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปราสาทนครหลวงที่ใกล้เคียงมากกับปราสาทในประเทศกัมพูชา ซึ่งนักวิชาการโดยทั่วไปก็กันเชื่อว่าถ่ายอย่างมาจากปราสาทนครวัด ขณะที่เกรียงไกร เกิดศิริ เสนอว่าน่าจะถ่ายอย่างจากปราสาทบาปวน เพราะปราสาทนครวัดมียอดปราสาทรวมกันเพียง 9 ยอด ถึงจะมีฐานซ้อนกัน 3 ชั้นคล้ายกันแต่ก็แผ่กว้างตามแนวราบมากกว่าปราสาทนครหลวง ขณะที่ปราสาทบาปวนเน้นฐานซ้อนกัน 3 ชั้นในแนวตั้งมากกว่าและมีจำนวนยอดปราสาทบริวารรวมกับปราสาทประธานรวมกัน 29 ยอดเท่ากับปราสาทนครหลวง ปราสาทบาปวนจึงน่าจะเป็นต้นแบบให้ถ่ายอย่างมากกว่า
ปราสาทนครหลวงมีแผนผังที่ผสมผสานกันระหว่างปราสาทบาปวนและปราสาทนครวัดของกัมพูชา สันนิษฐานว่าหากสมบูรณ์จะมีจำนวนทั้งหมด 33 ยอด ประกอบด้วยยอดบริวาร 28 ยอด และยอดปราสาทประธาน 5 ยอด (ภาพ: สุรเชษฐ์ แก้วสกุล)
ส่วนพิชญา สุ่มจินดา เสนอว่าปราสาทนครหลวงน่าจะถ่ายอย่างมาจากทั้งปราสาทบาปวนและปราสาทนครวัด จากแบบแผนการตั้งปราสาทมุมและปราสาททิศที่ระเบียงคดเช่นเดียวกับปราสาทบาปวน แต่ฐานชั้นที่ 1 ซึ่งวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใกล้เคียงกับปราสาทนครวัด ต่างจากปราสาทบาปวนที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และฐานชั้นที่ 2 ของปราสาทนครหลวงก็ยกเก็จเช่นเดียวกับระเบียงพระพันของปราสาทนครวัดซึ่งไม่ปรากฏในการวางผังของปราสาทบาปวนที่เป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันทั้ง 3 ชั้น โดยเสนอว่าหากสมบูรณ์ปราสาทนครหลวงน่าจะมีจำนวนทั้งหมด 33 ยอด ประกอบด้วยยอดบริวาร 28 ยอด รวมกับยอดปราสาทประธาน 5 ยอดเท่ากับ 33 ยอด ตรงกับจำนวนตรีทศ คือ พระอินทร์ 1 องค์รวมกับเทพบริวารอีก 32 องค์
ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงแนวร่องรอยของคูน้ำรอบปราสาทนครหลวง เห็นได้จากแนวต้นไม้ขนานกับฐานปราสาทในระยะ 14-16 เมตร และร่องรอยของคูน้ำทั้งที่แห้งผากไปแล้วและที่ยังมีน้ำเหลืออยู่ (กราฟฟิก: มัลลิกา อยู่สกลภักดิ์)
จากการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศจาก Google Map เมื่อกลางปี 2563 พบว่าที่ระยะประมาณ 14-16 เมตรจากฐานชั้นล่างสุดของปราสาทนครหลวง มีแนวต้นไม้ขึ้นเรียงขนานกันกับฐานปราสาททางด้านทิศเหนือและทางด้านทิศใต้ซึ่งปกคลุมหนาแน่นกว่า บ่งบอกว่าอาจเคยมีคูน้ำล้อมรอบมาก่อน เมื่อได้ลงสำรวจพื้นที่จริงก็พบว่ามีร่องรอยของคูน้ำทางด้านทิศเหนือที่ตื้นเขินแห้งผากแล้วและร่องรอยของอิฐที่อาจเคยเป็นกำแพงล้อมรอบปราสาท ด้านทิศตะวันออกซึ่งเคยเป็นด้านหน้าของปราสาทนครหลวงพบแนวคูน้ำเป็นร่องลึกลงไปประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร แต่ก็ตื้นเขินและแห้งจนเกือบหมดแล้ว ทางด้านทิศใต้พบแนวคูน้ำซึ่งยังคงมีน้ำอยู่กว้างกว่าทุกด้านและมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น ส่วนทางด้านทิศตะวันตกซึ่งปัจจุบันเป็นทางเข้าหลัก พบว่าแนวคูน้ำจะไม่ขนานกับฐานปราสาทเหมือนด้านอื่น แต่หักศอกเข้ามาเป็นมุมฉากทอดขนานกันไปทางทิศเหนือและทิศใต้อีกเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปได้ว่าบริเวณนี้อาจเป็นที่ตั้งของพระราชมณเฑียรหรือท้องพระโรงไม้มาก่อนแต่ผุพังไปแล้วตามกาลเวลา
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงแนวคูน้ำรอบปราสาทนครหลวง (กราฟฟิก: พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน)
การค้นพบคูน้ำรอบปราสาทนครหลวงช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานเดิมว่าปราสาทนครหลวงอาจ “ถ่ายหย่าง” จากปราสาทนครวัดซึ่งมีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบเช่นเดียวกันแต่มีขนาดความกว้างมากกว่าหลายเท่า ในขณะที่ปราสาทบาปวนไม่มีคูน้ำล้อมรอบเหมือนเช่นปราสาทนครวัด มีแต่สระน้ำด้านหน้าปราสาท นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่าปรางค์บริวารของปราสาทนครหลวงซึ่งยอดปรางค์เป็นทรงพุ่มและมีผนังเรือนธาตุสูง แสดงอิทธิพลจากปราสาทในศิลปะนครวัดมากกว่าปราสาทบาปวนที่ยอดศิขระจะเป็นพุ่มป้อมและผนังเรือนธาตุเตี้ย
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงคูน้ำรอบปราสาทนครหลวงเปรียบเทียบกับคูน้ำรอบปราสาทนครวัด (กราฟฟิก: พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน)
ด้วยเหตุนี้ ปราสาทนครหลวงจึงน่าจะถ่ายอย่างมาจากทั้งปราสาทบาปวนและปราสาทนครวัด แต่นำมาปรับผังใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนยอดปราสาทให้มี 33 ยอดเท่ากับจำนวนตรีทศเทพแห่งดาวดึงส์ตามอินทรคติ ทั้งยังเป็นการจำลองปราสาทกัมพูชาที่ในขณะนั้นน่าจะเชื่อกันว่าเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของกษัตริย์กัมพูชาโบราณและจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในเชิงสัญลักษณ์ไปพร้อมกัน เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองประทับบนปราสาทประธานของปราสาทนครหลวง พระองค์จึงเปรียบได้กับกษัตริย์กัมพูชาผู้ครองเมืองพระนครหลวงและเปรียบประดุจพระอินทร์ในปราสาทไพชยนต์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันรายล้อมด้วยวิมานของเทพบริวาร
2
1 บันทึก
3
3
1
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย