8 ม.ค. 2021 เวลา 12:10 • ประวัติศาสตร์
ส.ค.ส. ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดแห่งสยาม ร.๔ ทรงแสดงศักยภาพของสยามผ่าน ส.ค.ส.ให้ชาติมหาอำนาจได้ตระหนัก
ในช่วงเวลาที่ยังคงอยู่ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ขอนำเสนอเอกสารโบราณของไทยที่ถูกค้นพบในประเทศอังกฤษ เอกสารนี้คือ บัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส. ฉบับที่เชื่อว่ามีความเก่าแก่ที่สุดของไทยครับ
ส.ค.ส. ฉบับนี้เป็นแผ่นกระดาษ ลายพระหัตถ์เขียนอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำขึ้นสำหรับพระราชทานคณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1866 (พ.ศ.2409)
ผู้ที่ซื้อกลับคืนสู่แผ่นดินประเทศไทย คือ อาจารย์ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามผ่านเอกสารของชาวตะวันตก โดย ส.ค.ส.เก่าแก่ที่สุดใบนี้ รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้แก่ "กัปตันบุช”ครับ
การส่งบัตรอวยพรเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันตก ฉะนั้นการส่ง ส.ค.ส.ของรัชกาลที่ 4 จึงมีนัยเพื่อสื่อให้ชาติตะวันตกเห็นว่า ประเทศนั้นสยามไม่ได้ป่าเถื่อน มหาอำนาจจะใช้เป็นข้ออ้างมาครอบครองไม่ได้ เพราะสยามรู้ธรรมเนียมอารยะที่ต้องส่งการ์ดกันทุกวันปีใหม่
1
แล้วถ้ามองทะลุผ่านลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษ 20-30 บรรทัดนี้ เราจะเห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระเจ้าแผ่นดินทรงมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษ จนกระทั่งสามารถทำให้ชาวอังกฤษอย่างเช่นกัปตันบุชได้ตัดสินใจถวายงานมาถึงสองแผ่นดินครับ
1
ขออนุญาตแทรกประวัติเกี่ยวกับกัปตันบุชผู้นี้เพิ่มเติมเข้าไปนะครับ ในรัชสมัยพระบ าทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ การเดินเรือ และการติดต่อค้าขายกับ อารยประเทศมีความรุ่งเรือง เศรษฐกิจ มีความเจริญมั่งคั่ง การแลกเปลี่ยน สินค้าและการค้าแบบโบราณจึงมีการ เปลี่ยนแปลงขึ้น เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ส่ง เซอร์จอห์นเบาริง ราชทูตเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาการค้ากับสยาม ทำให้ประเทศตะวันตกได้ส่งราชทูตเข้ามาทำสัญญาการค้าเป็นลำดับ
ทั้งนี้ผลจากการทำสัญญา สยามได้ยกเลิกจังกอบระวางปากเรือ หรือภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าและ ขนาดของพาหนะที่บรรทุกสินค้าโดยได้จัดตั้งโรงภาษีร้อยชักสามเพื่อทำหน้าที่ดูแลการเก็บภาษีเรือสินค้าขาเข้า
นับแต่นั้นมาได้มีเรือค้าขายจากประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเดินเรือมีความเจริญรุ่งเรือง ทางราชการจึงได้จัดการดูแลเป็นสามส่วน ได้แก่ กรมท่ากลาง มีหน้าที่ติดต่อการค้ากับชาวยุโรป กรมท่าซ้ายมีหน้าที่ติดต่อการค้ากับชาวจีน และกรมท่าขวามีหน้าที่ติดต่อการค้ากับชาวแขก
เมื่อมีการเปิดการค้ามากขึ้น ความจำเป็นในการพัฒนากิจการให้เหมาะ สมกับความเจริญของประเทศ ทางราชการจึงมีความประสงค์ที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาดูแลกรมเจ้าท่าครับ และก็ได้กัปตันบุชมาทำหน้าที่นี้
กัปตันบุช
นายจอห์น บุช หรือกัปตันบุช พ่อค้าและนักเดินเรือสัญชาติอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๑๙ (พ.ศ. ๒๓๖๒) ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในตำแหน่ง “เจ้าท่ายุโรป” กรมท่ากลาง
ภารกิจของกัปตันจอห์น บุช ซึ่งในขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิสูตรสาครดิฐ ในฐานะเจ้าท่า ไม่เพียงแต่คอยอำนวยการในด้านการท่าและการนำร่อง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวเป็นระเบียบเรียบร้อยในการสัญจรในเขตน่านนำ้ไทยเท่านั้น
หากยังต้องทำหน้าที่ไต่สวน เมื่อเกิดคดีความ ขึ้นในท้องน้ำ ซึ่งกัปตันจอห์น บุช ได้ปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนการสอบสวนได้อย่างดีและน่าเชื่อถือ และนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าท่าแล้ว หลวงวิสูตรสาครดิฐได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จประพาสต่างประเทศ กัปตันจอห์น บุช หรือหลวงวิสูตรสาครดิฐ ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง
1
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “พระวิสูตรสาครดิฐ” และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๒ พระวิสูตรสาครดิฐ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาวิสูตรสาครดิฐ” ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์สูงสุดที่ท่านได้รับในชีวิตราชการ
บ้านกัปตันบุช
พระยาวิสูตรสาครดิฐและครอบครัว พำนักอยู่ที่บ้านใกล้โรงภาษี ตั้งอยู่ปากคลอง ผดุง กรุงเกษม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรม รอยัลออร์คิด และใน พ.ศ. ๒๔๓๑ โรงภาษีได้ย้าย ที่ทำการมาตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ชื่อว่า “ศุลกสถาน” ในตรอกโรงภาษี ส่วนตรอกที่เป็นที่ ตั้งของโรงภาษีเดิมใกล้ๆ กับบ้านกัปตันบุชนั้น มีชื่อเรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า “ตรอกกัปตันบุช” ใกล้สถานฑูตอังกฤษเก่าย่านบางรัก
กัปตันบุชยังเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการบริษัท อู่บางกอกด็อก ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการ อู่เรือขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดที่มีอยู่ในกรุงเทพสมัยนั้น นอกจากนี้กัปตันบุชยังมีชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัท ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๒ คน ซึ่งล้วนเป็นขุนนางไทยทั้งสิ้น ในการติดต่อ การดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนไทย กัปตันบุชจะกระทำในนามของหลวงพระหรือ "พระยาวิสูตรสาครดิฐ" แทนครับ
Bangkok Dock
พระยาวิสูตรสาครดิฐได้รับใช้สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยด้วย ความจงรักภักดี ถึง ๒ พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเวลายาวนานกว่า ๔๐ ปี ซึ่งถือได้ว่า พระยาวิสูตรสาครดิฐเป็นผู้วางรากฐานงานเจ้าท่าขึ้นในประเทศไทยด้วยครับ
สรุป คือ รัชกาลที่ ๔ ทรงมีวิสัยทัศน์การไกลทรงคัดเลือกชาวตะวันโดยเฉพาะชาวอังกฤษผู้นี้มาทำงานเพื่อผลประโยชน์ของชาวสยามในยุคนั้น รวมทั้ง ส.ค.ส. ฉบับนี้ยังแสดงถึงนัยยะสำคัญที่ถูกแสดงให้ชาติมหาอำนาจได้เห็นและตระหนักถึงความเจริญทางด้านต่างๆ จนกล่าวได้ว่าสยามเป็นประเทศเล็กๆที่ทั้งยุโรปต่างรู้จักในฐานะประเทศที่ไม่เป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจใดใด
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- เอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติแฟ้ม ต.๔๒/๑๖
โฆษณา