9 ม.ค. 2021 เวลา 12:06 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ในวันที่ Innovation ไทยไปไกลกว่าที่คิด คุยกับ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
1
ชวนคุยกับ "ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์" ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้มาไขกระจ่างความเข้าใจของคำว่า "นวัตกรรม" ให้เข้าใจมากขึ้น พร้อมกับดูภาพรวมนวัตกรรมไทย ที่ไม่ได้มีดีแค่ยิ้มสยาม และการไหว้ที่ประณีตเท่านั้น
ในวันที่ Innovation ไทยไปไกลกว่าที่คิด คุยกับ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ตื่นนอน อาบน้ำ ฝ่ารถติด นั่งทำงาน เลิกงาน เดินห้าง กิจกรรมในทุกๆ วันของเราดูเหมือนจะห่างไกลจากคำว่า "นวัตกรรม" ในแบบฉบับที่ต้องนึกถึงเพียงแค่ สตีฟ จอบส์ ใส่เสื้อคอเต่ายืนอธิบายไอเทมสุดล้ำของโลก หรือคนที่ทำงานอยู่ในซิลิคอนแวลลีย์ นั่งหน้าเครียด ผลิตหุ่นยนต์ประดิษฐ์เท่านั้น ไม่ว่าจะทางไหน นวัตกรรม ก็ดูเป็นเรื่องไกลตัวที่เรามองข้าม ที่กลายเป็นภาพคลุมเครือถึงความหมายที่แท้จริงของคำนี้
แต่ในความเป็นจริง นวัตกรรม หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Innovation แทรกซึมไปทุกอณูของการใช้ชีวิต และใกล้ตัวกว่าที่เรานึกถึง เพื่ออธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงชวนคุยกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้มาไขกระจ่างความเข้าใจของคำว่า นวัตกรรม ให้เข้าใจมากขึ้น พร้อมกับดูภาพรวมนวัตกรรมไทย ที่ไม่ได้มีดีแค่ยิ้มสยาม และการไหว้ที่ประณีตเท่านั้น
นวัตกรรมคืออะไร?
คำถามแรกที่ข้ามไม่ได้เพื่อสลายภาพการเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า นวัตกรรม ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงนวัตกรรมเรามักจะพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ แต่สิ่งประดิษฐ์ทุกตัวไม่จำเป็นว่าจะต้องจำกัดเป็นนวัตกรรม แต่สมการที่อธิบายคำว่านวัตกรรมที่ง่ายที่สุดคือ เราทำสิ่งของขึ้นมาเป็นของใหม่ แล้วคนใช้ คนใช้ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมเหมือนกัน
“ถ้าให้นับตัวสิ่งของที่จับต้องได้อธิบายถึงความเป็นนวัตกรรม มันตอบยากนะ อย่างเช่นถ้าเราตั้งคำถามว่าโทรศัพท์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ออกมา มันคือนวัตกรรมใหม่ไหม เราก็ไม่รู้ แต่เมื่อเราใช้โทรศัพท์เครื่องนั้นแล้วเกิดการใช้งานที่เกิดประโยชน์ในส่วนที่ต่างออกไป อันนั้นก็เรียกว่านวัตกรรมเหมือนกัน หรือแม้แต่นัตวกรรมที่มีมาเพื่อคนคนเดียว แต่ไม่ได้มีมาเพื่อคนคนอื่น อันนี้ก็เรียกว่านวัตกรรมเหมือนกัน คือขอบเขตมันกว้าง”
ดร.พันธุ์อาจ อธิบายเพิ่มว่า สัก 3-4 ปีก่อน คนมองนวัตกรรมเป็นเรื่องไฮเทค จะทำสินค้าเป็นชิ้นๆ ขึ้นมา หลังมันเริ่มไม่ใช่ เพราะมีคำว่า Start up ขึ้นมา คนทำนวัตกรรมจะนึกถึงสองสิ่ง คือหนึ่งรูปแบบธุรกิจ ไอเดียต่างๆ คือรูปแบบธุรกิจที่จะทำให้เพิ่มมูลค่า หรือสร้างคุณค่า หรือการสร้างความจดจำ คือ Bisness model อีกสิ่งก็คือองค์ความรู้ที่ใส่เข้าไปในสินค้านั้นๆ นั่นก็เรียกว่านวัตกรรม แต่สำหรับสิ่งที่อธิบายความเป็นนวัตกรรมได้ดีที่สุดคือ
1
“นวัตกรรมมาคู่กับการเปลี่ยนแปลง ประเทศชั้นนำของนวัตกรรมทั้งเยอรมัน เขามีบริษัท มี Start up มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา นั่นหมายความว่าเมื่อมีสิ่งใหม่เท่าไหร่ นั่นคือการแสดงถึงความเป็นนวัตกรรมมากขึ้นเท่านั้น เพราะนวัตกรรมมาคู่กับการเปลี่ยนแปลง ในอดีตเรามองแต่การสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ มันมีสิ่งที่ต้องคำนึกมากขึ้นทั้งงานแห่งอนาคต ทั้งสถาบันการศึกษา ทั้งภูมิปัญญาที่เราต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งสภาพแวดล้อม”
ถ้าคนทั่วไปมอง นวัตกรรมก็คือสินค้าใหม่ เช่นรถยนต์รุ่นใหม่ อาหารจานใหม่ที่เราไม่เคยกินมาก่อน แต่เบื้องหลังของสิ่งของเหล่านี้คือองค์ความรู้ใหม่ที่ใส่ประกอบเข้าไปในสิ่งของเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งจับต้องได้ มันอาจจะเป็นบริการ เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือวิถีชีวิตก็ได้ การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ก็นับว่าเป็นนวัตกรรม
มองให้ใกล้ตัวเราขึ้น อย่างเช่น ธนาคารในห้างเริ่มปิดตัวเพราะมีเครื่องทำธุรกรรมแทน บางคนจะบอกว่ามันเกี่ยวกับธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงนวัตกรรมมันไม่จำเป็นก็ได้ เช่นการรอคิว ที่เพิ่งมามีในไทยประมาณ 50 ปีที่แล้ว ทั้งหมดนี้ก็คือนวัตกรรมทางสังคม
ความเป็นไปได้ของ คนไทย VS นวัตกรรม ไปได้ไกลแค่ไหน?
ภาพรวมของความเป็นนวัตกรรม มันคือสิ่งใกล้ตัวกว่าที่คิด แต่เมื่อนึกถึงนวัตกรรมเด่นๆ จะไม่มีของไทยร่วมด้วย เพราะคนไทยถนัดใช้ภูมิปัญญา นี่คืออุปสรรคของการพัฒนานวัตกรรมในไทยไหม ดร.พันธุ์อาจตอบคำถามนี้ว่า เราได้เห็นไอเดียและความพลิกแพลง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนไทยมากมาย โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต เช่น น้ำท่วม หรือในเหตุการณ์ล่าสุดคือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ รถเข็นเคลื่อนย้ายแรงดันลบ เครื่องช่วยหายใจ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อเบื้องต้นจากน้ำลายที่รู้ผลใน 1 ชั่วโมง รวมถึงระบบสุขภาพทางไกล หรือ Telehealth ที่ทำให้คนไทยปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล
“นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความจริงแล้วนวัตกรรมของไทยไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น แต่คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมมาโดยตลอด มีการต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากมาย นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. (NIA) ริเริ่มแคมเปญ Innovation Thailand ขึ้นมา เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของประเทศไทยด้วยภาพลักษณ์ใหม่ด้านนวัตกรรม และชักชวนคนไทยให้มารับรู้และภาคภูมิใจในนวัตกรรมของไทย”
หากเข้าเว็บไซต์ของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ แล้วกดดูในหัวข้อของเปิดโลกนวัตกรรม จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่คนไทยสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งน้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์น้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารให้ความหวานธรรมชาติ ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และนำมาพัฒนาให้อยู่ในรูปน้ำหวานชนิดเข้มข้นที่เก็บรักษาได้นาน
โยเกิร์ตจากมะพร้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตและโยเกิร์ตพร้อมดื่มจากมะพร้าวอินทรีย์ ซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำน้ำหางกะทิ (coconut whey) ที่เป็นส่วนเหลือทิ้งจากกระบวนการสกัดน้ำมันมะพร้าวอินทรีย์
หรือแม้แต่ ข้าวกล้องลืมผัวอบกรอบพร้อมทานโดยการนำข้าวกล้องลืมผัวซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มาให้ความร้อนด้วยกรรมวิธีการนึ่งและทอดด้วยน้ำมันจนเมล็ดข้าวพองสุก คลุกเคล้าด้วยเครื่องปรุงรส
สิ่งที่กล่าวไปข้างต้นคือหนึ่งในนวัตกรรมคนไทย ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า เราชวนคนไทยให้ตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าคนไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมามากมาย
โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีความสุข สะดวกสบาย และมีความประณีตในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทย
โฆษณา