9 ม.ค. 2021 เวลา 19:00 • สุขภาพ
อาการปวดหลังแบบไหนที่อันตราย??
อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีการใช้งานหลังมากกว่าปกติ
ส่วนมากอาการปวดหลังมักจะทำให้เกิดเพียงความรำคาญและอาจจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังบางอย่างอาจเป็นอันตรายได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดหลังสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ อาการปวดหลังที่มีการกดทับเส้นประสาท และอาการปวดหลังที่ไม่มีการกดทับเส้นประสาท
อาการปวดหลังที่มีการกดทับเส้นประสาทเป็นอย่างไร?
กรณีที่มีการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการหลัก คือ ปวดร้าวลงขา อาจมีอาการปวดหรือชาขาเวลาเดินไกลๆ บางรายอาจต้องหยุดพักเป็นระยะๆขณะเดิน บางรายอาจมีอาการขาอ่อนแรงหรือชา หรือมีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระร่วมด้วย
"ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังที่มีการกดทับเส้นประสาทจัดว่าเป็นกลุ่มที่อันตราย " เนื่องจากในบางรายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดความพิการถาวรในภายหลังได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำการตรวจรักษาเพิ่มเติม
อาการปวดหลังที่ไม่มีการกดทับเส้นประสาทเป็นกลุ่มที่ปลอดภัยทุกรายหรือไม่?
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีอาการของการกดทับเส้นประสาทที่กล่าวข้างต้นเลยส่วนใหญ่จะไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง
สาเหตุของอาการปวดหลังในกลุ่มนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยได้แก่ กล้ามเนื้อหลังมีการตึงหรืออักเสบ กระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมโดยไม่มีการกดทับเส้นประสาท โดยทั่วไปกลุ่มนี้มักตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานหลัง การใช้ยาและการกายภาพบำบัด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียวบางรายอาจมีสาเหตุจากโรคร้ายแรงได้เช่นกัน เช่น กระดูกสันหลังหักยุบ การติดเชื้อของกระดูกสันหลังหรือเนื้องอกของกระดูกสันหลัง
อาการปวดหลังที่ไม่มีการกดทับเส้นประสาท ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมากตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งอยู่แล้วและเกิดอาการปวดหลังรุนแรง
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังร่วมกับมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในร่างกายรุนแรงแล้วมีอาการปวดหลังรุนแรงตามมา
- ผู้ป่วยที่มีอุบัติเหตุแล้วเกิดอาการปวดหลังโดยเฉพาะในผู้สูงอายุวัยหมดประจำเดือนจะมีโอกาสเกิดกระดูกสันหลังหักยุบได้ง่าย
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังที่รักษาด้วยการทานยาแก้ปวดแล้วยังไม่ดีขึ้น
ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำการตรวจรักษาเพิ่มเติม
รศ.นพ.เกรียงศักดิ์ แซ่เตีย
ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังและสมอง รพ.รามาธิบดี
ภาพประกอบจาก
Illustration credit:www.Vecteezy.com
โฆษณา