10 ม.ค. 2021 เวลา 05:30 • สุขภาพ
"เรื่องเซ็กซ์ไม่ได้มีแค่อวัยวะ แต่มีอารมณ์ด้วย"
การตอบสนองทางเพศ 2/3
บทความนี้เป็นตอนที่ 2 ของเรื่องการตอบสนองทางเพศ ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรกก็ไปย้อนอ่านได้ในซีรีส์การตอบสนองทางเพศนะ
การตอบสนองทางเพศของคณะวิจัยในบทความก่อน ได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของ 'ร่างกาย' เป็น 4 ขั้นตอน ก็คือ ตื่นตัว ลอยละล่อง เสร็จฟินเฟร่อ และกลับสู่สามัญ
ต่อมาก็มีการทักท้วงว่า ไอ้ขั้นตื่นตัว กับลอยละล่อง มันก็ดูคล้าย ๆ กัน จนไม่รู้ว่าจุดตัดมันอยู่ตรงไหนกันแน่ และอีกเรื่องคือ เจ้า 4 ขั้นนี้ ไม่ได้พูดถึง 'ความต้องการทางเพศ' เลยสักนิด
3
ก็เลยมีนักวิจัยผู้หญิงคนหนึ่งชื่อคุณเฮเลน แคปแล่นได้ต่อยอดจากคำอธิบายจากของเดิม โดยสิ่งสำคัญที่เพิ่มมาก็คือ 'ความต้องการทางเพศ' นั่นเอง
‘การตอบสนองทางเพศ – ฉบับแคปแล่น’ คิดค้นเมื่อปี ค.ศ. 1979 โดยมี 3 ขั้น ผู้วิจัยเรียกแนวคิดแบบนี้ว่า Triphasic approach อันได้แก่
1
1. ต้องการ (Desire)
ความต้องการทางเพศเป็นขั้นที่ถูกเพิ่มขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของอารมณ์ที่เดิมไม่เคยพูดถึงเลย อารมณ์อยากได้ อยากมี อยากโดน อยากต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศนั่นเอง แต่ว่าขั้นที่เพิ่มมานี้ ก็โดนทักท้วงอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน ตามที่จะอธิบายด้านล่าง
2. ตื่นตัว (Excitement)
หลังจากมีความต้องการก็ไปสู่ขั้นต่อไป คือการตื่นตัวทางเพศ ที่เห็นชัด ๆ ก็คือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ชุ่มฉ่ำ เฉอะแฉะ ชูชัน
3. เสร็จฟินเฟร่อ (Orgasm)
ที่เรียกกันว่า จุดสุดยอด จะเกิดการขมิบ และการตอดรัดของช่องคลอด บางคนก็อาจมีการกรีดร้อง เกร็งร่างกายส่วนอื่น ๆ ด้วยความสุขอันสุดยอด
การตอบสนองในขั้น 2 และ 3 ใครอยากเห็นภาพมากขึ้นให้กลับไปอ่านตอนแรกนะ เขียนไว้ละเอียดในนั้น จะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของร่างกายชัดเจนขึ้น
การอธิบายของคุณแคปแล่นนั้นก็ยังยึดติดกับความเป็นขั้นเป็นตอน หรือเรียกว่า Linear model เป็นเส้นตรง 1-2-3 ซึ่งไอ้ความตรงที่ว่าก็เลยโดนท้วงหนัก เพราะมันไม่สะท้อนประสบการณ์ของผู้หญิงไงล่ะ
1
"1 ไม่ได้เกิดขึ้นเองเสมอ"
ผู้หญิงหลายคนอยู่ดี ๆ ก็ไม่ได้เกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาได้เฉย ๆ ซึ่งถ้าเขียนว่าต้องเริ่มจาก 1 เหมือนกับบังคับว่าจะต้องเกิดอารมณ์ก่อนแล้วสิ่งอื่น ๆ ถึงจะตามมา ซึ่งบางครั้ง อารมณ์ก็อาจจะเกิดจากสิ่งเร้าอารมณ์อื่น ๆ ก่อนก็ได้
"1 แล้วอาจจะไม่ไป 2 ก็ได้"
ความเป็นขั้นตอนเหมือนระบุให้ 1 แล้วต้อง 2 ต้อง 3 ซึ่งบางคนอาจเกิดอารมณ์ขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้พัฒนาไปสู่ขั้นตื่นตัวทุกครั้งเสมอไป มันก็อาจจะจบ ณ ตั้งแต่ขั้นที่ 1 แล้วก็ได้โดยไม่ได้สานต่อ เช่นในช่วงมีเมนส์ ระดับฮอร์โมนในร่างกายอาจจะทำให้อารมณ์พลุ่งพล่าน แต่ก็ไม่ได้อยากจะไปทำอะไรต่อก็ได้
"2 เกิดก่อน 1 ก็ได้"
ในทางกลับกัน คนเราก็อาจจะมีการตื่นตัวทางเพศ มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายได้ก่อน โดยที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าก่อน แล้วค่อยเกิดอารมณ์ทางเพศตามมาก็ได้เหมือนกัน นึกง่าย ๆ เหมือนโดนสะกิดให้มีเพศสัมพันธ์ ตอนแรกก็ไม่ได้มีอารมณ์ แต่โดนสะกิด ร่างกายอาจจะตอบสนองก่อน แล้วค่อยเกิดอารมณ์ตามมาก็ได้
คำอธิบายชุดนี้ เราชอบที่มันมีการใส่เรื่องอารมณ์ เรื่องจิตใจเข้ามา แต่พออ่านดูมันก็ยังไม่สามารถอธิบายการสนองของเพศหญิงได้อย่างครอบคลุม มันยังขาดมิติเรื่องอะไรบ้าง ถ้าใครพอคิดออก ลองมาแชร์กันนะ
และในบทความหน้าจะเล่าให้ฟังว่า นักวิจัยคนล่าสุดคิดคำอธิบายเรื่องนี้ไว้ยังไง แอบบอกว่าเราชอบอันนี้มาก เพราะมีหลายมิติมาก ๆ ครบองค์ประชุมสุด ๆ รอติดตามกันได้นะ อิอิ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา