10 ม.ค. 2021 เวลา 03:12 • การศึกษา
แม่ทัพใหญ่อัมพาต ผู้สยบจอมพลพิบูลผู้เกรียงไกร
ในโอกาสวันครบรอบชาตกาล ๑๓๓ ปี พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ทางเพจ Wartime Asia เอเชียยามสงคราม ขอย้อนระลึกถึงเจ้าคุณพหลฯ อดีตเชษฐบุรุษและอดีตหัวหน้าคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ผู้ยิ่งใหญ่
หากพูดถึงเจ้าคุณพหลแล้ว ภาพจำของเราทั้งหลายก็คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ผู้สร้างประชาธิปไตยให้แก่แผ่นดินสยามและชาติไทย ชายผู้ร่างจ้ำม่ำ คล้ำดำ มีความแข็งแกร่งเข้มแข็ง ผู้ดำรงความซื่อสัตย์ถึงขั้นยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อการณ์ส่อรูปไปว่ารัฐมนตรีร่วมคณะบางท่านมีมลทินกับกรณีทุจริต นาน ๆ ทีก็จะนึกภาพออกว่าท่านมีกำเนิดจากเหล่าทหารปืนใหญ่ ผู้ซื่อตรงต่อวิชาชีพ
1
ทว่ามีตอนหนึ่งในช่วงชีวิตของเจ้าคุณพหลฯ ที่เรากลับหลงลืม คือเมื่อครั้งที่ท่านได้ครองตำแหน่ง “แม่ทัพใหญ่” เทียบเท่า “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” มีอำนาจสิทธิ์ขาดบัญชาการแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ และตำรวจสนาม ในช่วงสุดท้ายของสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี ๒๔๘๗ - ๒๔๘๘ (1944 – 1945) แต่ที่น่าอัศจรรย์คือท่านรับตำแหน่งนี้ทั้งที่ท่านเป็น “อัมพาต” ลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องนอนรับแขกอยู่กับบ้านสั่งการไปเท่านั้น จนถึงกับตัวเจ้าคุณพหลก็ยังเปรยถึงสังขารท่านว่า “แม่ทัพกล้วยปิ้ง” ด้วยความรู้สึกสมเพชเวทนาตัวเอง
แล้วทำไมเจ้าคุณพหลจึงสามารครองตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ในช่วงปีสุดท้ายของสงคราม ที่เหตุการณ์ทุกอย่างได้ทวีความคับขัน ทั้งที่เจ้าคุณเองเป็นอัมพาตได้ โดยที่ทหารต่างยอมรับเชื่อฟัง แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งเพิ่งถูกผลักดันให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ยังยอมถอยให้เจ้าคุณพหลผู้นี้ได้
ปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อเปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก
ในช่วงนี้สงครามมหาเอเชียบูรพาได้เข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว หลังจากที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นบุกเข้าดินแดนไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ (1941) แล้วรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยินยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันมีขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกราน เช่นขบวนการเสรีไทยนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยขึ้นในช่วงปี ๒๔๘๗ (1944) กล่าวคือ ได้มีกระแสการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา ที่ต่อต้านรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะนโยบายรัฐนิยมและทีท่าทางการเมืองบางประการของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ดูประหนึ่งจะเป็นเผด็จการ โดยเฉพาะในนโยบายการสร้างเมืองและฐานทัพใหม่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ตลอดจนความที่ประเทศมหาอำนาจสัมพันธมิตรซึ่งพร้อมจะยึดครองดินแดนไทย หากยังคงมีรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามครองอำนาจอยู่
แม้จนกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยก็ไม่อาจวางใจในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้อีก ทั้งที่เป็นพันธมิตรกันตั้งแต่ช่วงตันสงคราม แต่เมื่อเข้าปี ๒๔๘๖ (1943) ลางแพ้ฝ่ายอักษะปรากฏขึ้นมาทั้งในยุโรปและเอเชียแปซิฟิก จอมพล ป. จึงได้หันมาดำเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งติดต่อในทางลับกับกองทัพจีน (คณะชาติ) ได้ตระเตรียมกองกำลังรวมทั้งฐานทัพที่เพชรบูรณ์ เพื่อวางแผนขับไล่กองทัพญี่ปุ่นจากดินแดนไทย จนกองทัพญี่ปุ่นไม่วางใจจอมพล ป. พิบูลสงครามและต้องการเปลี่ยนรัฐบาล
 
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนครบาลเพชรบูรณ์ และพุทธบุรีมณฑลที่สระบุรี รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงต้องลาออกเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๗ (1944) และตัวจอมพล ป. เองก็ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและแม่ทัพบก ตลอดจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดต้องพันจากอำนาจทางทหารในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ๒๔๘๗
กลุ่มที่เข้ามามีอำนาจทางการเมืองแทนที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามคือกลุ่มขบวนการเสรีไทยซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น โดยทางขบวนการเสรีไทยได้อาศัยฐานเสียงในสภาผู้แทนราษฎรผลักดันให้นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีสมาชิกชั้นนำของขบวนการเสรีไทยร่วมรัฐบาล เช่นนายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย รน.(บุง ศุภชลาศัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ เป็นต้น ซึ่งทำให้ขบวนการเสรีไทยมีอำนาจรัฐสนับสนุนอย่างแข็งขัน เคียงคู่กับฐานมวลชนชนบทที่มีผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำ เช่นนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายทอง กัณฑาธรรม นายพึ่ง ศรีจันทร์ เป็นต้น
แต่ฉากหน้าของรัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ได้มีความใกล้ชิดสนิทกับญี่ปุ่นยิ่งกว่าผู้นำท่านก่อน ผู้ได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเมื่อเปิดฉากสงคราม ทั้งที่รัฐมนตรีและข้าราชการผู้ใหญ่ในรัฐบาลของท่านดำเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นอย่างแข็งขัน
อย่างไรก็ตามจอมพล ป. พิบูลสงครามยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและแม่ทัพบก ปรากฏว่ามักมีคำสั่งที่ขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์อยู่เสมอ ทำให้การดำเนินงานระหว่างทหารและพลเรือนในยามสงครามมีความติดขัด อันอาจเป็นอันตรายต่อประเทศได้ และจอมพล ป.เองได้ชุมนุมกำลังทหารที่ลพบุรีในลักษณะที่คุกคามรัฐบาลใหม่ นายทหารชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งได้มีท่าทีพร้อมจะยึดอำนาจคืนแก่จอมพล
ด้านจังหวัดลพบุรีกำลังของกองทัพที่ ๒ และกองพลที่ ๗ ได้ชุมนุมทัพที่ตัวเมืองลพบุรีและที่อำเภอไชยบาดาล จังหวัดสระบุรี (สมัยนั้นขึ้นกับจังหวัดสระบุรี) พร้อมจะรักษาพื้นที่ลพบุรีโดยอาศัยแม่น้ำป่าสักและเทือกเขาเพชรบูรณ์เป็นด่านปราการ แม่ทัพคือพลโท พุก มหาดิลก ประจญปัจนึก (พระประจญปัจนึก) ผู้ใกล้ชิดและภักดีต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม
ด้านภาคพายัพ กองทัพพายัพได้ถอนกำลังรบส่วนใหญ่จากสหรัฐไทยเดิม แล้ววางกำลังทหารที่จังหวัดลำปางและเชียงราย พร้อมเป็นปราการด้านเหนือ แม่ทัพคือพลโท เดชา บุณยคุปต์ (พระวิชัยยุทธาคนี)
ในพระนครกำลังทหารบกที่สำคัญที่สุดคือกองพลที่ ๑ ผู้บัญชาการคือพลตรี ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูลภาณุวัฒน์ (ขุนปลดปรปักษ์) อดีตผู้ก่อการ ๒๔๗๕ ผู้ใกล้ชิดจอมพลพิบูล และพร้อมเคลื่อนไหวเพื่อจอมพลทุกเมื่อ
ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพได้แก่พลโท มังกร พรหมโยธี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลโท พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต ผู้บัญชาการทหารบก ยังคงเป็นเครือข่ายใกล้ชิดต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐบาลใหม่จึงได้ยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วตั้งตำแหน่งแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเลือกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านใดที่จะมีบารมีและอิทธิพลที่จะทำให้นายทหารอื่นในกองทัพไทยเชื่อถือและยำเกรง โดยเฉพาะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดไม่อาจต่อต้านผู้บังคับบัญชาชั้นสูงท่านใหม่
ในที่สุดรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์และผู้สนับสนุนจึงได้เชิญพลเอก พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ให้ครองตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจสิทธิ์ขาดยังคับบัญชาแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ รวมทั้งตำรวจสนาม ท่านผู้นี้เป็นเชษฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะราษฎร และได้โปรดเกล้าฯ ให้จอมพล ป. เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
ด้วยความที่ พล อ. พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) เคยทีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาล ทั้งเป็นผู้นำคณะราษฎรในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ อย่างเข้มแข็ง มีชื่อเสียงในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาอำนาจเพื่อความร่ำรวยและความสุขสบายของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงเจตน์จำนงลาออกเมื่อรัฐมนตรีบางท่านส่อแววทุจริต และเมื่อถึงเวลาก็สละตำแหน่งและอำนาจมาเป็นเชษฐบุรุษ จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้นักการเมือง นายทหารทั่วไปทั้งสามเหล่าทัพก็ต้องมีความเคารพยำเกรง แม้แต่ฝ่ายเจ้าซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคณะราษฎรก็ยังต้องยอมรับในเชษฐบุรุษผู้นี้
ในด้านนายทหารผู้ทรงอำนาจซึ่งมีจำนวนมากเช่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส พลโท พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต (หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต) พลโท จิร วิชิตสงคราม พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นนายทหารปืนใหญ่ อันเป็นกำเนิดเดียวกับพลเอกพจน์ และหลายนายเคยได้รับราชการร่วมกันตั้งแต่เมื่อประจำในกรมจเรทหารปืนใหญ่ ดังนั้นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ดังกล่าวจึงย่อมมีความเคารพยำเกรง พร้อมที่จะเชื่อฟังและไม่ต่อต้านพลเอกพจน์
 
แต่เนื่องจากพล อ.พจน์ พหลโยธิน แม่ทัพใหญ่มีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์เป็นอัมพาต ดังนั้นจึงต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน แม่ทัพใหญ่จึงได้เลือกพล ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ให้เป็นรองแม่ทัพใหญ่ รองแม่ทัพบก และรองผู้บัญชาการทหารบก ทำหน้าที่แทนตน ฉะนั้นในทางปฏิบัติพลโทชิตจึงเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชากองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก
ในที่สุดได้มีประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๗ (1944) ให้ยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วตั้งแม่ทัพใหญ่ คือพลเอก พจน์ พหลโยธิน และรองแม่ทัพใหญ่ คือพลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ทำหน้าที่แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด
แม่ทัพกล้วยปิ้ง
ในการตั้งแม่ทัพใหญ่นี้ปรากฏว่าต้องดำเนินเป็นการลับไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามขัดขวางได้ในคืนวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๗ โดยให้รถพยาบาลมารับพลเอก พจน์ พหลโยธินจากวังปารุสกวันมาพักที่กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เล่ากันว่าการเชิญพล อ.พจน์มาที่พระราชวังเดิมนี้เป็นไปด้วยความทุลักทุเล โดยต้องอุ้มขึ้นรถจากวังปารุสกวัน แล้วเมื่อจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่อาจข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้าได้ เนื่องจากจะเป็นเป้าของเครื่องบินทิ้งระเบิด จึงต้องยกเตียงพยาบาลที่ท่านนอนอยูทั้งเตียงลงเรือข้ามฟาก แล้วจึงเคลื่อนที่ต่อไปถึงพระราชวังเดิมได้ โดย ณ ที่นั้นมีนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี และพลเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน รน. (หลวงสินธุสงครามชัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและแม่ทัพเรือ รอรับและอารักขาอยู่
ในการอพยพชั่วคราวนี้แม่ทัพใหญ่พล อ.พจน์ได้รำพึงถึงสภาพอันทุลักทุเลของตนเองไว้ว่า เป็นแม่ทัพกล้วยปิ้งเช่นนี้จะใช้ได้หรือ จะสู้ศึกสงครามกับศัตรูผู้ใดได้
ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์มาพักที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วได้ลงนามในพระบรมราชโองการยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และตั้งแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่ โดยนายควง อภัยวงศ์ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวี บุณยเกตุร่างประกาศ แล้วให้นายไพโรจน์ ชัยนาม อธิบดีกรมโฆษณาการประกาศออกวิทยุในเช้าวันที่ ๒๔ สิงหาคม
ประชุมแถลงการณ์แม่ทัพยั้งปฏิกิริยาขุนทหาร
เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อถือให้แก่นายทหารต่อการปรับโครงสร้างการบังคับบัญชาทหาร และเป็นการปรามนายทหารที่ยังคิดจะก่อการใด ๆ เพื่อชิงอำนาจกลับคืนสู่จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรืออาจก่อจลาจลด้วยเหตุอื่น ดังนั้นพลเอก พจน์ พหลโยธิน แม่ทัพใหญ่ จึงได้ออกประกาศคำสั่งฉบับแรกต่อทหารสามเหล่าทัพและตำรวจ
สาระสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงผู้บังคับบัญชาของกองทัพเป็นสิ่งจำเป็นต่อสถานการณ์คับขันของสงครามในช่วงนั้น ที่สำคัญการที่พลเอก พจน์ พหลโยธิน มารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่อันมีภาระรับผิดชอบใหญ่หลวง ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็เป็นการเสียสละอย่างยิ่งของท่าน ในเมื่อท่านเคยเสียสละอย่างยิ่งใหญ่มาก่อนแล้ว (ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕) และได้แสดงความซื่อตรงต่อแผ่นดินมาแล้วในอดีต เมื่อถึงคราวรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ครั้งนี้ก็ไม่ได้ทีเจตนาอื่น นอกจากความเป็นเอกราชและสวัสดิภาพของชาติไทย ซึ่งพลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ก็มีความนึกคิดในทำนองเดียวกัน ขอให้นายทหารและนายตำรวจสนามอย่าได้คิดเป็นอย่างอื่น
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของประเทศทั้งภายในและภายนอก จึงได้มีคำสั่งแก่ทหารในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจสนามดังนี้
๑) จงเชื่อฟังคำสั่งของแม่ทัพใหญ่ อย่าได้เชื่อคำยุยงปลุกปั่นของบุคลอื่นใด
๒) ให้ทหารเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
๓) ห้ามก่อความไม่สงบ
๔) ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังพลเพื่อเตรียมต่อสู้ใด ๆ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นคำสั่งแม่ทัพใหญ่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากแม่ทัพใหญ่
สุดท้ายย้ำว่าในยามสงครามเช่นนี้ หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งแม่ทัพใหญ่และผู้รับมอบหมาย รวมทั้งก่อการเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ย่อมมีโทษทางกฎหมายจนอาจถึงฐานเป็นกบฏ จึงขออย่าได้นึกถึงประโยชน์ส่วนตนเอง ให้นึกถึงปะโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้
เมื่อออกคำสั่งแล้วจึงให้พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เรียกประชุมนายทหารระดับนายพันจนถึงนายพลทั้งสามเหล่าทัพ และนายตำรวจสนามซึ่งประจำการในพระนครและธนบุรี รวมกันที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมทั้งชี้แจงคำสั่งแม่ทัพใหญ่ดังกล่าวนี้ หลังจากการแถลงชี้แจงคำสั่งของแม่ทัพใหญ่แล้ว ปรากฏว่าบรรดานายทหารทั้งสามเหล่าทัพและตำรวจสนามยินยอมเชื่อฟังคำสั่งของแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพใหญ่ สถานการณ์ภายในประเทศจึงสงบเรียบร้อยจนสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา ไม่เกิดการปะทะระหว่างคนไทยด้วยกันตามที่หวั่นเกรง
เมื่อพลเอก พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพบก และผู้บัญชาการทหารบกแล้ว แต่มีอาการป่วยเป็นอัมพาตไม่อาจทำงานประจำได้จริง การบังคับบัญชาและการบริหารงานจึงตกแก่พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ รองแม่ทัพบก และรองผู้บัญชาการทหารบก เท่ากับว่าพลโทชิตนี้ได้เป็นผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของทหารในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามกิจการงานสำคัญที่รองแม่ทัพใหญ่กระทำไป จะได้ปรึกษาหารือและรายงานให้ท่าน “เชษฐบุรุษ” ทราบทุกระยะ ด้วยประการดังนี้ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาจึง “นอนบัญชาการ” ที่ในวังปารุสกวันตลอดมา
หลังจากนั้นจนกระทั่งสิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อเดือนสิงหาคมปี ๒๔๘๘ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กลับคืนบรรดาศักดิ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๘) แม่ทัพใหญ่ และพลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ จึงได้นำกองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพร่วมงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ประสานกับขบวนการเสรีไทยและฝ่ายสัมพันธมิตร จนได้รักษาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการแพ้สงคราม และรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้ในที่สุด แล้วพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จึงพ้นจากตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ เมื่อมีพระบรมราชโองการยุบตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ รองแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจสนาม และผู้บัญชาการเขตภายใน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ (1945) หลังจากสิ้นสงครามไปแล้วสามเดือน
สรุป
นับเป็นเหตุมหัศจรรย์ที่ไม่น่าเชื่อว่า เพียงคุณงามความดีที่พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ได้กระทำมาในอดีต ทั้งความเข้มแข็งในการปฏิวัติและการทุ่มเทแก่ชาติบ้านเมือง ความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศชาติ และจรรยาบรรณทางการเมืองที่ไม่แสวงหาอำนาจส่วนตน จะสามารถทำให้เจ้าคุณพหลท่านนี้สามารถครองตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ได้ ทั้งที่ร่างกายเป็นอัมพาต ไม่อาจลุกขึ้นทำงานได้ตามปกติ แต่ทหารทั้งสามเหล่าทัพรวมทั้งตำรวจต่างยอมรับแม่ทัพใหญ่ท่านนี้ และผู้บังคับบัญชาชั้นรองลงมา จนรักษาประเทศชาติให้พ้นภัยสงครามมาได้ ทั้งที่แม่ทัพใหญ่แทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากการ “นอนบัญชาการ” ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่
อ้างอิง
- ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา "เชษฐบุรุษ" ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๑ นายกฯ คนซื่อ ๕ สมัย สุภาพบุรุษประชาธิปไตย ขวัญใจประชาชน โดย พล.อ. ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์ กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๕๒
- คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ๒๕๔๕
- งานใต้ดินของพันเอกโยธี, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๘
- บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒. ปรีดี พนมยงค์, [บรรณาธิการ] กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ๒๕๔๓ (พิมพ์ครั้งที่ ๓)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา