10 ม.ค. 2021 เวลา 04:17
DAY 9: วิธีออมเงินแบบโค้ชหนุ่ม
ในอดีตผมเองเคยเป็นคนหนึ่งที่เป็นนัก “พยายาม”​ ออม คือ อยากออม ฝันว่าวันหนึ่งจะออม แต่สุดท้ายก็ได้แค่อยาก ได้แค่พยายาม แล้วก็ทำไม่ได้
1
แต่ก่อนสมการการออมที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน (ปัจจุบันเชื่อว่าบางคนก็ยังใช้กันอยู่) ก็คือ “เหลือจ่าย ค่อยเอาไปเก็บ” ซึ่งการรอให้เหลือจ่ายนี่แหละ ทำให้หลายคนไม่มีเหลือเก็บ เพราะระหว่างเดือนจ่ายเกลี้ยง เลี้ยงดูและปรนเปรอตัวเองเต็มที่
ตัวผมเองก็เป็นเหมือนกันครับ สมการข้างต้นใช้กับผมไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนมาเป็น “เหลือเก็บ ค่อยเอาไปใช้” วิธีนี้ได้ผลดีกว่ามาก หลายคนที่ทำงานประจำอยู่ ก็คงถูกระบบขององค์์กรบังคับใช้วิธีนี้กับเงินออมบางส่วนกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม (โดยเฉพาะส่วนที่เก็บเข้ากองทุนชราภาพ)
ผมก็เริ่มเก็บออมได้จากการเลียนแบบการตัดเงินของกองทุนเหล่านี้ คือ ใช้ระบบ “ตัดออมก่อนใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ” ครับ
ด้วยการผูกบัญชีเงินเดือนกับบัญชีฝากประจำ เงินฝากและหุ้นสหกรณ์ หรือบัญชีกองทุนรวม (สมัยผมเริ่มทำงานแรกๆ ยังไม่มีตัดออมเข้ากองทุนรวม) ได้เงินเดือนมาตัดสะสมเข้าอะไรก็ได้ ตัดออกไปก่อน ไม่ต้อง 10% ก็ได้ เอาเท่าที่ไหวและที่ดีต่อใจแบบที่เล่าไปเมื่อวาน
2
ที่สำคัญต้องพยายาม “ตัดออม” ให้เป็น “อัตโนมัติ” อันนี้สำคัญมาก
2
แต่ก่อนทำยาก แต่เดี๋ยวนี้ใช้ระบบผูกบัญชี ทำครั้งแรกครั้งเดียวที่เหลือสบาย ส่วนคนไม่ทำงานประจำ เช่น ฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของกิจการ อันนี้อาจจะยังต้องทำเองฝากเข้าเองเหมือนเดิม
ผมเองปัจจุบันก็ยังมีรายได้จากงานอิสระ ทันทีที่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชี ผมก็จะตัดผ่านระบบโมบายแอพของธนาคาร แล้วโยกเงินออกไปเก็บออมพักไว้ในบัญชีรอลงทุนทันทีที่ได้เงินเข้ามา
สำหรับพนักงานประจำ ผมย้ำนะครับ ทำให้เป็น “อัตโนมัติ” ซะ เพราะมันจะช่วยลดการต่อสู้ระหว่างวินัยและใจตัวเองได้ดีพอสมควร
สมัยยังทำงานหลังจากหักออมอัตโนมัติแล้ว ถัดมาผมจะจัดสรรเงินเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ อาทิ ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ อีกส่วนหนึ่งกันไว้กินใช้จ่ายส่วนตลอดทั้งเดือน
1
เขียนเป็นสมการง่ายๆ ได้ว่า รายได้ - เงินออม - ค่าใช้จ่ายคงที่ = ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (ทั้งเดือน)
4
พอแยกเงินที่จะใช้จ่ายส่วนตัวทั้งเดือนออกมาแล้ว ผมก็จะหารมันด้วยเลข 30 เพื่อกำหนดเป็น “งบประมาณรายวัน” หรือ Daily Budget แล้วก็จะพยายามควบคุมการใช้จ่ายแต่ละวัน ไม่ให้เกินตัวเลขนี้ เพราะถ้าเกิน รับประกันว่าปลายเดือนได้แคะกระปุก เอาเงินที่ตัดออมไว้ก่อนหน้านี้ออกมากินแน่
3
ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนเรา 30,000 บาท หักออม 3,000 บาท และจัดสรรไว้จ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ 12,000 บาท ก็จะเหลือไว้กินใช้ส่วนตัวทั้งเดือน 15,000 บาท หารด้วย 30 ก็จะใช้จ่ายได้ตกวันละ 500 บาท เป็นต้น
2
ถ้าแต่ละวันเราควบคุมการใช้จ่ายได้ไม่เกิน 500 บาท เราก็จะไม่ต้องยุ่งเงินออม 3,000 บาทที่ตัดเก็บไปแล้วตอนปลายเดือน ได้เก็บได้ออมจริงๆ ไม่ต้องทำให้ตัวเองรู้สึกไม่ดี ด้วยการแคะกระปุกบ่อยๆ
1
แต่ถ้าวันไหนจะกินเกิน 500 บาทบ้างก็ไม่ผิดกติกานะครับ แต่รับประกันว่าถ้าวันนี้กินเกิน วันพรุ่งนี้สมองจะเตือนเราให้บีบการใช้จ่ายลงบ้าง ก็จะช่วยให้การใช้จ่ายของเรากลับเข้าร่องเข้ารอย ไม่ปรนเปรอตัวเองหนักเกินไป
วิธีที่สองที่ผมใช้ ก็คือ การคิดภาษีตัวเอง
1
วิธีนี้เกิดจากการตั้ง Daily Budget แล้วอยากหา Gimmick ในการควบคุมรายจ่ายแบบไม่รู้สึกผิด คือคนเราจะให้กินข้าวผัด ข้าวแกงทุกมื้อ มันก็คงไม่ใช่ป่ะ มันก็อยากกินชาบูบ้าง สเต็กอร่อยๆ บ้างในบางมื้อ
3
แล้วถ้างบประมาณรายวันเราตก 500 บาท ก็จบเลยสิ อร่อยไม่ได้เลย อย่างนี้ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ก็เลยคิดวิธีสนุกกับตัวเองประมาณว่า ขอฟุ่มเฟือยแบบรู้สึกรับผิดชอบนิดนึง ด้วยการหักภาษีการใช้จ่ายของตัวเอง
ทำยังไง? (อยากรู้ละสิ!)
ก็ถ้างบรายวันเราตกวันละ 500 กินปกติทั่วไปก็น่าจะมื้อละ 100-150 บาท ผมก็จะเอาตัวเลขนี้แหละตั้งเป็นกติกาให้ตัวเอง มื้อไหนอร่อยเกิน 150 บาท กรุณาคิด Tax 10% ของค่าใช้จ่ายนั้น เพื่อเก็บออมเพิ่มด้วยนะ
2
เช่น วันนี้จัดชาบู 799 กับเพื่อนไปแบบอิ่มอร่อย แต่เฮ้ย มันเกินงบต่อมื้อไป ก็จัดซะ! กินเสร็จ หัก 80 หยอดกระปุก เพิ่มเงินเก็บแบบลดความรู้สึกผิดกับตัวเอง ว่าแม้จะกินเปลืองแต่ยังได้เก็บออมนะครับผม แล้วพรุ่งนี้ค่อยพกข้าวไปกินที่ทำงาน (555)
วิธีนี้ผมใช้แล้วได้ผล ทำให้มีสติในการใช้จ่ายดีมาก ทั้งนี้เราสามารถคิดภาษีกับสินค้าฟุ่มเฟือยได้ทุกอย่างนะครับ ตั้งกติกาของตัวเองได้เลย
วิธีที่สาม ผมใช้วิธีดั้งเดิมเลย คือ เก็บเศษเหรียญใส่กระปุก แต่แบ่งเป็น 2 กระปุก คือ เหรียญใหญ่ (5 และ 10 บาท) กับเหรียญเล็ก (ตั้งแต่ 2 บาทลงไป)
เหรียญใหญ่ผมสะสมไว้ซื้อกองทุนรวม อันนี้อย่าเพิ่งหัวเราะนะ ใครที่เคยเก็บจะรู้ เหรียญ 5 บาท 10 บาท อัดแน่นเต็มกระปุกนี่หลายตังค์เหมือนกันนะ
1
ส่วนเหรียญเล็ก ผมสะสมไว้บริจาคครับ พอได้เยอะหน่อยก็จะไปเดินหยอดตามตู้บริจาคในห้าง เจอน้องๆ มหาวิทยาลัยมารับบริจาค บางทีก็ยกให้ทั้งกระปุกเลยครับ หรือถ้าเยอะมาก (ไม่ได้ไปหยอดตามห้างนานๆ)​ ก็จะขับรถไปบริจาคตามองค์กรเลยก็มี
1
ทั้งหมดคือ 3 วิธีที่ผมใช้ตอนสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งกล้ารับประกันได้เลยว่าได้ผลจริงๆ คนเราพอออมได้ออมเป็น เดี๋ยวมันก็สนใจการลงทุนต่อยอด ทำให้เงินเติบโตเองไปโดยปริยาย
1
นอกเหนือจากวิธีที่เล่าไป คุณอาจใช้วิธีการอื่นๆ ที่นิยมและเห็นกันบ่อยๆ ก็ได้ อาทิ
- เก็บแบงค์ 50 ทุกครั้งที่ได้รับจากเงินทอน
- เก็บเงินเพิ่มวันละ 1 บาท ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายของปี (1-365)
- คนค้าขายอาจหักกำไรหลักสิบ ออมเข้าบัญชีที่แยกไว้ทุกวัน เช่น เมื่อวานขายของได้กำไร 749 บาท พรุ่งนี้เช้าก็แบ่ง 49 บาทไปออม ไปซื้อกองทุนรวม
- ฯลฯ (ของคุณใช้วิธีไหน เล่าให้ฟังกันหน่อย)
1
แต่ทั้ง 3 วิธี คือ วิธีที่ผมใช้ในตอนเริ่มต้นออม และอยากแนะนำให้ลองหยิบจับนำไปใช้กันดูครับ รับประกันว่าได้ผลจริงๆ
แล้วปัจจุบันโค้ชยังใช้วิธีการเหล่านี้ในการออมเงินหรือเปล่า???
ที่ยังใช้อยู่ คือ วิธีตัดออมอัตโนมัติจากบัญชี และวิธีเก็บเศษเหรียญ​ แต่ที่เพิ่มมาแล้วช่วยผมเก็บเงินได้มาก คือ “โอนเข้าบัญชีแฟน” (ถือเป็นการออมภาคบังคับแบบหนึ่ง 555) แต่ด้วยวิธีนี้ทำให้ผมออมเงินได้ 60-70% ของรายได้แต่ละเดือนเลยทีเดียว
4
แต่เตือนไว้ก่อนว่า การออมแบบล่าสุดนี้ไม่มีรับประกันการคืนเงิน เบิกก็ไม่ได้ ต้องใช้วิธีขออนุญาตอย่างเดียว 555 (ร้องไห้ในใจ)
8
สำหรับผู้อ่านทุกท่าน วิธีไหนก็ได้ที่เราถนัดที่สุด และทำให้เราได้ออมจริง เลือกวิธีนั้นเลยครับ เริ่มเลย เริ่มให้เร็ว มากน้อยไม่เป็นไร เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า คือ “ความต่อเนื่อง”
ออมให้ได้ทุกเดือน (หรือทุกวัน)
รับประกัน “ชาตินี้ไม่มีวันจน”​ ครับ
โค้ชหนุ่ม
09-01-2021
โฆษณา