13 ม.ค. 2021 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
ตำแหน่งแห่งที่ของพระเมรุกลางเมืองกรุงศรีอยุธยา
แผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. 2450 ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) (ที่มา: กรมศิลปากร, "พระยาโบราณราชธานินทร์, " http://www.finearts.go.th/Boranrajathanin/categorie/Ayutthayalandscape)
ก่อนหน้าจะมีพระเมรุกลางเมืองในอยุธยา การถวายพระเพลิงกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ต่างกระทำขึ้นภายในบริเวณหรือใกล้กับพระอารามต่างๆ ทั้งในและนอกเกาะเมือง เช่น วัดราชบูรณะ วัดสวนหลวงสบสวรรค์ หรือวัดหน้าพระเมรุ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พระราชพงศาวดารระบุว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งในที่นี้เห็นว่าเกิดจากความผิดพลาดในการชำระ) โปรดให้พูนดินหน้าพระวิหารแกลบสำหรับทำเป็นที่ถวายพระเพลิงกลางเมือง (ของพระองค์เอง ?) “พระวิหารแกลบ” ดังกล่าวเชื่อกันว่าคือซากวิหารอิฐหลังหนึ่งซึ่งยังคงอยู่ทางด้านทิศใต้จากกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญและทิศตะวันออกเฉียงใต้หน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร แต่หากยึดตำแหน่งตามที่พระราชพงศาวดารระบุไว้ ก็จะไม่มีที่พอสำหรับสร้างพระเมรุเพราะติดกำแพงวัดพระรามที่อยู่ด้านตะวันออก การตรวจสอบแผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ชาวต่างประเทศทำขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ประกอบกับแผนที่ซึ่งจัดทำโดยพระยาโบราณราชธานินทร์อย่างละเอียดอีกครั้ง พบความเป็นไปได้ว่าตำแหน่งที่ตั้งพระเมรุกลางเมือง อาจอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลจากพระวิหารพระมงคลบพิตร ต่างจากที่พระราชพงศาวดารระบุไว้
รายละเอียดจาก "แผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. 2450 ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)" แสดงตำแหน่งของ "ที่ปลูกพระเมรุกลางเมือง" ทางด้านทิศใต้ของพระวิหารแกลบ ทิศตะวันออกของถังน้ำ และทิศเหนือของวัดแคและคุกหลวงกลางบึง
"แผนที่กรุงเทพทวาราวดี พ.ศ. 2450" ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) แสดงตำแหน่ง “ที่ปลูกพระเมรุ” ว่าอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระวิหารแกลบ ด้านทิศตะวันออกของถังน้ำโบราณ และด้านทิศเหนือของคุกและวัดแค บริเวณดังกล่าวทุกวันนี้กลายสภาพเป็นส่วนหนึ่งของบึงพระรามและเกาะแก่งที่ตั้งของคุ้มขุนแผน ตำแหน่งดังกล่าวน่าจะอนุมานจากถาวรวัตถุ ซึ่งเป็นตัวบังคับล้อมกรอบไว้ คือ พระวิหาร แกลบ ถังน้ำ คุกและวัดแค
รายละเอียดของแผนที่ “ภาพภูมิทัศน์ของกรุงยูเดียด์ (อยุธยา) นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม” วาดโดยโยฮัสเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) จิตรกรชาวดัชต์ พ.ศ. 2208 แสดงตำแหน่งบริเวณที่ตั้งพระเมรุกลางเมืองซึ่งอาจอยู่ด้านหน้าของพระวิหารแกลบอีกหลังที่ไม่ใช่พระวิหารแกลบที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (Source: National Archives of the Netherlands 2010, Online)
แผนที่ “ภาพภูมิทัศน์ของกรุงยูเดียด์ (อยุธยา) นครหลวงแห่งราชอาณาจักรสยาม” (Afbeldinge der Stadt Iudiad Hooft des Choonincrick Siam) ภาพสีน้ำวาดโดยโยฮัสเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) จิตรกรชาวดัชต์ ราว พ.ศ. 2208 ตรงกับต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เก่าที่สุดในบรรดาแผนที่ชาวต่างประเทศที่อาจแสดงตำแหน่งของพระเมรุกลางเมือง เป็นภาพกองเนินดินที่อยู่เยื้องลงมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเรือนหลังเล็ก เนินดินดังกล่าวอาจมุ่งให้หมายถึงเนินดินที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้พูนไว้สำหรับทำพระเมรุ ส่วนเรือนหลังเล็กดังกล่าวไม่ตรงกับตำแหน่งของพระวิหารแกลบในปัจจุบัน จึงอาจเป็นได้ว่า คือ พระวิหารแกลบเดียวกับที่กล่าวถึงการพูนดินหน้าพระวิหารในพระราชพงศาวดารซึ่งปัจจุบันไม่เหลือแล้ว ปลายสุดของเนินดินยังมีภาพซุงขนาดใหญ่อีก 6 ต้น อาจเป็นซุงที่เตรียมไว้สำหรับทำเสาพระเมรุหรืออาจเป็นเสาพระเมรุที่รื้อลงหลังเสร็จงานแล้ว เมื่อคำนึงถึงว่าภาพแผนที่อยุธยาดังกล่าววาดขึ้นเมื่อต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์แต่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซุงหรือเสาดังกล่าวก็อาจเป็นของพระเมรุสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็เป็นได้
“แผนผังกรุงสยาม” (Plan de la Ville de Siam) ค.ศ. 1867 หรือตรงกับ พ.ศ. 2230 ของเดอ ลามาร์ (de Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศส แสดงตำแหน่งสถานที่ซึ่งอยู่รอบที่ตั้งพระเมรุกลางเมือง (ที่มา: ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549), น. 78.
ต่อมาคือ “แผนผังกรุงสยาม” (Plan de la Ville de Siam) ค.ศ. 1867 หรือตรงกับ พ.ศ. 2230 ของเดอ ลามาร์ (de Lamare) วิศวกรชาวฝรั่งเศส ผู้มีผลงานการออกแบบป้อมปราการหลายแห่งให้กับราชสำนักอยุธยา แสดงตำแหน่ง P ใต้พระวิหารพระมงคลบพิตรพร้อมคำบรรยายว่าอันหมายถึงวัดหรือเจดีย์ต่างๆ ตรงข้ามกับตำแหน่ง D (Grand Pagode หรือพระเจดีย์ใหญ่) หรือวัดพระราม ตำแหน่ง P ดังกล่าวไม่น่าจะใช่ตำแหน่งของพระวิหารแกลบที่กล่าวถึงการพูนดินหน้าพระวิหาร แต่น่าจะตรงกับตำแหน่งของ “วัดแค” ในแผนที่พระยาโบราณราชธานินทร์ที่ปัจจุบันยังคงเหลือซากอยู่บนเกาะกลางบึง ห่างออกไปจากพระวิหารพระมงคลบพิตรประมาณ 150 เมตร ถึงแม้จะไม่ได้แสดงตำแหน่งที่ตั้งของพระเมรุแต่ก็ช่วยยืนยันตำแหน่งของวัดแคว่ามีมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2230 และทำให้อนุมานได้ว่าด้านทิศของพระเมรุไม่น่าจะล้ำมาจนถึงพื้นที่ของวัดแค
รายละเอียดของแผนที่ลายมือ วาดโดยหมอแกมเฟอร์ พ.ศ. 2233 แสดงตำแหน่งของสถานที่ซึ่งอยู่รายล้อมที่ต้ังพระเมรุกลางเมือง (Source: Engelbert Kaempfer, Heutiges Japan: Engelbert Kaempfer, Werke: Kritische Ausgabe in Einzelbänden 1/1, Hrsg von Wolfgang Michel und B J Terwiel. (München: Iudicium Verlag, 2001), p. 504.
สุดท้ายคือแผนที่ลายมือวาดโดยนายแพทย์เองเกลเบิร์ก แกมเฟอร์ (Engelbert Kaempfer) หรือหมอแกมเฟอร์เมื่อ พ.ศ. 2233 ต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ไม่ไกลจากพระวิหารพระมงคลบพิตร แสดงภาพอาคารหลังหนึ่ง มีรั้วล้อมรอบ ซึ่งถ้าพิจารณาจากตำแหน่งที่ค่อนไปทางด้านหน้าของพระวิหารพระมงคลบพิตรแล้ว คงมุ่งให้หมายถึง “พระวิหารแกลบ” ที่อยู่ในแผนที่พระยาโบราณราชธานินทร์ เพื่อให้เป็นจุดสังเกตว่าอยู่ใกล้กับทางเดินที่เฉียงลงมาจากมุมกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ น่าเสียดายที่หมอแกมเฟอร์ได้เดินทางเข้าอยุธยาระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2233 จึงไม่ทันเห็นพระเมรุสมเด็จพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นอย่างใหญ่โตและถวายพระเพลิงไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2233 ก่อนหน้านั้นเพียง 4 เดือน ตามบันทึกของบาทหลวงมาติโน (Martineau) ไม่อย่างนั้นแล้วเราอาจได้เห็นความอลังการของพระเมรุดังกล่าวผ่านภาพวาดของหมอแกมเฟอร์แล้ว
เชื่อกันว่าพระวิหารแกลบที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและปรากฏในแผนที่ของหมอแกมเฟอร์ อาจเคยเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระชีเชียงที่สมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงสร้างขึ้น “อย่างใหญ่โตและน่าอัศจรรย์” ที่สุดในพระราชอาณาจักรอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2081 ดังระบุไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ และบันทึกของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) ชาวฮอลันดาซึ่งเข้ามาทำการค้าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองให้รื้อลงใน พ.ศ. 2181 แสดงให้เห็นว่าการเลือกภูมิสถานในการก่อสร้างพระเมรุยังคงอิงอยู่กับพื้นที่หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ยังคงดำรงอยู่มาก่อน เห็นได้จากตำแหน่งของพระเมรุที่ตั้งระหว่างพระมณฑปหรือพระวิหารพระมงคลบพิตรและวัดพระราม เช่นเดียวกับพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการถวายพระเพลิงในวัดก่อนหน้าจะมามีพระเมรุกลางเมือง
ภาพจำลองพระเมรุสมเด็จพระเพทราชา ณ ตำแหน่งที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งของพระเมรุกลางเมืองของอยุธยา จำลองจากภาพวาดที่ค้นพบใน หอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดส (Dresden State Art Collections) สหพันธรัฐเยอรมนี โดยใช้พิกัดสถานที่จริงจากภาพถ่ายทางอากาศใน Google Earth (ภาพโดย: พัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน แห่งเพจคิดอย่าง)
กล่าวโดยสรุปก็คือตำแหน่งพระเมรุกลางเมืองของอยุธยาที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารว่าอยู่ด้านหน้าทางด้านทิศตะวันออกของพระวิหารแกลบ มีความเป็นไปได้น้อยกว่าตำแหน่ง “ที่ปลูกพระเมรุ” ในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ซึ่งระบุว่าอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระวิหาแกลบ ที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เนื่องจากมีถาวรวัตถุเป็นตัวบังคับล้อมกรอบไว้ คือ พระวิหารแกลบทางด้านทิศเหนือของพระเมรุ ถังน้ำโบราณทางด้านทิศตะวันตก และวัดแคทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรืออาจเป็นได้ว่าพระวิหารแกลบที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเป็นอีกหลังหนึ่งซึ่งเคยวาดไว้ในแผนที่ของวิงบูนส์แต่ปัจจุบันไม่หลงเหลือแล้ว ซึ่งทั้งพระวิหารแกลบและวัดแคเป็นสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏมาแล้วในแผนที่ของชาวตะวันตกตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อยุธยาเริ่มสร้างพระเมรุกลางเมืองมาถึง 3 รัชกาลแล้ว โดยพื้นที่ดังกล่าวซึ่งตรงกับที่พระยาโบราณราชธานินทร์ระบุไว้ มีขนาดกว้างขวางพอจะบรรจุปริมณฑลของราชวัติพระเมรุที่อาจมีความยาวได้ถึง 3 เส้นหรือ 120 เมตร ได้
สำหรับเหตุผลว่าทำไมจะต้องเป็นพระเมรุกลางเมืองคงต้องขอยกไว้ในโอกาสต่อไป
โฆษณา