28 ม.ค. 2021 เวลา 04:10 • ประวัติศาสตร์
“แดร็กคูลา (Dracula)” ตำนานแวมไพร์ผู้เป็นอมตะ
4
“แดร็กคูลา (Dracula)” เป็นตำนานแวมไพร์ที่สร้างความสยองขวัญสั่นประสาทไปทั่วโลก
ถึงแม้จะไม่รู้เรื่องราวของแวมไพร์ตนนี้ แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของแดร็กคูลามาบ้าง
แดร็กคูลานั้นเป็นตัวละครในนิยายที่ถูกเล่า กล่าวขานมาเป็นเวลานาน และทำให้คนทั่วโลกรู้สึกหวาดกลัว
เรามาดูเรื่องราวของแวมไพร์ตนนี้กันครับ
เรื่องเริ่มต้นในเขตอาร์เทน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเด็กชายคนหนึ่ง นั่นคือ “อับราฮัม สโตเกอร์” หรือภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อของ “บราม สโตเกอร์ (Bram Stoker)” เด็กชายผู้ไม่สามารถเดินได้โดยไม่ทราบสาเหตุ กว่าจะเดินได้ก็ปาเข้าไปถึงเจ็ดขวบ
1
บราม สโตเกอร์ (Bram Stoker)
บรามเกิดในวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1847 (พ.ศ.2390) ที่ดับลิน ประเทศไอร์แลนด์
บรามอาศัยอยู่ในอาร์เทนกับพ่อแม่และพี่น้องอีกหกคน
พ่อของบรามทำงานเป็นข้าราชการในรัฐบาลไอร์แลนด์ ส่วนแม่ของบรามคอยเลี้ยงดูลูก
ถึงแม้ในวัยเด็ก บรามจะไม่สามารถเดินได้ แต่เขาก็ฆ่าเวลาด้วยการอ่านหนังสือที่แม่เอามาให้ และแม่ยังมักจะเล่านิทานให้บรามฟังเสมอๆ
บรามในวัยเด็ก
แม่ของบรามเล่าให้ลูกๆ ฟังว่าในช่วงที่เธอยังเป็นวัยรุ่น ได้มีโรคร้ายที่เรียกว่า “อหิวาตกโรค” ระบาดไปทั่วเมือง คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก
แม่เล่าต่อว่าเมื่อมีนักเดินทางที่เดินทางเข้ามาในเมืองเกิดมีอาการป่วย ผู้คนจะผลักนักเดินทางคนนั้นลงไปในหลุมทั้งเป็น และขุดดินฝัง
2
บางครั้งก็จะมีการจับผู้ป่วยขังในโลงทั้งที่ยังไม่เสียชีวิต บางครั้งก็จับผู้ป่วยให้ไปนอนรวมกับซากศพ
1
เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นแรงบันดาลใจให้บรามเขียนเรื่องราวของแดร็กคูลาในเวลาต่อมา
เมื่อมีอายุได้เจ็ดขวบ บรามนั้นมีอาการดีขึ้นและเริ่มเดินได้
เขาได้ไปโรงเรียน เล่นกีฬา ไปดูละครเวทีกับพ่อ ซึ่งบรามก็ชื่นชอบการแสดงละครเวทีมาก
ภายหลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในปีค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) บรามก็ได้เข้าทำงานในหน่วยงานรัฐบาลเหมือนกับพ่อและเริ่มเขียนหนังสือ โดยมีงานเขียนที่ได้ตีพิมพ์ชิ้นแรก เป็นรีวิวละครเวที
1
ค.ศ.1872 (พ.ศ.2415) บรามได้เขียนเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า “The Crystal Cup” โดยเป็นเรื่องราวของศิลปินที่ถูกขังไว้ในปราสาทและถูกบังคับให้ทำงาน รับใช้พระราชาจอมละโมบ
ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424) บรามเขียนเทพนิยายชื่อ “Under the Sunset” โดยมีตัวละครทั้งเทวดาและวิญญาณชั่วร้าย
1
ในเวลานั้น บรามได้งานใหม่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเขาทำหน้าที่บริหารธุรกิจของ “เฮนรี ไอร์วิง (Henry Irving)” นักแสดงละครเวทีชื่อดัง และเขาก็ยังคงเขียนหนังสือในเวลาว่าง
เฮนรี ไอร์วิง (Henry Irving)
ในช่วงวัยเด็ก บรามน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของแวมไพร์มาบ้าง ซึ่งเรื่องเล่าของคนตายที่ยังสามารถลุกออกมาจากโลงได้ เป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมานานนับศตวรรษ
คนตายเหล่านี้คือภูติผี
ภูติผีเหล่านี้มีทั้งซอมบี้ ผี มัมมี่ และแวมไพร์
แต่แวมไพร์นั้นต่างจากภูติผีอื่นๆ แวมไพร์จำเป็นต้องอาศัยเลือดมนุษย์เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้
ภูติผีในยุคแรกๆ ก็มี “เจียงซือ (Jiangshi)” หรือผีจีนที่เคยเห็นในละครและภาพยนตร์จีนต่างๆ
เจียงซือมักจะมีผิวหนังสีเขียว และเดินโดยกางแขนไปข้างหน้า
เจียงซือ (Jiangshi)
ทางด้านยุโรป ย้อนหลังไปเมื่อราว 500 ปีก่อน ผู้คนก็เริ่มจะพูดคุยเรื่องแวมไพร์ มีการเล่าถึงเรื่องราวของแวมไพร์ไปต่างๆ นาๆ
ตามตำนานนั้น แวมไพร์จะมีพลังอำนาจมากในเวลากลางคืน และบางตำนานก็บอกว่าแวมไพร์พ่ายแพ้ต่อแสงแดด หากแต่ในบางประเทศ ก็เชื่อว่าแวมไพร์สามารถออกไปเดินข้างนอกในเวลากลางวัน หากแต่จะสูญเสียพลังในเวลากลางวัน
1
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเล่ากันว่าแวมไพร์นั้นกลัวกลิ่นกระเทียม และให้นำกระเทียมไปโปรยรอบๆ หน้าต่างและประตูเพื่อป้องกันแวมไพร์
1
ไม้กางเขนหรือสัญลักษณ์รูปไม้กางเขนก็เป็นที่หวาดกลัวของแวมไพร์
ในศตวรรษที่ 19 นักเขียนในอังกฤษเริ่มจะเขียนกลอนที่มีเรื่องราวของแวมไพร์ประกอบด้วย
หากแต่งานเขียนเรื่องยาวที่เกี่ยวกับแวมไพร์ชิ้นแรก ว่ากันว่าคือ “The Vampyre” ของ “จอห์น โพลิโดริ (John Polidori)”
2
มีสัตว์หลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับแวมไพร์ แต่ที่โด่งดังที่สุดคือ “ค้างคาว”
ย้อนกลับไปนับร้อยปีก่อนที่บราม สโตเกอร์จะเกิด นักสำรวจชาวสเปนก็ได้พบเห็นค้างคาวในเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ซึ่งพวกเขาก็เชื่อว่าค้างคาวเหล่านี้ดื่มเลือดของสัตว์อื่น
ค้างคาว
มีนาคม ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) บรามก็ได้เริ่มลงมือเขียนนิยายแวมไพร์ของตน และในฤดูร้อนของปีนั้น เขาก็ได้เดินทางไปยังเมืองวิตบี ประเทศอังกฤษ
ที่วิตบี บรามเริ่มลงมือเขียนนิยายบางส่วน โดยในทีแรก บรามตั้งชื่อตัวละครแวมไพร์ของตนว่า “เคานท์แวมไพร์ (Count Wampyr)” ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันที่แปลว่า “แวมไพร์”
แต่ต่อมา ขณะที่เข้าไปหาข้อมูลในห้องสมุด เขาก็ได้รู้ว่ามีพื้นที่ในโรมาเนีย ชื่อว่า “วัลลาเชีย (Wallachia)” เป็นที่พักของผู้ปกครองดินแดนสมัยศตวรรษที่ 15 ชื่อว่า “วลาด เทเปซ (Vlad Tepes)” หรือเป็นที่รู้จักในนาม “แดร็กคูลา (Dracula)” ซึ่งคำว่าแดร็กคูลานี้ ในภาษาท้องถิ่นจะแปลว่า “บุตรแห่งดราคูล (Son of Dracul)” และคำว่าดราคูลก็แปลได้ว่า “ปีศาจ” หรือ “มังกร”
วลาด เทเปซ (Vlad Tepes)
เมื่อได้ข้อมูลมาดังนี้ บรามจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อตัวละครของตนเป็น “แดร็กคูลา (Dracula)”
สำหรับวลาด เทเปซ ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบของแดร็กคูลา พระองค์ทรงเป็นเจ้าชายผู้พิทักษ์ดินแดนของตนจากการรุกรานของกองทัพตุรกี และพระองค์ยังมีสมัญญานามอีกอย่างว่า “วลาดนักเสียบ (Vlad the Impaler)” เนื่องจากพระองค์มักจะนำศัตรูที่จับได้มาเสียบเข้ากับท่อนไม้แหลม
เมื่อได้รับข้อมูลเรื่องของวลาด เทเปซ บรามจึงตัดสินใจให้บ้านเกิดของแวมไพร์ในนิยายของตนเป็นที่ทรานซิลวาเนีย ซึ่งเป็นบริเวณในโรมาเนียที่อยู่ไม่ไกลจากวัลลาเชีย
1
ทรานซิลวาเนีย
ทรานซิลวาเนียเคยเป็นส่วนหนึ่งของฮังการี และยังเคยเป็นที่อยู่อาศัยของ “เอลิซาเบธ บาโทรี (Elizabeth Bathory)” หญิงที่ชื่นชอบการดื่มเลือดและฆ่าหญิงสาวไปเป็นจำนวนมาก
1
เอลิซาเบธ บาโทรี (Elizabeth Bathory)
บรามทำงานกับไอร์วิงต่อมาอีกหลายปี โดยในเวลาว่าง เขาก็จะเขียนนิยายด้วย และเมื่อเขียนเสร็จ เขาก็ส่งให้สำนักพิมพ์โดยตั้งชื่อนิยายว่า “The Un-Dead”
พฤษภาคม ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) หนังสือเรื่องนี้ก็ได้รับการวางจำหน่ายในลอนดอน ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น “แดร็กคูลา (Dracula)”
บรามไม่แน่ใจว่าผู้คนจะชอบแดร็กคูลามากน้อยแค่ไหน หากแต่นักวิจารณ์ชื่นชอบหนังสือของบรามมาก
นักวิจารณ์บางคนก็กล่าวว่า เนื้อหาของหนังสือเรื่องนี้ทำให้เขารู้สึกขยะแขยง หากแต่ก็สนุก แต่ก็ได้เตือนว่าผู้ปกครองไม่ควรให้บุตรหลานที่ยังเด็กอ่านนิยายเรื่องนี้
แดร็กคูลาฉบับพิมพ์ครั้งแรก
ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) แดร็กคูลาได้ออกตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา โดยลงในหนังสือพิมพ์เป็นตอนๆ ก่อนจะตีพิมพ์เป็นเล่มในปีเดียวกัน
ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) หนังสือพิมพ์ได้จัดอันดับให้นิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังสือที่โด่งดังที่สุดประจำปี
1
แดร็กคูลาโด่งดังเรื่อยมา ก่อนจะปรากฎโฉมให้ผู้ชมเห็นครั้งแรกในปีค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) เมื่อบริษัทภาพยนตร์ในเยอรมนีได้สร้างและนำภาพยนตร์เรื่อง “นอสเฟอราตู (Nosferatu)” ออกฉาย
1
Nosferatu (1922)
นอสเฟอราตู เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ไม่มีเสียง โดยบริษัทผู้สร้างไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์เรื่องแดร็กคูลา จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อตัวละคร เปลี่ยนจากแดร็กคูลาเป็น “เคานท์ออร์ล็อก (Count Orlok)”
หากแต่ถึงจะเปลี่ยนชื่อตัวละคร หากแต่การดำเนินเรื่องก็เหมือนกับในนิยายแดร็กคูลาของบรามเป๊ะ คนที่อ่านนิยายมาก็รู้ทันทีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากนิยายแดร็กคูลา
ในเวลานั้น บรามเสียชีวิตไปตั้งแต่ปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) แล้ว แต่ “ฟลอเรนซ์ บาลคอมบ์ (Florence Balcombe)” ภรรยาของบรามซึ่งมีสิทธิในงานของสามี ไม่ค่อยพอใจนัก
1
ฟลอเรนซ์ บาลคอมบ์ (Florence Balcombe)
ฟลอเรนซ์ได้ทำการฟ้องร้องและเรียกร้องให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ในเยอรมนีจ่ายเงินให้เธอ ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินให้ฟลอเรนซ์เป็นฝ่ายชนะ
แต่บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเงินตามที่ฟลอเรนซ์เรียกร้อง ฟลอเรนซ์จึงสั่งให้เผาฟิล์มภาพยนตร์นอสเฟอราตูทั้งหมดไป
แต่ยังมีฟิล์มก๊อปปี้หนึ่งเหลือรอดมาได้ และนำมาฉายในสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472)
1
เคานท์ออร์ล็อก (Count Orlok)
ถึงแม้ฟลอเรนซ์จะไม่อนุญาตให้บริษัทภาพยนตร์ในเยอรมนีนำแดร็กคูลามาสร้างเป็นภาพยนตร์ หากแต่เธอก็ยินยอมให้นำแดร็กคูลามาแสดงเป็นละครเวที
ละครเวทีแดร็กคูลาได้เปิดแสดงครั้งแรกที่ลอนดอนในปีค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) โดยมีนักแสดงชื่อ “แฮมิลตัน ดีน (Hamilton Deane)” แสดงเป็นแดร็กคูลา
แดร็กคูลาฉบับละครเวทีต้องมีการปรับโลเคชั่นต่างจากในนิยายเล็กน้อย หากแต่ผู้ชมก็ชื่นชอบและละครเวทีนี้ก็ประสบความสำเร็จมาก
โปสเตอร์ละครเวทีแดร็กคูลา (1924)
ค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) “ฮอเรซ ลิเวอร์ไรท์ (Horace Liverright)” โปรดิวเซอร์ละครเวทีในนิวยอร์ก ได้เข้าชมการแสดงละครเวทีแดร็กคูลาในลอนดอน และสนใจจะจัดแสดงละครเวทีแดร็กคูลาที่สหรัฐอเมริกา
ลิเวอร์ไรท์ได้จ้างนักแสดงชื่อ “เบลา ลูโกซี (Bela Lugosi)” มารับบทแดร็กคูลา
ลูโกซีมาจากฮังการี สำเนียงการพูดจึงเหมาะกับบทของแดร็กคูลา และเขาก็ตกลงรับแสดงเป็นแดร็กคูลา
เบลา ลูโกซี (Bela Lugosi)
แดร็กคูลา เปิดแสดงที่สหรัฐอเมริกาครั้งแรกในนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) โดยมีการจ้างพยาบาลมาคอยประจำหากมีคนเกิดเป็นลมเพราะความกลัวด้วย
แดร็กคูลาที่แสดงในสหรัฐอเมริกานี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเปิดแสดงในนิวยอร์กติดต่อกันถึงหกเดือน และเดินสายเปิดการแสดงทั่วประเทศ
หนึ่งในผู้ที่มาชมละครเวทีแดร็กคูลาที่นิวยอร์ก คือ “คาร์ล เลมม์เล จูเนียร์ (Carl Laemmle Jr.)” ผู้บริหาร “ยูนิเวอร์แซล พิกเจอร์ส (Universal Pictures)” สตูดิโอภาพยนตร์ชั้นนำ
คาร์ล เลมม์เล จูเนียร์ (Carl Laemmle Jr.)
พ่อของเลมม์เล จูเนียร์ได้ร่วมกับโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์คนอื่นๆ ก่อตั้งยูนิเวอร์แซลในปีค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) หากแต่ภายหลัง พ่อของเขาก็ได้เป็นเจ้าของยูนิเวอร์แซลแต่เพียงผู้เดียว
ในเวลานั้น ยูนิเวอร์แซลก็มีภาพยนตร์สยองขวัญที่ฮิตทำเงินมาแล้วสองเรื่อง นั่นคือ “The Hunchback of Notre Dame” ซึ่งออกฉายในปีค.ศ.1923 (พ.ศ.2466) และ “The Phantom of the Opera” ซึ่งออกฉายในปีค.ศ.1925 (พ.ศ.2468)
1
The Hunchback of Notre Dame (1923)
The Phantom of the Opera (1925)
เลมม์เล จูเนียร์คิดว่าบางที หากนำแดร็กคูลามาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็อาจจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
ในปีค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) ยูนิเวอร์แซลได้ซื้อสิทธินิยายแดร็กคูลา เพื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์
ตั้งแต่นอสเฟอราตูซึ่งเป็นภาพยนตร์เงียบ ไม่มีเสียง เปลี่ยนผ่านมาสู่ปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) สตูดิโอก็เริ่มสร้างภาพยนตร์เสียง และแดร็กคูลาจะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่มีเสียงเรื่องแรก
เลมม์เล จูเนียร์คิดว่าคนที่เหมาะกับบทของแดร็กคูลา คือ “ลอน เชนีย์ (Lon Chaney)”
เชนีย์เป็นนักแสดงชาวอเมริกันผู้มีฉายาว่า “มนุษย์พันหน้า” เนื่องจากความสามารถในการแต่งหน้า แปลงโฉมตัวเองให้กลายเป็นตัวละครนั้นๆ อีกทั้งเขายังเป็นนักแสดงนำใน “The Hunchback of Notre Dame (1923)” และ “The Phantom of the Opera (1925)” ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น
ลอน เชนีย์ (Lon Chaney)
แต่ในเวลานั้นเชนีย์ไม่ว่าง และเขาก็ป่วย ก่อนที่จะเสียชีวิตในปีค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) ทำให้ต้องหานักแสดงคนอื่นมารับบทแดร็กคูลา
ผู้ที่ถูกเลือกคือ “เบลา ลูโกซี (Bela Lugosi)” ผู้ซึ่งเคยแสดงเป็นแดร็กคูลาในฉบับละครเวทีที่สหรัฐอเมริกา และผู้กำกับการแสดงในฉบับภาพยนตร์นี้ คือ “ท็อด บราวนิง (Tod Browning)”
1
ลูโกซีขณะแต่งตัวเป็นแดร็กคูลา รอเข้าฉากแสดง
แดร็กคูลา ออกฉายในปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทำกำไรให้ยูนิเวอร์แซลมหาศาล พลิกให้ยูนิเวอร์แซล จากที่ในเวลานั้นประสบภาวะขาดทุน กำไรติดลบ กลับมาทำกำไรอีกครั้ง
1
Dracula (1931)
ภายหลังจากแดร็กคูลาฉบับปีค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) ก็ได้มีการสร้างแดร็กคูลาและภาพยนตร์แวมไพร์ออกมาอีกมากมาย รวมทั้ง “ทไวไลท์ (Twilight)” อันโด่งดังอีกด้วย
1
Twilight
เรื่องราวของแวมไพร์นั้นโด่งดังไปทั่วโลก หากแต่ผู้ที่จุดกระแสให้แวมไพร์เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ก็คือบราม สโตเกอร์ ผู้สร้างสรรค์แดร็กคูลานี่เอง
และในทุกวันนี้ เรื่องราวของท่านเคานท์แห่งรัตติกาลนี้ ก็ยังเป็นที่จดจำของผู้คนไม่มีวันเสื่อมคลาย
โฆษณา