คลิปวันเด็ก 'พิมรี่พาย' กับวิวาทะในสังคมออนไลน์
...
☼ 1) ในส่วนของคลิป ☼
คลิปเลือกเล่าเรื่อง "ความไม่มี" ของที่แห่งนี้ กับ "ใจดีๆ" ของพี่พิม
ถ้าการเล่าเรื่องนี้คือการเลือก "มุมกล้อง" กล้องได้บีบภาพให้เหลือเรื่องราวเพียง "แค่นี้" เลือกที่จะโฟกัสบางจุด และเบลอที่เหลือให้เป็นแค่โบเก้สวยๆ เสริมภาพหลักที่โฟกัสไว้ชัดแจ๋ว
.
คลิปจึงไม่ได้มุ่งฉายภาพ "โรงเรียนและหมู่บ้าน" บน "ความจริงอันสมบูรณ์" แต่มุ่งเล่า "ความขาดแคลน" ที่ได้รับการ "เติมเต็ม" จากพี่พิมคนนี้ ด้วยใจล้วนๆ
.
คลิปจึงวางเส้นเรื่องเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกว่าด้วย "การมาของพี่พิม" ไกลแสนไกล แต่พี่พิมก็มา เมื่อมาถึง พี่พิมพบว่า
♦ ไม่มีไฟฟ้า
♦ ไม่มีรองเท้าสวม
♦ กินข้าวกับน้ำพริกที่มีเครื่องปรุง คือ พริก เกลือ และผงชูรส
♦ ไม่รู้จักไข่เจียว
♦ ไม่ปลูกผัก
♦ ได้หนูมาตัวหนึ่งมาทำอาหาร นั่นถือเป็นมื้อพิเศษ
♦ เด็กๆ ไม่มีความฝัน (แม้ครูจะอธิบายว่าเพราะอะไร แต่คนจะจำแค่เด็กไม่มีความฝัน เพราะเป็นประโยคที่ถูกย้ำอีกครั้งโดยพี่พิม)
.
ช่วงที่ 2 ของคลิป จะว่าด้วยความมุ่งมั่นของพี่พิม ที่จะทำให้ที่นี่ "มีไฟ และมีฝัน" รวมทั้ง "ไอ้ที่เขาไปถางหญ้า หมดไปเป็นเขา ๆ คือ เขาปลูกผักไม่เป็นใช่เปล่า เราสอนเขาปลูกผักไหม เขาจะได้เอาไปขาย จะได้ไม่ต้องมาถางหญ้า" จากนั้นมีการคำนวณค่าใช้จ่ายกันตรงนั้น พร้อมประโยคสำคัญคือ "ทำพี่ เดี๋ยวพิมกลับไปขายของ"
.
ช่วงที่ 3 "การมาอีกครั้งของพี่พิม"
มาพร้อมโซล่าร์เซลล์ เพื่อการ "มีไฟ" ทีวี-เพื่อการมีฝัน และชุดปลูกผัก สมทบด้วยรายละเอียดที่สวยมากคือ รองเท้า และการนั่งลงสวมรองเท้าให้น้องๆ มีกิมมิก (ลูกเล่น) ก่อนนำไปสู่จุดสูงสุดของเรื่อง ด้วยการแจกไฟฉายสวมหัวให้เด็กๆ พร้อมกับนัดเด็กๆ มาพบตอน 1 ทุ่ม เพื่อนำมาสู่การเปิดตัว "ทีวีจอยักษ์"
.
ทีมถ่ายทำและวางเส้นเรื่องเก่งมากนะครับ
นำเสนอ "พี่พิม" ในฐานะ "คนขายของ" ที่นำดอกผลจากการขายของมา "สร้างคุณค่า" สวยงาม บริสุทธิ์ ตื้นตัน น่าชื่นชม
► คลิปจึงสมบูรณ์ด้วยตัวมัน ในเวลาสั้นๆ ลำดับความได้แหลมคม และย้ำ "การลงมือทำความดี" อีกครั้งของพี่พิม (ซึ่งเธอทำมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งทำ)
ผมเชื่อว่าพิมรี่พายตั้งใจ "เล่าเรื่อง" และ "สร้างการรับรู้" แค่นี้
อันเป็นศิลปะของการสื่อสารการตลาดปกติ เป็นการตลาดเชิงคุณค่า ที่ย้ำแบรนด์ "พิมรี่พาย" และย้ำความมั่นใจของการเป็น "ผู้สนับสนุน" ของแฟนๆ และลูกค้าของพี่พิมด้วย (พี่พิมห้ามเลิกจ้างทีมงานชุดนี้เด็ดขาด เขาเก่งมาก)
..
2) เมื่อคลิปเผยแพร่ออกมา
คำชื่นชมเกิดขึ้นมากมาย มันจะดีมาก ถ้าหยุดกันอยู่แค่นั้น
แต่-มันเกิดการนำเรื่องนี้ มาแซะในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่สมควร และไม่ฉลาดหลักแหลมใดๆ เลย เป็นเพียงอคติกับความเขลาที่ผสมโรงกันภายใต้กะโหลกของคนบางจำพวก นำมาซึ่ง "วิวาททะ" และเริ่มต่อไต่ไปที่ อดีตนายก 2 คน มาจากจังหวัดเชียงใหม่ไม่ใช่เหรอ ทำไมไม่พัฒนาล่ะ (นี่ก็พอกัน) จากเรื่องการตลาด-การทำความดี กลายเป็นเรื่อง "การเมือง"
.
คลิปของพิมรี่พาย ไม่ได้ถูกใช้เหนี่ยวนำความดี การแบ่งปัน และความมีจิตอาสา ในใจคนอีกต่อไปแล้ว แต่ถูกใช้ปลุกความเป็นขั้วเป็นข้างทางการเมือง แล้วเกิดการยกพวกตีกันในโลกออนไลน์ จนลูกหลงกระทบไปถึง "พี่พิม"
.
การต่อยอดมาถึงเรื่องนี้พึงทำหรือไม่ ทำได้ครับ แต่ต้องทำอย่างปราศจากอคติ ทำอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะย้ำเตือนว่า บ้านเมืองเรายังมีพื้นที่และผู้คนที่รอ "โอกาส" รอการพัฒนาที่ "ทั่วถึง-เท่าเทียม" กันอีกมาก กระนั้นก็ตาม ต้องตั้งอยู่บนหลัก "ความจริง-ความรู้-ความเข้าใจ" ในหลักการและวิธีการ-การพัฒนา
.
เช่น ชุมชนนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีสถานภาพทางกฎหมายอย่างไร อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด มีการจัดสรรงบประมาณและการสนับสนุนด้านต่างๆ มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับชุมชนข้างเคียง หรือพื้นที่ประเภทเดียวกัน
.
เมื่อได้ข้อเท็จจริง ความรู้ และหลักการพร้อมแล้ว จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะ ได้ดีกว่า "กูคิดยังไง" หรือ "สลิ่มดิ้น อิจฉา" ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องหย่อนปัญญาและเปล่าประโยชน์
.
3) ข้อเท็จจริงที่มากกว่าการเล่าเรื่องในคลิป
ท่าทีของสังคม ไม่ว่าจะฟากฝ่ายไหน เสมือนจะใช้เรื่องราวในคลิปเป็นที่ยุติของ "ข้อเท็จจริง" ไปแล้ว เช่น ถ้าพี่พิมไม่ไป ใครจะช่วย
.
จึงมีข้อมูลและเหตุการณ์วันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2561 ว่า ทางมูลนิธิวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ได้ทำการติดตั้งระบบส่องสว่างให้กับ โรงเรียนบ้านแม่เกิบ ที่ร่วมพัฒนาและสร้างขึ้นจากการร่วมมือกันของ กลุ่มจำปีเหล็ก TLC Group และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
มีข้อมูลจาก นางอรอานันท์ แสงมณี นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบุคลากรที่ดูแลการส่งเสริมการศึกษาในถิ่นทุรกันดารโดยตรง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “อรอานันท์ แสงมณี” ชี้แจงเรื่องดังกล่าว ว่า เนื่องจากมีกระแสในโลกออนไลน์จากยูทูปเบอร์ชื่อดังคนหนึ่ง และเราได้มีส่วนร่วมในการทำงานของ ศศช. ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และมีข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อน
.
จึงขออนุญาตใช้พื้นที่เล็กๆ แนะนำให้ทุกท่านรู้จัก ศศช.หรือศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ”แม่ฟ้าหลวง” เป็นสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ เป็นการจัดการศึกษาชุมชนที่ยึดชุมชนเป็นหลัก จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนทั้งชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
ทั้งการศึกษาต่อ มีอาชีพ และพัฒนาอาชีพของตนเอง ให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับชุมชน มามากกว่า 40 กว่าปี
.
มีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ดังนี้
.
1.เด็กก่อนวัยเรียน อายุ 3-6 ปี จัดกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โภชนาการ และดูพัฒนาการเด็กจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
.
2.เด็กวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษา ในระบบโรงเรียน อายุ 7-14 ปี
กลุ่มนี้ ศศช.บางแห่งเป็นสถานศึกษาพื้นที่เป้าหมาย การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ดูแลทั่งด้านโภชนาการ สุขอนามัย วิชาการจริยธรรม ฯลฯ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
3.กลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่ อายุ 15 -59 ปี กลุ่มนี้จัดการศึกษาพัฒนาอาชีพและทักษะชีวิต การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงทักษะฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยเพื่อสื่อสารและรับบริการ เช่น สถานพยาบาลเวลาเจ็บป่วยจะได้แจ้งอาการถูก เป็นต้น
.
4.ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป จัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน
ปกติครูทำหน้าที่สอนเด็กและประชาชนในชุมชน เป็นการจัดการศึกษาตามบริบทชุมชนและโครงการอื่นๆ ในพื้นที่จากหลายหน่วยงานโดยให้ ครู ศศช. เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ (บาง ศศช.เป็น 10 โครงการก็มี)
และมักมีเครือข่ายมาให้การสนับสนุนอยู่บ่อยๆ
.
ทั้งเรื่องของ อาคารเรียน ศศช. ที่จะถูกสร้างการสนับสนุนจากผู้ที่สนใจ (แต่เดิมชาวบ้านในชุมชนเป็นคนสร้างอาคาร ศศช.) ข้าวของเครื่องใช้ อาหารและยารักษาโรคต่างๆ ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามพื้นฐานหรือจากผู้ให้การสนับสนุน
.
ด้วยพื้นที่ห่างไกล ระบบการใช้พลังงานไฟฟ้าไปไม่ถึงในบางพื้นที่ใช้พลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ หรือน้ำ แต่อาจจะไม่ได้มีทั้งชุมชน
.
ภายใน ศศช. จะมีพลังงานทดแทนเหล่านี้สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนภายใน ศศช.
.
จากกระแสเรื่องราวของ ศศช.ที่ได้ถูกประชาสัมพันธ์และเผยแพร่อยู่ในขณะนี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย หากท่านใดสนใจข้อมูลอยากให้การสนับสนุน ศศช. 808 แห่งในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน แพร่ พะเยา ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี พังงา สามารถติดต่อสำนักงาน กศน.จังหวัด ทั้ง 14 จังหวัด ที่ได้แจ้งไว้
.
ขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ และยินดีอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุน ศศช. นะคะ
.
อยากอธิบายว่า
.
ประเด็นที่ 1 เด็กในพื้นที่ที่เขาไม่รู้จัก “ไข่เจียว” เนื่องจากเขาเรียกกันว่า “ทอดไข่”
.
ประเด็นที่ 2 ถ้าเด็กๆ ไม่รู้จักวิธีปลูกผัก เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่มีผักรับประทาน
.
**และยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าคิด เช่น ในคลิปบอกว่าในหมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ การศึกษาเข้าไม่ถึง แต่ในคลิปของยูทูปเบอร์ท่านนั้นที่ถ่ายตอนต้นคลิป(มุมสูง) ยังมีจานดาวเทียมตั้งตระง่านอยู่ในหมู่บ้านเลย คือ??
.
*** อยากให้ทุกท่านได้เข้าไปดูในเพจของ ศศช.บ้านแม่เกิบ จะช่วยอธิบายอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อความเป็นกลางค่ะ ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ🙏🙏
...
สรุป ::
1) เข้าใจให้ตรงกันเถอะว่า คลิป เป็นการประชาสัมพันธ์พิมรี่พาย โดย "เลือก" เนื้อหาที่สนับสนุนตัวบุคคลและความตั้งใจของเธอ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของเธอเป็นหลัก ทั้งคำพูดของครู ของคนทั้งหมด จึงล้วน "ถูกเลือกแล้ว" ว่าจะเอาท่อนไหน แค่ไหน มานำเสนอ เพื่อตอบโจทย์เส้นเรื่องที่วางเอาไว้ ว่าจะ "เล่าอย่างไร" "เพื่ออะไร" จึงฉายภาพความจริงของที่นั่นจำกัดกว่าการฉายภาพพี่พิมเอามากๆ
.
2) เมื่อการเล่าเรื่องใน "มุมแคบ" เฉพาะตัวในคลิปนั้น มันไปกระทบกับ "ความเป็นจริง" ของพื้นที่ ที่ยังมีอะไรมากกว่านั้น เช่น มีคนไปช่วยมากกว่านั้น มีการพัฒนามาโดยลำดับ จนต้องมีผู้เกี่ยวข้องมาทักท้วงและชี้แจง ตรงนี้คือสิ่งที่ต่อไปต้องระมัดระวังและ "ใส่ใจ"
.
3) การใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ คงไม่ใช่การมุ่ง "เอาชนะกัน" หรือ "ยกพวกตีกัน" ในโลกออนไลน์แน่ๆ แต่ควรนำไปสู่
☼ การค้นหาความจริงของพื้นที่นั้น
☼ การคิดต่อยอดว่า ใคร หน่วยงานใด ควรเข้าไปจัดการอย่างไรในพื้นที่นั้น
☼ สำคัญที่สุดคืออย่าเอา "วิถีชีวิต" ในแบบของตัวเองไปเป็น "กรอบกำหนด" ว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เช่น ทีวีทำให้โลกแห่งการเรียนรู้ของเด็กกว้างขึ้นได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่ทำให้เด็กมีฝัน มี "ตัวอย่างที่ดี" เสมอไป เพราะเรื่องเลวทราม/เปล่าประโยชน์/ไร้สาระ ในโทรทัศน์ก็มีเยอะแยะ / ชาวเขาไม่รู้จักปลูกผัก ถางไร่ ป่าหมด (ที่จริงเขามีพืชผักสารพัดที่จะเก็บกินได้ทั้งปี) / ไข่เจียว คือ ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต เป็นต้น
..
สรุปในท้ายที่สุด
- ทีมงานของพิมรี่พายมุ่งสร้างซีนให้พี่พิมมากเกินไป จนไปจำกัดตัดทอน "ความเป็นจริง" บางส่วนออก เพื่อให้พื้นที่นี่ ทุรกันดารที่สุดและขาดโอกาสทางการศึกษาที่สุดในประเทศไทย เหมือนที่พี่พิมพูดตอนแรกสุดของคลิป แต่ความจริงของที่นี่มีมากกว่านั้นไง เพียงแต่มันไม่ถูกฉายออกมา เพราะต้องการฉาย "พี่พิม" เป็นสำคัญ
- มีคนพร้อมจะเซาะแซะสถาบันและการเมืองขั้วตรงข้ามอยู่แล้ว แค่หาว่าจะหยิบอะไรขึ้นมาเป็นเครื่องมือ มาเจอคลิปนี้เข้า เลยใช้งานกันจนเลอะเทอะไปหมด
..
ทำต่อไปนะพี่พิมนะ แต่ระมัดระวังมากขึ้น
ศึกษาเรียนรู้ความต่างของชีวิตความเป็นอยู่ โลกทรรศน์ และชีวทรรศน์ของผู้คนให้มากขึ้น
ความจริง ความรัก และความดี จะได้มาประชุมพร้อมกันอย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องเลือกโฟกัสเฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนละเลยหรือบีบรัดตอนทอนอีกสิ่งหนึ่งออกไป.
Cr.คุณปู จิตกร บุษบา