Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE MONEY COACH
•
ติดตาม
11 ม.ค. 2021 เวลา 04:29
DAY 10: เงินสำรอง 6 เดือนยังพออยู่มั้ย?
ช่วงโควิดเชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นความสำคัญของเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินกันมากขึ้น ทั้งที่โดยปกติต้องบอกเลยว่าหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่เวลาพูดบรรยาย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ
บ้างอาจคิดว่าโชคร้ายคงไม่เกิดกับตัวเอง คนอื่นที่โดนเพราะเขาซวย แต่เราเป็นคนโชคดี หรือในอีกมุมหนึ่ง ถ้าคนเราเก็บสะสมเงินได้ ก็อยากที่จะนำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ มากกว่าที่จะพักหรือกันไว้สำรองในทรัพย์สินที่สภาพคล่องสูง แต่ผลตอบแทนต่ำ พูดให้ง่ายคือ มีเท่าไหร่ลงทุนให้หมดดีกว่า ไม่อยากเผื่อเอาไว้ เสียดายผลตอบแทน
จนมาปี 2563 นี่แหละ ที่ทำคนส่วนใหญ่เริ่มเห็นความสำคัญของเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เข้าทำนอง “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”
“เงินสำรอง” กับ “ประกัน” นี่คล้ายกันตามหลักบริหารความเสี่ยงทางการเงินเลย ก็คือ เราไม่สามารถเตรียมมันตอนที่เกิดปัญหาแล้วได้ ไม่มีใครขายประกันให้เราตอนที่เราเกิดเรื่องไปแล้ว เงินสำรองก็เช่นกัน ถ้าไม่สะสมมาก่อน ก็ต้องรับแรงกระแทกทางการเงินกันไป
ผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่ว่ากัน คำถามคือ หลังจากโควิดครั้งนี้ผ่านพ้น (อยากให้ผ่านไปเร็วๆ จังวุ้ย) ชีวิตกลับมาตั้งหลักเป็นปกติกันได้ คนไทยเราจะเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินกันมั้ย และอีกข้อที่หลายคนสงสัยกันคือ จะต้องเก็บสะสมเผื่อฉุกเฉินไว้มากแค่ไหน เพราะโควิดครั้งนี้ยาวนานเหลือเกิน จนหลายคนเริ่มสงสัยว่า เงินสำรอง 6 เดือนตามตำรา จะยังเพียงพออยู่หรือเปล่า หรือเงินสำรองก็จะต้องนิวนอร์มัลลลลล ไปกับเขาด้วย
จากที่ได้พูดคุยกับลูกศิษย์ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด รายได้ถูกลด หรือบางคนถูกให้ออกจากงาน ในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ปี 2563 พบว่าหลายคนที่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เดือน ยังสามารถเอาตัวรอดได้สบายครับ
5
ถ้าเป็นประเภทถูกลดรายได้ลง (บางคน 25-30%) อันนี้ผ่านได้สบายเลย เพราะคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีเงินสำรอง 6 เท่าของรายได้ การขาดหายไปของรายได้สัก 25% หรือ 1 ใน 4 จากของเดิม ก็จะมีเงินสำรองไว้เติมเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปในแต่ละเดือนได้ 24 เดือน ซึ่งถือว่ามีเวลาเพียงพอให้เราหยิบจับทำอะไรใหม่ๆ ได้ทันเวลา
4
แต่ถ้าเป็นกรณีรายได้หายไปทั้ง 100% เลย อันนี้ก็คิดง่ายๆ ว่าเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่เตรียมไว้ 6 เดือน ก็จะชดเชยรายได้ของเราไปได้ 6 เดือนพอดี จะว่าไปก็ไม่มาก แต่ถ้าตั้งใจสู้ ตั้งสติแล้วตั้งหลักกันใหม่จริงๆ ก็ถือว่า พอไหวอยู่นะ
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่ามีเงินสำรองแล้วไม่ต้องทำอะไร ซึ่งไม่ถูกนะครับ ถ้าชีวิตของคุณพลิกผันไปจนถึงจุดที่คุณต้องแคะกระปุกเงินสำรองออกมากินใช้ แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในสภาวะฉุกเฉินแล้ว เขาถึงเรียกเงินเก็บก้อนนี้ว่า Emergency Fund ยังไงหละ
4
ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งตกงานในช่วงล๊อคดาวน์มีนาคม 2563 ส่งข้อความมาเล่าถึงความโชคร้าย แต่ก็ยังสาธยายถึงความโชคดีอยู่บ้าง ที่เขามีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินพร้อมรับมือวิกฤตได้สบาย ไม่กังวลมาก
ผ่านไปอีก 6 เดือน เข้าสู่เดือนกันยายน น้องคนนี้ส่งข้อความมาอีกครั้ง ถามว่าเงินสำรองจะหมดแล้วทำยังไงดี ผมก็เลยถามไปว่าแล้ว 5 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรเพื่อหารายได้ให้กลับมาเท่าเดิมบ้าง สมัครงานใหม่มั้ย หาอาชีพเสริมหรือเปล่า หรือลองรับจ้างฟรีแลนซ์ หารายได้มาพยุงไม่ให้เงินสำรองร่อยหรอหรือเปล่า
1
น้องเขาตอบมาแล้วเหมือนตลกร้าย บอกไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะคิดว่ามีเงินสำรองแล้วน่าจะปลอดภัย
3
ในเวลาฉุกเฉินอย่างเช่นสงคราม ที่ต้องรบกันยาวไม่รู้จบเมื่อไหร่ เขายังต้องคุมเสบียง ควบคุมการกินการใช้ให้ได้นานที่สุด อีกทั้งยังต้องคิดหาเสบียงเพิ่มเพื่อรองรับการศึกที่อาจจะยืดเยื้อด้วย แต่นี่ชิลเลย กลายเป็นเบาสบายคลายกังวลไป 6 เดือน หลังจากนั้นโคตรเครียด
1
ที่ว่าตลกร้าย เพราะน้องมันก็สวนมาว่า “ก็โค้ชสอนแต่ให้เก็บเงินสำรอง แต่ไม่ได้สอนนี่ว่าพอเกิดฉุกเฉินจริงขึ้นมา ต้องบริหารยังไง?” (เออว่ะ ... ก็จริงของมัน)
9
อย่างไรก็ดี ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าคนไทยในยุคโควิด-19 เห็นความสำคัญของ “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” หรือ Emergency Fund กันแล้ว และหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “สำรองไว้แค่ 6 เท่าของรายได้ จะเพียงพอหรือเปล่า” หลายที่เริ่มมีสอนกันแล้วว่าสมัยนี้ต้องสำรอง 12 เดือน 18 เดือน หรือไม่ก็ไปโน้นเลย 24 เดือน
โดยส่วนตัวผมยังคิดว่า เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เท่า (หรือ 6 เดือน) ยังเพียงพออยู่นะครับ ถ้าเราเข้าใจด้วยว่า เราต้องปรับตัวอย่างไรในสภาวะการเงินแบบฉุกเฉิน ประกอบกันไปด้วย
เช่น เมื่อถูกลดเงินเดือน โอที หรือคอมมิชชั่น จนทำให้ชีวิตต้องแคะกระปุกเงินสำรอง ผมว่าถ้าเราเป็นคนที่กระตือรือร้นพอ เราจะต้องไม่อยู่นิ่ง หรืออุ่นใจเกินไปกับเงินที่แม้จะลดไปเล็กน้อย หรือเพียงบางส่วน
1
ฟังดูเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายนะครับ โดยเฉพาะพนักงานประจำที่ติดกับ Comfort Zone อยู่นานๆ การขาดหายไปของรายได้บางส่วน จะยังไม่ทำให้คนบางคนขยับตัวทำอะไรเพิ่มมาก ยิ่งถ้ามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอยู่ คนกลุ่มนี้จะเลือกแคะกระปุก มากกว่าตื่นตัวว่า "เฮ้ย! รายได้ลด หาอะไรทำเพิ่มดี”
หรือบางทีไม่ต้องรอให้ปัญหาเกิดกับเราหรอก แค่เพื่อนในบริษัทเดียวกัน แต่อยู่คนละแผนก ถูกลดเงินเดือน หรือถูกให้ออก แม้จะไม่โดนเรา แต่ผมว่าเราก็ควรคิดอะไรบ้างได้แล้ว อย่าไปอุ่นใจว่ามีเงินสำรองแล้วจะโอเค เพราะในโลกการเงิน สารตั้งต้นของสมการการเงิน คือ รายได้ ถ้ารายได้กระทบกระเทือนมันจะทำให้ระบบการเงินโดยรวมของเราพังทันที ดังนั้นแค่ได้ยินอะไรระแคะระคาย ก็ต้องขยับตัวได้แล้ว
หรือในอีกมุมหนึ่งที่ผมพูดเป็นประจำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ “หมดยุคของการมีรายได้ทางเดียวไปนานแล้ว” ดังนั้นหากเรามีแหล่งรายได้เสริม แถมยังมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ด้วย แบบนี้สำรองแค่ 6 เดือน ก็ยังพาชีวิตไปรอดได้
คิดง่ายๆว่าแหล่งรายได้แต่ละแหล่งเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ถ้ามีเครื่องยนต์ตัวเดียว แล้วมันดันทะลึ่งดับขึ้นมา ชีวิตเราก็ไปไหนไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเครื่องยนต์หลายตัว ดับไปบางตัว ก็อาจยังพอตะเกียกตะกายไป ไม่ต้องหยุด หรือปล่อยให้ชีวิตพังไปพร้อมเครื่องยนต์ที่ดับไป
1
กล่าวโดยสรุป เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 6 เดือน ยังเพียงพออยู่ครับ ยังใช้เป็นเกณฑ์ในการสะสมเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ ส่วนที่เหลือออมเกิน 6 เดือน ก็สามารถจัดสรรไปลงทุนได้ตามเป้าหมายการเงินของตัวเอง
แต่ถ้าใครกังวลแล้วอยากสำรองไว้สัก 12, 18, 24 หรือแม้กระทั่ง 36 เดือน ก็ไม่ได้ผิดกติกาอะไร เพราะความรู้สึกปลอดภัยสบายใจของแต่ละคนนั้น ไม่เท่ากันครับ
สุดท้ายมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเผื่อไว้ ยังไงก็ดีกว่าไม่มีอะไรเป็นกันชน เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินให้กับเราเลย
1
ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ผมบรรยายเรื่องเงินฉุกเฉินแล้วมีคนฟังมากขึ้น
ผมเชื่ออย่างนั้นนะ
#โค้ชหนุ่ม
10-01-2021
32 บันทึก
100
2
28
32
100
2
28
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย