11 ม.ค. 2021 เวลา 08:30 • ประวัติศาสตร์
💠 The Romanov's Story เรื่องเล่าจากครอบครัวซาร์นิโคลัสที่ 2
ส่วนตัวเราสนใจในประวัติศาสตร์รัสเซียจึงไปขวนขวายหาอ่านและได้พบกับเรื่องเศร้านี้ จึงอยากจะขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ เพื่อเป็นการกล่าวถึง รำลึก เล่าเรื่องเหตุการณ์ ณ คืนวันนั้น เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์โบกไม่ลืมเรื่องนี้ ข้อความทั้งหมด เราเรียบเรียงด้วยตัวเอง โดยมี reference จากหนังสือ และในเว็บไซต์ หากถูกผิดประการใด น้อมรับคำติชมนะคะ
ณ บ้านอิพาเทียฟ เมืองเยคาเตรินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย (Ipatiev House, Ekaterinberg, Russia)
1
กลางดึกคืนวันที่ 16 กรกฎาคม 1918 เวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน กำลังจะเข้าสู่เช้าวันใหม่
นายแพทย์ยูจีน บอทกิ้น (Eugene Botkin) ได้เปิดประตูเพราะเสียงเคาะอันดังก้องในขณะที่เขากำลังอ่านหนังสือ
คนที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าเขาคือนายทหารจากกลุ่มบอลเชวิค (Bolshevik) ที่มาแจ้งข่าวให้เขาไปปลุกคนอื่นๆ ให้เตรียมตัวแต่งตัวเพื่อที่จะออกเดินทางไปไกล เพื่อที่จะหนีให้ห่างจากกลุ่มต่อต้านบอลเชวิคที่กำลังมาถึงอีกไม่ช้า
คุณหมอบอทกิ้นเป็นแพทย์ประจำราชสำนักแห่งซาร์ เขาคือ 1 ใน 11 คนที่โดนจับมาคุมขังอยู่บ้านแห่งนี้พร้อมกับราชวงศ์และข้าราชบริพารอีก 3 คน นายแพทย์รีบไปแจ้งกับครอบครัวโรมานอฟ อันประกอบไปด้วย
◾ อดีตพระเจ้าซาร์องค์สุดท้ายของรัสเซีย นิโคลัสที่ 2 (Nicholas II of Russia)
◾ พระมเหสีอเล็กซานดร้า เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)
◾ แกรนด์ดัชเชสโอลก้า นิโคเลอีฟนา (Grand Duchess Olga Nikolaevna of Russia) พระราชธิดาองค์แรก
◾ แกรนด์ดัชเชสทาเทียน่า นิโคเลอีฟนา (Grand Duchess Tatiana Nikolaevna of Russia) พระราชธิดาองค์ที่สอง
◾ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย นิโคเลอีฟนา (Grand Duchess Maria Nikolaevna of Russia) พระราชธิดาองค์ที่สาม
◾ แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย นิโคเลอีฟนา (Grand Duchess Anastasia Nikolaevna of Russia) พระราชธิดาองค์ที่สี่
◾ ซาเรวิช อเล็กเซย์ (Alexei Nikolaevich, Tsarevich of Russia) พระราชโอรสองค์สุดท้อง ผู้ซึ่งประชวรด้วยโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุดมาตั้งแต่เกิด
◾ รวมถึงข้าราชบริพารคือ แอนนา เดมิโดวา (นางสนองพระโอษฐ์ของอเล็กซานดร้า)
◾ อเล็กเซย์ ทรูฟฟ์ คนรับใช้ของนิโคลัส
◾ อิวาน คาริโตนอฟ พ่อครัวของราชสำนัก
◾ นายแพทย์ยูจีน บอทกิ้น
1
ในขณะที่ทั้งหมดทราบข่าว จึงรีบแต่งตัวเพื่อเตรียมเดินทางไกล โดยอเล็กซานดร้าได้ให้บรรดาแกรนด์ดัชเชสนำเอาเครื่องเพชรพลอยเย็บติดไปในเสื้อผ้าที่สวมใส่ด้วย ซึ่งบางพระองค์ บรรจุเครื่องเพชรหนักถึง 1 กิโลกรัมกว่าๆ จากนั้นทั้งหมดก็ลงไปยังห้องใต้ดินของบ้านอิพาเทียฟ
เมื่อลงไปด้านล่าง นิโคลัสได้ร้องขอเก้าอี้ 2 ตัวเพื่อให้อเล็กซานดร้าผู้ซึ่งร่างกายไม่แข็งแรงได้นั่ง และให้อเล็กเซย์ พระราชโอรสที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคฮีโมฟีเลียได้นั่ง
พวกทหารได้ให้ทั้งหมดยืนเรียงกันที่ห้องใต้ดินเพื่อที่จะทำการถ่ายรูปหมู่ก่อนการเดินทาง
(ภาพจำลอง จากเหตุการณ์คืนนั้น)
แต่เมื่อ ยาคอฟ ยูรอฟสกี้ หัวหน้ากลุ่มบอลเชวิค ณ ที่นั่นได้อ่านถ้อยคำแถลงว่า ทุกคนได้รับคำสั่งให้ประหารชีวิต
นิโคลัสถึงกับหันกลับมาแล้วตะโกนว่า "อะไรนะ ! อะไรนะ !"
แต่ยังไม่ทันได้เอ่ยอันใดออกมาอีก เพราะเสียงกระสุนจากกระบอกปืนของทหารที่ยืนเรียงแถวได้พุ่งทะลุร่างกายของบรรดาผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมดทันที
จากการกระหน่ำกระสุนทำให้เกิดควันในห้องใต้ดินนั้น จนต้องเปิดประตูระบายออก แต่ห้ามทำโจ่งแจ้งเพราะเพื่อนบ้านจะแตกตื่น
กระสุนนัดแรกๆได้คร่าชีวิตของนิโคลัสที่ 2 และพระมเหสีอเล็กซานดร้าไปอย่างรวดเร็ว
แต่บรรดาแกรนด์ดังเชสทั้ง 4 ที่มีการใส่เพชรไว้ในเสื้อ ทำให้กระสุนไม่อาจแทงทะลุได้หมดนั้น พวกทหารใจโฉดได้ใช้ดาบปลายปืน (ปืนที่มีปลายเป็นดาบไว้แทงศัตรู) แทงไปยังร่างกายของพระราชธิดาทั้งหมด และเมื่อเห็นว่าแทงไม่เข้าก็จบลงด้วยการลั่นไกที่บริเวณศีรษะ
แกรนด์ดัชเชสโอลก้า แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย สิ้นพระชนม์ทันที ส่วนเจ้าชายอเล็กเซย์ก็ถูกยิงที่ขมับบริเวณกกหูจนสิ้นพระชนม์ต่อมา
แกรนด์ดัชเชสมาเรียก็ถูกแทงด้วยดาบปลายปืนจนล้มลงและโดนยิงที่ศีรษะ และแกรนด์ดัชเชสทาเทียน่าก็เช่นกัน พระองค์ถูกยิงบริเวณหลังศีรษะ
ส่วนบรรดาข้าราชบริพารก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน แต่นางเดมิโดวาที่กอดหมอนที่บรรจุเครื่องเพชรนั้นกระสุนก็ยิงไม่เข้า
นางจึงโดนดาบปลายปืนแทงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเสียชีวิต โดยในครั้งนั้น มีสุนัขทรงเลี้ยงที่โดนยิงด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ทำงานของตนเสร็จไปขั้นตอนนึงแล้ว พวกบอลเชวิคได้นำร่างทั้งหมดบรรจุใส่รถบรรทุกไปเตรียมทิ้งที่ป่า Koptyaki
โดยได้ขุดหลุมลึกเตรียมไว้ แต่ก่อนจะโยนร่างลงไป ได้ทำการถอดเสื้อผ้าออกเพื่อจะเผาทำลายก่อน
พวกทหารโฉดได้กระทำการรุนแรงต่อร่างของผู้เสียชีวิตอย่างทารุณ ก่อนจะเผาศพเหล่านั้นและขโมยเอาเครื่องเพชรออกไป
เหยื่อทั้งหมด ยกเว้นซาเรวิชอเล็กเซย์ และแกรนด์ดัชเชสพระองค์หนึ่ง (คาดเดาว่าเป็น มาเรีย) ได้รับการฝังในหลุมลึกด้านหนึ่ง
ส่วนอีกสองพระองค์ถูกนำมาฝังแยกไว้อีกด้านหนึ่งไม่ห่างจากหลุมใหญ่หลุมแรก เพื่อไม่ให้พบเจอศพทั้งหมดพร้อมกัน
แต่กว่าภารกิจทำลายหลักฐานของพวกบอลเชวิคจะสำเร็จลุล่วง ก็ปาเข้าไปถึงวันที่ 19 กรกฎาคม แล้ว
ปิดฉากตำนานราชวงศ์โรมานอฟ 300 ปีที่เป็นเจ้าชีวิตแห่งมวลชนรัสเซีย
1
เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ในยุคสมัยหลังจากการประหารชีวิต พรรคบอลเชวิคที่นำโดย วลาดิเมียร์ เลนนิน (Vladimir Lenin) ก็เรืองอำนาจมาก
จากรัสเซียกลายไปเป็นสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics – USSR) และปกครองรัสเซียมายาวนานจนถึงปี 1991
ในส่วนของร่างที่ถูกฝังนั้น ต้องผ่านไปนานราวหลายสิบปีถึงจะมีการค้นพบ ซึ่งมีการค้นพบในหลายครั้ง
1
แต่เนื่องด้วยเกรงว่าทางการที่ในขณะนั้นเป็นสหภาพโซเวียตจะบุกยึดหรือทำลายหักฐาน ทำให้ผู้ค้นพบยังเก็บเป็นความลับ
แต่หลังจากสหภาพโซเวียตล้มสลาย ก็ได้มีการขุดจนพบซากโครงกระดูกที่ถูกฝังลึกลงไปถึง 3 เมตร
ได้พบโครงกระดูกในหลุมนั้น 9 โครง และนำมาพิสูจน์อัตลักษณ์จนพบว่าตรงกับบุคคลที่เสียชีวิต
จะขาดก็แต่เพียงอีก 2 โครงกระดูกของอเล็กเซย์และอีก 1 แกรนด์ดัชเชสที่ยังหาไม่เจอ
โดยทั้ง 9 โครงกระดูกได้รับการฝังในปี 1998 ณ Peter and Paul Fortress
ต่อมาในปี 2007 นักวิจัยและนักโบราณคดีได้ขุดเจอหลุมเล็กที่ห่างจากหลุมใหญ่ไม่มาก
โดยได้พบกับโครงกระดูกของทายาทโรมานอฟ 2 พระองค์ที่สูญหาย เมื่อพิสูจน์ทาง DNA ก็พบว่าตรงกับข้อสันนิษฐาน
และในที่สุด ทั้ง 7 พระองค์ก็ถูกฝังอย่างสมพระเกียรติ ณ St. Catherine Chapel, Peter and Paul Cathedral ในกรุง St. Petersburg
ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้าย...
1
=================================
1
**ข้อมูลเพิ่มเติม
บ้านอิพาเทียฟ (Ipatiev House) จริงๆแล้วเป็นบ้านของพ่อค้าในเมืองเยคาเตรินเบิรฺกแต่ถูกซื้อเพื่อมาใช้ใน ภารกิจลับเฉพาะ ของพวกบอลเชวิก
ณ บริเวณแห่งนี้ได้ถูกรื้อถอนไป และได้มีการสร้างสถานที่แห่งใหม่ขึ้นมาแทนบ้านหลังนี้ นั่นคือ Church of All Saints
ส่วนบริเวณที่พระศพของทุกพระองค์ถูกฝังในคืนโหดนั้น ปัจจุบันได้ทำเป็นสถานที่รำลึกประวัติศาสตร์ชื่อว่า Ganina Yama หลุมแห่งนี้มีความลึก 3 เมตร (9 ฟุต)
💠 ย้อนเล่าถึงซาร์นิโคลัสกับอเล็กซานดร้าสักนิดนึง
จริงๆแล้ว ถ้าจะพูดถึงสองพระองค์นี้ จะบอกว่าเรื่องนึงที่ตราตรึงใจคนรุ่นหลังมากสุดเห็นจะเป็นเรื่องความรักของทั้งสอง
ทั้งคู่เป็นพระญาติห่างๆกัน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าเกี่ยวกันยังไง
แต่เคยอ่านหนังสือ เล่าไว้ว่าทั้งสองพระองค์ตกหลุมรักกันตั้งแต่อเล็กซานดร้าอายุประมาณ 12 ปี นิโคลัส 17 ปี
ทั้งคู่อายุห่างกัน 4 ปี หลังจากนั้นมา เวลาผ่านไป สองหนุ่มสาวเติบโตขึ้น และปลูกต้นรักจนงอกงาม
ตั้งแต่ได้พบกันใหม่ๆจนถึงคืนวันที่อยู่ด้วยกันวันสุดท้าย ทั้งคู่มีจดหมายรักที่เขียนถึงกันเกือบแสนฉบับ
และเนื้อความในจดหมาย บอกเลยว่าอ่านแล้วรู้เลยว่าพระองค์รักกันมากแค่ไหน มันหวานเชื่อมไปหมด
จึงควรค่าแก่การเล่าเรื่องนี้ที่สุด
💠 Tsar Nicholas II (นิโคลัสที่ 2) หรือ นิคกี้ เป็นพระราชโอรสองค์โตของ Tsar Alexander III แห่งรัสเซียกับเจ้าหญิงเดนมาร์ก Maria Feodorovna (ชื่อเดิมคือ Dagmar)
นี่คือรูปรวมครอบครัวพระองค์สมัยที่พระราชบิดายังครองราชย์ นิโคลัสคือคนที่ยืนอยู่หลังสุด
ส่วน Alexandra Feodorovna (หรือจะเรียกกันว่า อลิกซ์ แห่งเมือง Hesse) เป็นพระธิดาของแกรนด์ดยุค Louis IV (เจ้าชายเยอรมัน) กับเจ้าหญิงอังกฤษ Alice ซึ่งเป็นพระราชธิดาของ Queen Victoria แห่งอังกฤษ
อ้าว แล้วจะเกี่ยวดองกันยังไงล่ะ ในเมื่อคนนึงอยู่รัสเซีย (พ่อรัสเซีย แม่เดนมาร์ก) อีกคนอยู่เยอรมัน (พ่อเยอรมัน แม่อังกฤษ)
คืองี้ค่ะ เจ้าหญิง Alice ที่เป็นพระมารดาของอลิกซ์เนี่ย ทรงมีพระเชษฐาซึ่งต่อมาเป็นกษัตริย์อังกฤษคือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7
แล้วพระเชษฐาพระองค์นี้ก็ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเดนมาร์กอีกเหมือนกัน นามว่า Alexandra แห่งเดนมาร์ก
แล้วบังเอิ๊ญ ที่ว่า Alexandra พระองค์นี้ทรงเป็นพี่น้องกับ Dagmar หรือ Maria Feodorovna ซึ่งเป็นพระมารดาของนิโคลัสนั่นเอง
เรียกให้งงเล่นก็คือ นิคกี้เป็นลูกชายของน้องสาวของป้าสะใภ้ของอลิกซ์นั่นเอง (ฮาาา งงงงงง)
แต่ยังไม่หมด สายฝั่งนู้นออกจะไกลตัวไป เรียกว่าเป็นฐาติที่ห่างงงงเกินไป มียิ่งกว่านี้คือ
Elisabeth ซึ่งเป็นพี่สาวของอลิกซ์ (อลิกซ์มีพี่สาว 3 คน พี่ชาย 1 คน) ได้อภิเษกกับ แกรนด์ดยุคเซอร์ไก (Grand Duke Sergei Alexandrovich) ซึ่งแกรนด์ดยุคพระองค์นี้ ทรงเป็นพระอนุชาแท้ๆของ Tsar Alexander III ซึ่งก็คือพระราชบิดาของนิคกี้
สรุปให้งงเล่นอีกครั้งคือ อลิกซ์เป็นน้องสาวของน้าสะใภ้ของนิคกี้นั่นเอง (ไม่งงแล้ววว)
เพราะความเกี่ยวดองนี่เอง ทำให้ทั้งสองพบเจอกันบ่อยเวลามีงานเลี้ยงที่อังกฤษ หรือแม้แต่ในรัสเซีย
อลิกซ์สนิทกับพี่สาวคนนี้มาก จึงติดสอยห้อยตามมาเยี่ยมเยียนบ่อยหลังจากพี่สาวแต่งงานไป เลยได้พบกับนิคกี้อยู่เนืองๆ
ต่อมาเมื่อเจริญวัย อลิกซ์ก็เติบใหญ่เป็นสาวสะพรั่ง พระองค์เป็นหลานรักของ Queen Victoria
เนื่องด้วยเจ้าหญิง Alice พระมารดาของอลิกซ์ได้สิ้นพระชนม์ไปตอนพระองค์ยังเด็ก
ส่วนนิโคลัสก็เติบใหญ่เป็นเจ้าชายเนื้อหอม และพระราชบิดาก็ฝากฝังให้พระองค์เป็นรัชทายาทสืบทอดบัลลังค์ต่อไป
เมื่อทั้งสองตกลงจะอภิเษกสมรส อลิกซ์ก็จำต้องย้ายจากเยอรมันไปอยู่รัสเซีย
ไปเป็นเจ้าแห่งชีวิตของผู้คนรัสเซีย เพราะหลังจากที่ Tsar Alexander III สวรรคต นิคกี้ก็ขึ้นเป็น Tsar Nicholas II
💠 เมื่อย้ายไปอยู่รัสเซีย บรรยากาศ สภาพอากาศ ผู้คนที่รัสเซียทำให้อลิกซ์ไม่ค่อยเป็นสุขนัก
กลับไปเพิ่มความกดดันให้กับตัวเอง อีกทั้งการให้กำเนิดรัชทายาท ก็หวังแทบทุกครั้งว่าจะเป็นผู้ชาย
แต่ทั้งสองพระองค์ก็พบกับความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงแม้ว่าพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์แรกจะน่ารักน่าชัง
แต่ก็ยังไม่อาจมาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของทั้งคู่ได้
แต่แล้วในคืนวันที่ 12 สิงหาคม 1904 พระเจ้าก็ประทานของขวัญล้ำค่าในชีวิตของอลิกซ์มาให้
การประสูติของพระราชโอรสองค์เดียว อเล็กเซย์ ได้นำพาความปิติมาให้มากโข
หากแต่ความสุขยังมิทันจางหาย ความน่าตกใจก็เข้ามาแทนที่ ซาเรวิช อเล็กเซย์ทรงประชวรด้วยโรคฮีโมฟีเลีย
ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ได้รับถ่ายทอดมาจากมารดา โดยบุตรชายจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ แต่บุตรสาวจะมีโอกาสเป็นพาหะ
และชะตาชีวิตของทั้งนิคกี้และอลิกซ์ก็จมดิ่งลงอีกครั้ง
จนทำให้ในที่สุด ก็ได้มีการนำพาให้นักบวชใจร้ายอย่างรัสปูตินเข้ามาในราชสำนัก
และเขาคนนี้นี่เองคือบุคคลที่เป็นกุญแจสำคัญให้ราชวงศ์โรมานอฟล่มสลายในเวลาต่อมา
💠 สรุปแล้ว บรรดาพระราชโอรส พระราชธิดา ของทั้งสองพระองค์เรียงลำดับจากองค์โตสุดคือ
1. แกรนด์ดัชเชสโอลก้า นิโคลัยอีฟนา โรมาโนวา (Olga Nikolaevna Romanova) ประสูติ 15 พฤศจิกายน 1895
2. แกรนด์ดัชเชสทาเทียน่า นิโคลัยอีฟนา โรมาโนวา (Tatiana Nikolaevna Romanova) ประสูติ 10 มิถุนายน 1897
3. แกรนด์ดัชเชสมาเรีย นิโคลัยอีฟนา โรมาโนวา (Maria Nikolaevna Romanova) ประสูติ 26 มิถุนายน 1899
4. แกรนด์ดัชเชสอนาสตาเซีย นิโคลัยอีฟนา โรมาโนวา (Anastasia Nikolaevna Romanova) ประสูติ 18 มิถุนายน 1901
5. ซาเรวิชอเล็กเซย์ นิโคลัยอีฟ (Alexei Nikolaevich) ประสูติ 12 สิงหาคม 1904
จากเท่าที่ดูปีประสูติ แต่ละพระองค์เรียกได้ว่าแทบจะเป็นเพื่อนมากกว่าพี่น้อง เพราะอายุห่างกันไม่มาก
โดยในราชสำนักสมัยนั้นจะเรียกโอลก้าและทาเทียน่าว่า "The Big Pair" หรือ คู่พี่
และเรียกมาเรียและอนาสตาเซียว่า "The Little Pair" หรือ คู่น้อง
และอุปนิสัยของแต่ละพระองค์จะไม่เหมือนกันเลย เรียกได้ว่าเป็นสี่ใบเถาราวกับในวรรณกรรมอย่างเรื่อง The Little Women (4 พี่น้องตระกูลมาร์ช)
ทั้ง 4 พระองค์จะมีโค้ดลับ อย่างเช่นเวลาส่งจดหมายไปให้เสด็จพ่อเสด็จแม่ หรือพระประยูรญาติ ก็จะลงท้ายว่า OTMA (อ็อทม่า)
อันเป็นที่มาจากชื่อต้นของแต่ละคนนั่นเอง
O - Olga
T - Tatiana
M - Maria
A - Anastasia
แล้วถ้ามีพ่วงด้วยน้องนุชสุดท้อง ก็จะเป็น OTMAA เพิ่ม A - Alexei ต่อท้ายไปด้วย
เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าแต่ละพระองค์มีพระอุปนิสัยส่วนตัวอย่างไรบ้างค่ะ
ข้อมูลจากที่เราเคยลงไว้ในพันทิปเมื่อ 2 ปีก่อน ในกระทู้นี้ค่ะ ตอนนี้เลยเอามาใส่ใน Blockdit ไว้ด้วย >> https://pantip.com/topic/37873720

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา