11 ม.ค. 2021 เวลา 09:42 • ท่องเที่ยว
อารามนามมงคล (EP.๒/๑)
วัดเชียงมั่น ปฐมอาราม นพบุรีศรีนครพิงค์
วัดเชียงมั่น ปฐมอารามนามมงคลเก่าแก่มากกว่า ๗๒๓ ปี คู่บ้านคู่เมืองแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ตามหลักฐานศิลาจารึกด้านหน้าพระอุโบสถ จารึกพระนามพญามังราย องค์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ล้านนา พร้อมด้วยพญางำเมือง และ พญาร่วง
พระสหายที่ได้ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นหนึ่งองค์ รวมถึงได้อุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็ก (พลับพลาประทับชั่วคราว เมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่) ถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมกับพระราชทานนามว่า “วัดเชียงมั่น” มีความหมายถึง “บ้านเมืองที่มีความมั่นคง”
ปัจจุบันศาสนสถานสำคัญภายในวัดเชียงมั่น ได้รับการทำนุบูรณะปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังลายเส้นทองบนพื้นแดงชาดภายในวิหารหลวง รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา บอกเรื่องเล่าพร้อมคำบรรยายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการ สร้างเมือง และ การสร้างวัด ทั้งเวียงกุมกามและเมืองเชียงใหม่ของพญามังราย มีอยู่ ด้วยกันทั้งหมด ๑๖ ภาพ โดยให้เดินเวียนขวาจุดเริ่มต้นภาพเรื่องเล่า
(ลำดับภาพเขียนของบทความทั้งหมดจะตรงกับเหตุการณ์ที่ปรากฎอยู่ภายในวิหารหลวง สำหรับภาพประกอบในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น)
ภาพที่ ๑ กำเนิดราชวงค์ลวจังกราชลวจังกราชเทวบุตร ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ลาว เสด็จไต่เกรินเงิน (บันได) ลงมาให้ไพร่ฟ้าชื่นชมบารมี
ภาพที่ ๒ กำเนิดพญามังราย พระราชโอรสองค์ที่ ๒๕ ของลาวเมง กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงราว กับนางเทพคำขยาย ธิดาท้าวรุ่งแก่นซายแห่งเมืองเชียงรุ่ง
ภาพที่ ๓ ปกครองลุ่มแม่น้ำกก ทรงขยายอาณาเขตปกครองไปถึงเมืองฝาง พร้อมกับสร้างเมืองเชียงราย
ภาพที่ ๔ พญามังรายยึดเมืองลำพูน เข้ายึดเมืองหริภุญไชยจากพญายี่ปาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ได้อัญเชิญ “พระแก้วขาวเสตังคมณี” ขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาล
ภาพที่ ๕ พญามังรายสร้างเวียงกุมกาม พ่อค้าวานิชได้นำพระศิลามาถวาย และได้รับนางพายโคเป็นราชเทวี (ธิดาเจ้าพญาหงสา) ภายหลังเสร็จศึกสงครามเมืองหงสาวดีมาไว้ที่เวียงกุมกาม
ภาพที่ ๖ พญามังรายพบนิมิตสร้างเมืองใหม่ ระหว่างออกล่าสัตว์ ณ เชิงดอยสุเทพได้เผลอหลับและนิมิตเห็นเก้งเผือกสองแม่ลูกหากินอยู่ในป่าหญ้าดอกเลา จึงตื่นจากสุบินและสั่งให้ผู้คนแผ้วถางพื้นที่ และทอดพระเนตรจากยอดดอยลงมาปรากฏภาพแห่งชัยภูมิที่มีความเหมาะสมกับการสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์
ภาพที่ ๗ พญามังรายกำหนดเขตกำแพงเวียง ระหว่างที่พญาร่วง และ พญางำเมือง ร่วมกำหนดเขตเมืองให้ปรากฏนิมิตหนูเผือกห้าตัววิ่งลงรูใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) จึงกำหนดให้จุดดังกล่าวเป็นแจ่งศรีภูมิ และวางดวงฤกษ์สร้างเมืองเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙
ภาพที่ ๘ ตำนานผีปู่แสะย่าแสะ พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดอมนุษย์มีร่างกายใหญ่โต ขอให้ช่วยปกปักรักษาความอุดมผืนป่าและพืชพันธุ์ธัญญาหารบริเวณดอยสุเทพ – ปุย เป็นประจำในทุก ๆ ปี ชาวเชียงใหม่ได้จัดประเพณีเลี้ยง ผีปู่แสะ – ย่าแสะ ณ บริเวณเชิงดอยคำ
ภาพที่ ๙ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดสถานที่ต่าง ๆในแว่นแคว้นล้านนา ปรากฏปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง
ภาพที่ ๑๐ พญามังรายสมโภชเมืองเชียงใหม่ โปรดให้จัดงานสมโภชเมืองพร้อม สถาปนา นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็นราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนา
ภาพที่ ๑๑-๑๒ (เป็นภาพต่อเนื่อง) พญามังรายสร้างวัดเชียงมั่น และ สรงน้ำพระแก้วขาวเสตังคมณี โปรดให้สร้างวัดเชียงมั่นขึ้นเป็นวัดแรกของเชียงใหม่ และอัญเชิญพระแก้วขาวเสตังคมณี และพระศิลา ประดิษฐานไว้ ณ วัดแห่งนี้
ภาพที่ ๑๓ ประวัติวัดก๋าละก้อด (วัดพระเจ้าเม็งราย) ทรงหล่อพระพุทธรูป ๕ องค์ และให้นำหนึ่งองค์มาถวายวัดเชียงมั่น ในระหว่างนั้นไม้คานหามพระเกิดหักลงตรงบริเวณท้ายเวียง จึงให้สร้างวัดและประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ พร้อมกับให้นามว่า “วัดก๋าละก้อด” หรือ วัดพระเจ้าเม็งราย
ภาพที่ ๑๔ จารึกมังรายศาสตร์และคัมภีร์ใบลาน ทรงให้คัดลอกพระธรรมคัมภีร์ และ บันทึกพระราชกรณียกิจต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายฮีตครอง “มังรายศาสตร์” หรือ
วินิจฉัยมังราย
ภาพที่ ๑๕ พญามังรายปรนนิบัติเทวดาเมือง เพื่อให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์และสงบสุข ทรงดูแลไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ พร้อมกับการเลี้ยงดูเทวดาอารักษ์เมืองและผีเมืองอยู่เป็นนิจ
ภาพที่ ๑๖ พญามังรายสิ้นพระชนม์ ทรงช้างผ่านกลางเวียงเชียงใหม่ ต้องอสนีบาต สิ้นพระชนม์ เมื่อพ.ศ. ๑๘๕๔ ได้ถวาย
พระเพลิงตามจารีตประเพณีอย่างสมพระเกียรติ
หมายเหตุ. ชมความงาม “หอพระธรรม”
(หอพระไตรปิฎก) ท่ามกลางความสวยงาม ของโบราณสถานที่ตั้งอยู่กลางน้ำ รายล้อมไปด้วยความร่มรื่นของธรรมชาติสีเขียวและ “เจดีย์ช้างล้อม” ศิลป์สถาปัตยกรรมล้านนา องค์เจดีย์ทรงกลมปิดทองจังโก ผสมผสานฐานสี่เหลี่ยมรูปทรงปราสาท รายล้อมด้วยประติมากรรมปูนปั้นช้างครึ่งตัวจำนวน ๑๕ เชือก
เพื่อความเป็นศิริมงคลเชิญกราบไหว้
“พระเสตังคมณี” (พระแก้วขาว แกะจากผลึกหินแก้วขาวสีขุ่น) พระพุทธปฏิมากรปางมารวิชัย ศิลปะทวารวดี ขนาดหน้าตักกว้าง
๔ นิ้ว สูง ๖ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารจัตุรมุข ณ วัดเชียงมั่น เขตคูเมืองประวัติศาสตร์ ถนนราชภาคินัย
ร้อยเรียง เพื่อบอกเล่า : "ปริญญ์ทิพย์ "
แนะนำข้อมูลการปรับปรุงเพิ่มเติมได้ที่ email:harnggoon@gmail.com
มือถือ/ไอดีไลน์: 089 956 8234
โฆษณา