12 ม.ค. 2021 เวลา 15:57 • ประวัติศาสตร์
ทำไมเกาหลีใต้ห้ามโรงพยาบาลขายยาให้คนไข้?
1
ครั้งแรกที่เราป่วยจนต้องไปโรงพยาบาลที่เกาหลี เราก็สังเกตความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลในไทยกับเกาหลีได้อย่างหนึ่งคือ โรงพยาบาลจะไม่จ่ายยาให้กับคนไข้ หลังจากตรวจเสร็จ หมอจะให้ใบสั่งยามา แล้วเราก็เอาใบสั่งยานี้ไปซื้อยาที่ร้านขายยาใกล้ๆคลินิก ซึ่งมันต่างจากไทยที่พอเราพบคุณหมอเสร็จแล้วก็รับยาในแผนกยาของโรงพยาบาลหรือคลินิกได้เลย แถมยาอะไรหลายๆอย่างที่สามารถซื้อในร้านขายยาไทยโดยไม่มีใบสั่งยานั้น ในเกาหลีกลับต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ถึงจะสามารถซื้อได้ งงเป็นงงเลยสิ
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าทำไมถึงต้องแยกกันด้วยล่ะ นางเอกเกาหลีเลยหามาเล่าให้ฟังค่ะ
ในหลายประเทศแถบตะวันตก มีกฎหมายแบ่งแยกการจ่ายยาและการขายยาของแพทย์กับเภสัชกรค่ะ การแบ่งแยกหน้าที่จ่ายยาให้เภสัชกรทำได้เท่านั้นเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่ในประเทศเอเชียหลายๆประเทศนั้น หมอยังเป็นคนขายยาให้กับคนไข้อยู่ ประเทศเราเองก็ทำแบบนี้เช่นกัน
เกาหลีใต้เริ่มบังคับใช้กฎหมายแบ่งแยกการจ่ายยาและการขายยาเป็นครั้งแรกในปี 2000 (의약분업안/separation of drug dispensing from drug prescribing) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นและความไม่มีประสิทธิภาพของโรงพยาบาลค่ะ
กฎหมายการจ่ายยาและคอร์รัปชั่นเกี่ยวข้องกันยังไง?
1
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ หรือที่เรียกว่า National Health Insurance โดยกฎหมายบังคับประชาชนทุกคนจะต้องมีประกันสุขภาพนี้ แต่ประกันก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกอย่างโดยจะมีบริการทางการแพทย์บางอย่างที่ไม่รวมอยู่ค่ะ ก่อนปี2000 แพทย์จะได้ค่าบริการทางการแพทย์เวลารักษา1ครั้งตามเรทที่รัฐบาลกำหนดไว้ ทำให้ค่ารักษาไม่ได้เป็นรายได้ส่วนใหญ่ของแพทย์ค่ะ แพทย์จะได้กำไรเยอะจากเงินส่วนต่างค่าบริการอื่นๆและการจ่ายยานั่นเอง
1
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ ยาที่แพทย์นำมาใช้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเนี่ยจะเป็นยาที่ขายโดยผู้ผลิตยาหรือนักธุรกิจขายส่งยาซึ่งขายในราคาถูกๆค่ะ
แล้วมันไม่ดียังไง? ยาที่แพทย์เอามาใช้เป็นยาทีไ่ด้ดีลดีๆ เวลาสั่งให้คนไข้ก็ได้กำไรเยอะ ดังนั้น ยาที่ขายดีในเกาหลีสมัยนั้นอาจจะไม่ใช่ยาที่มีประสิทธิภาพดีจริงๆและได้รับการวิจัยมาอย่างดีแล้ว เหตุผลนี้ทำให้กลุ่มเภสัชและบริษัทผลิตยาไม่มีแรงบันดาลใจในการวิจัยเพื่อผลิตยาคุณภาพดีๆจริงๆ
นอกจากนี้ เพื่อกำไรที่มากขึ้น มักมีการสั่งยาให้คนไข้มากเกินจำเป็นหรือให้ยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะกำไรที่มากกว่าด้วยค่ะ
กฎหมายแบ่งแยกหน้าที่การจ่ายยากับการขายยาปี 2000 แน่นอนว่าทำให้กำไรของแพทย์ลดลงอย่างมาก รัฐบาลจึงขึ้นค่าบริการทางการแพทย์ให้ อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าบริการทางการแพทย์เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ผิดกับรายได้ส่วนต่างจากการขายยา ทำให้ทั้งสมาคมแพทย์และเภสัชต่างๆในเกาหลีออกมาประท้วงวิ่งเต้นไม่ให้กฎหมายนี้บังคับใช้ โดยมีข้อโต้แย้งรัฐบาลคือ การแบ่งแยกหน้าที่การจ่ายยากับการขายยาเนี่ยจะตัดช่องทางที่คนไข้จะสามารถเข้าถึงยาอย่างสะดวกสบายและราคายาที่จะแพงขึ้น ทำให้การบริการการแพทย์คุณภาพต่ำลง!
1
เภสัชกรก็ต่อต้านกฎหมายนี้มาตั้งแต่แรกเช่นกัน เพราะว่าเมื่อก่อนเภสัชสามารถแนะนำและจ่ายยาให้ลูกค้าได้เลยโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ถือว่าเป็นอำนาจทางอาชีพที่ทับซ้อนกับแพทย์อยู่ นอกจากนี้ แม้ว่าสองในสามของบริษัทผลิตยาในเกาหลีจะเป็นบริษัทเล็กๆที่ไม่มีกำลังทุ่มทำการวิจัยเพื่อยาที่มีคุณภาพเพียงพอ พวกเขาก็ยังอยู่ได้เพราะมีแพทย์จากคลินิกเอกชนต่างๆสั่งเพราะราคานั่นเอง
3
ความพยายามในการปฏิรูประบบการแพทย์ของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นเลย เพราะทั้งแพทย์และเภสัชกรคัดค้านหัวชนฝา ทั้งนี้ก็ยิ่งยากเข้าไปอีกเพราะสถานที่บริการทางการแพทย์ในเกาหลีนั้นกว่า 90%เป็นของเอกชนค่ะ อย่างไรก็ตาม ด้วยการช่วยผลักดันของกลุ่มประชารัฐต่างๆ รัฐบาลก็ผลักดันกฎหมายได้ในที่สุด
1
ดังนั้น ปัจจุบัน เกาหลีจึงมีการแยกหน้าที่การสั่งยาให้เป็นของแพทย์ และการขายยาให้เป็นของเภสัชกรอย่างชัดเจน แม้จะป่วยเป็นอะไรนิดหน่อย คนเกาหลีก็จะต้องไปคลินิกหรือโรงพยาบาล เพราะไม่สามารถซื้อยาเองจากร้านขายยาได้ โดยเฉพาะ anti-biotics ยาแก้อักเสบหลายตัว ฯลฯ ยาที่สามารถซื้อได้โดยไม่มีใบสั่งยานั้นเป็นยาสามัญประจำบ้านพื้นๆเท่านั้น เช่น ไทลินอล ยาแก้ปวดประจำเดือน ยาแก้แพ้ ฯลฯ
แม้ว่าผลเสียจะเกิดกับบุคลากรทางการแพทย์เพราะเสียกำไรไปมาก แต่ในระยะยาว การปฏิรูปนี้มีผลดีต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้ยามากเกินไปหรือยาผิดประเภท
อ่านถึงตรงนี้แล้ว แล้วท่านผู้อ่านคิดว่าไทยควรปฏิรูปแบบนี้ไหมคะ?
อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม
Kwon, S. (2003). Pharmaceutical reform and physician strikes in Korea: Separation of drug prescribing and dispensing. Social Science & Medicine, 57(3), 529-538. doi:10.1016/s0277-9536(02)00378-7
โฆษณา