12 ม.ค. 2021 เวลา 08:01 • ธุรกิจ
ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo กลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยอันดับ 2 ของจีน ขณะที่บริษัทกำลังเผชิญปัญหาการฆ่าตัวตายของพนักงาน
Pinduoduo อีคอมเมิร์ซ สัญชาติจีน ที่ทำการขายสินค้าออนไลน์โดยขายทุกอย่างเท่าที่จะขายได้ ตั้งแต่กระดาษทิชชู่ไปจนถึงผลไม้สด สมาร์ทโฟน ซึ่งจุดขายคือ “ราคาถูก” กว่าเจ้าอื่นอย่างชัดเจน PINDUODUO (อ่านว่า พินตัวตัว) 拼多多 โดยมาจากคำว่า 拼 แปลว่า เอามารวมกัน และ 多 แปลว่ามาก รวมความหมายคือการรวมกันซื้อมากๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ พินตัวตัว ประสบความสำเร็จ
และตอนนี้ โคลิน หวง (Colin Huang) ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ Pinduoduo ได้กลายมาเป็นผู้ที่ร่ำรวยสุดอันดับสองของจีน แซงหน้า แจ๊ค หม่า (Jack Ma) แห่ง Alibaba Group Holding และ โพนี หม่า” (Pony Ma) หรือ หม่า ฮั่วเถิง (Ma Huateng) แห่ง Tencent Holdings ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Bloomberg Billionaires Index รายงานว่า โคลิน หวง มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 63,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หุ้น Pinduoduo ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ปรับเพิ่มขึ้น 7.77% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นดังกล่าวขยับเข้าใกล้ 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การขยับขึ้นครั้งนี้ เป็นการขยับติดต่อกันสองวัน ทำให้สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งมา 5 ปีนี้มีมูลค่าเกิน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความมั่งคั่งของ โคลิน หวง นี้มาเป็นอันดับสองในจีน เป็นรองเพียงแค่ จง ซาน ซาน (Zhong Shanshan) มหาเศรษฐีจีน เจ้าของ หนง ฟู่ สปริง (Nongfu Spring) บริษัทน้ำดื่มที่ครองตลาดจีนและ Beijing Wantai Biological Pharmacy บริษัทเวชภัณฑ์ที่กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งล่าสุดทำสถิติมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 87,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำหุ้นเข้าจะทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อก.ย.ปีที่แล้ว
Pinduoduo ก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเมืองระดับล่าง และหมู่บ้านที่อยู่ไกลกว่ากลุ่มเป้าหมายของบรรดาคู่แข่งยักษ์ใหญ่ บริษัทได้ประกาศแผนเมื่อช่วงต้นปีว่า ปีนี้จะลงทุนอย่างน้อย 50,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 7,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ 5 ปีข้างหน้าเพื่อริเริ่มโครงการค้าปลีกออนไลน์ในพื้นที่ชนบทของจีน และช่วยสร้าง “โครงสร้างพื้นฐานใหม่” เพื่อที่จะกระตุ้นความต้องการสินค้าเกษตรกรรมทั่วประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังเผชิญกับปัญหาอดีตพนักงานฆ่าตัวตายหลังจากที่โดนไล่ออก เนื่องจากเขาได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานอันแสนสาหัสที่ Pinduoduo โดยเขาได้เผยแพร่วีดิโอ ก่อนที่จะฆ่าตัวตาย มีความยาว 15 นาทีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งกล่าวหาว่า พนักงานของ Pinduoduo จะต้องทำงาน 300 ถึง 380 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่าแนวคิดการทำงานแบบ 996 คือการทำงานตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 21.00 น. เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์รวมถึงการทำงานล่วงเวลา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานหามรุ่งหามค่ำของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในจีน และเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในอดีต กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
วีดิโอเผยแพร่ดังกล่าว พนักงานผู้นี้ได้ระบายความในใจว่า “บางทีมจะมีการพูดคุยกับพนักงาน หากพนักงานยังทำชั่วโมงไม่พอ อย่างทีมของชำ ที่สำนักงานใหญ่ จะต้องทำงานอย่างน้อย 380 ชั่วโมงต่อเดือน และถ้าทำงานน้อยกว่านั้น ก็จะมีการสอบถามว่ามีงานทำเพียงพอหรือไม่” นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงบริษัทว่า ขาดความเอาใจใส่พนักงานอย่างที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อื่นๆมี
Pinduoduo ได้ออกมาปฏิเสธวีดิโอข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยกล่าวว่า พนักงานคนดังกล่าวได้โพสต์ภาพรถพยาบาล และ “การให้ความเห็นที่ไม่เหมาะสม” และอ้างว่าเขาถูกไล่ออกเพราะการโพสต์ดูหมิ่นบริษัทในสังคมออนไลน์แพลทฟอร์มต่างๆ นอกจากนี้ Pinduoduo ยังได้กล่าวว่า ข้อกล่าวหาอื่นๆที่มีการพูดถึงในวีดิโอนั้น ไม่มีเค้าความจริง
ทั้งนี้ การไล่ออกชายคนดังกล่าว เป็นที่โจษจันมากที่สุดใน Weibo แพลทฟอร์มสังคมออนไลน์เหมือน Twitter ของจีน ซึ่งมียอด Like มากกว่า 2 ล้านครั้ง ส่วนโพสต์ของ Pinduoduo เพื่อแก้ต่างการตัดสินใจไล่ออกนั้น มียอดวิวถึง 240 ล้านวิว พร้อมกับมีคอมเมนท์มากมาย เช่น “จะลบแอป Pinduoduo จะให้แม่ลบแอป จะให้น้องสาวลบแอปนี้ ให้หมด” อีกทั้งยังมี กระแสวิพากษ์วิจารณ์ และข้อกังขาต่อ Pinduoduo โดยในโลกออนไลน์ยังมีการเขียนโพสต์ต่อว่าใน Weibo ไม่ว่าจะเป็น “Pinduoduo ไร้หัวใจ โคลิน หวง ไร้หัวใจ” “นายทุนแวมไพร์ดูดเลือดพนักงาน” “อย่ามาโอ้อวดเรื่องการให้แก่สังคม”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีการเสียชีวิตของพนักงาน Pinduoduo รายหนึ่ง ที่ฟุบลงกลางดึกขณะเดินทางกลับบ้าน ทำให้การฆ่าตัวตายของพนักงาน นำกระแสการวิพากษ์วิจารณ์กลับมาอีกครั้ง สำนักข่าวซินหัวของจีน กล่าวว่า ประเทศจีนจำเป็นที่จะต้อง “ถอนการให้คุณค่าผิดๆเบื้องหลังกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีนี้ทันที” นอกจากนี้ทางการท้องถิ่นในเซี่ยงไฮ้ ได้กล่าวว่า พวกเขากำลังสืบสวนสภาวะการทำงานต่างๆที่ Pinduoduo
หนำซ้ำ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา มีพนักงาน Pinduoduo วัย 23 รายหนึ่ง ได้ทำการฆ่าตัวตาย ด้วยการกระโดดจากชั้น27 ของอพาร์ทเมนท์ในบ้านเกิดของเขา โดยพนักงานรายนี้ เพิ่งเข้าทำงานกับบริษัทเมื่อเดือน ก.ค. และ Pinduoduo ได้เปิดเผยว่า พนักงานคนดังกล่าว ได้ขอลาหยุดหนึ่งวันก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตาย
บริษัทได้แสดงความรู้สึกเสียใจกับการเสียพนักงานของบริษัทจากการฆ่าตัวตาย
กรณีเหล่านี้ ได้ทำให้เกิดการพิจารณาในเรื่องการปฏิบัติของกลุ่มเทคโนโลยีอีกครั้ง โดยผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมนี้ ต่างตั้งข้อสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงและเป็นงานอันทรงเกียรติแบบนี้
นักวิเคราะห์กลุ่มเทคโนโลยีในปักกิ่งรายหนึ่ง หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง และก็รู้ดีว่า “วัฒนธรรมบริษัท” ไม่ได้มีการจ้างงานที่เป็นเอกลักษณ์ในจีนอย่างในชาติตะวันตก ประเด็นหลักคือ จีนไม่ได้ขาดคนที่มีความสามารถ ดังนั้นความไม่สมดุลในตลาดแรงงานจึงได้ผลักดันให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้
ถึงกระนั้นมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีอย่างแจ็ค หม่า เจ้าของ Alibaba Group Holdings Ltd. รวมถึงริชาร์ด หลิว นายใหญ่ของ JD.com ยังคงยืนยันการปฏิบัติตามความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง และยังเป็นกุญแจสำคัญในการกอบโกยความมั่งคั่งของตัวเอง ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
ที่มาและภาพ
โฆษณา