15 ม.ค. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดของมันสำปะหลัง
พืชหัวชนิดต่อไปที่เราจะไปรู้จักกันคือ มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Manihot esculenta])
มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศไนจีเรีย
มันสำปะหลังสามารถนำมาผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลังเพื่อประกอบอาหารต่างๆ ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน นอกจากนั้นสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล เป็นเชื้อเพลิงได้ และสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้
แต่มันสำปะหลังไม่ได้มีจุดกำเนิดในประเทศไทย แล้วมันสำปะหลังมาจากไหน?
พืชในสกุลเดียวกับมันสำปะหลัง [Manihot] มีประมาณ 98 ชนิด และพบแพร่กระจายอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ในขณะที่เราสามารถพบมันสำปะหลังป่า [M. esculenta subsp. flabellifolia] ได้ในเขตตะวันตกของประเทศบราซิล ไปจนถึงแถบตะวันออกของประเทศเปรู โดยมันสำปะหลังป่ามักจะพบแพร่กระจายอยู่ระหว่างพื้นที่แบบสะวันนาที่เรียกว่า Cerrado กับป่าฝนเขตร้อนบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอนในบราซิล
ภาพแสดงพื้นที่แบบ Cerrado (สีม่วง) ที่เป็นพื้นที่แบบสะวันนาในประเทศบราซิล มันสำปะหลังป่ามีการแพร่กระจายในบริเวณแนวขอบด้านบนของ Cerrado (ที่มา By Terpsichores - CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=22961164)
จากการศึกษาในเชิงพันธุกรรมของมันสำปะหลังพบว่า มันสำปะหลังสายพันธุ์ที่นำมาปลูกกันนั้นน่าจะมีจุดกำเนิดมาจากบริเวณขอบทางใต้ของป่าแอมะซอน โดยเป็นพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกมาจากมันสำปะหลังป่า [M. esculenta subsp. flabellifolia] ที่แพร่กระจายอยู่ในแถบนั้น และมันสำปะหลังมีบรรพบุรุษเป็นมันสำปะหลังป่าชนิดเดียว และไม่ได้มีการเป็นลูกผสมกับพืชชนิดอื่น (เช่น [Manihot pruinosa]) อย่างที่เคยเชื่อกันมาในอดีต
การเปลี่ยนแปลงจากมันสำปะหลังป่า (ซ้าย) ไปเป็นมันสำปะหลังที่เป็นพืชเศรษฐกิจ (ขวา) ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ (a) ลักษณะต้น (b) รากที่สะสมอาหาร (c) การออกดอก (ที่มา Carvalho et al., 2018)
โดยมันสำปะหลังถูกนำมาเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อ 8,000 - 10,000 ปีก่อน โดยมันสำปะหลังป่าถูกคัดเลือกพันธุ์ให้มีหัวที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น มีอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงที่สูงขึ้น และสามารถขยายพันธ์ุโดยการปักชำได้ ในขณะที่มันสำปะหลังป่าไม่สามารถงอกจากการปักชำได้
หลักฐานการปลูกมันสำปะหลังที่เก่าแก่ที่สุดถูกพบใกล้กับป่าแอมะซอนในปี 2018 โดยพบมันสำปะหลังติดกับเครื่องมือหินในประเทศบราซิลบริเวณใกล้เคียงกับเขตแดนของโบลิเวีย โดยซากมันสำปะหลังที่พบนั้นถูกศึกษาหาอายุได้ประมาณ 6,000 ปี โดยนอกจากมันสำปะหลังที่พบแล้ว ยังพบฟักทอง [Cucurbita sp.] ถั่ว [Phaseolus] และฝรั่ง [Psidium] ในพื้นที่ศึกษาอีกด้วย ทำให้เราทราบว่าพืชเหล่านี้คือ พืชผลทางการเกษตรโบราณที่พบในพื้นที่ป่าแอมะซอนนี้
ต่อมามันสำปะหลังกลายเป็นพืชอาหารหลักของผู้คนที่อาศัยอยู่ในตอนเหนือของอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง เช่น ในอารยธรรมมายา ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลกผ่านนักเดินเรือชาวสเปนและโปรตุเกสที่นำมันสำปะหลังไปยังทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียในศตวรรษที่ 16 และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งในแถบเอเชียและแอฟริกาในเวลาต่อมา
ทุ่งมันสำปะหลัง
ฟัก แฟง แตงโม ใครใกล้ชิดใครบ้าง?
เอกสารอ้างอิง
2. Olsen, KM; Schaal, BA (1999). "Evidence on the origin of cassava: phylogeography of Manihot esculenta". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 96 (10): 5586–91.
5. Carvalho, Luiz & Anderson, James & Chen, Songbi & Mba, Chikelu & Dogramaci, Munevver. (2018). Domestication Syndrome in Cassava (Manihot esculenta Crantz): Assessing Morphological Traits and Differentially Expressed Genes Associated with Genetic Diversity of Storage Root. 10.5772/intechopen.71348.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา