Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เล่าเป็นเรื่อง
•
ติดตาม
12 ม.ค. 2021 เวลา 16:06 • หนังสือ
รีวิวหนังสือ 2021: เล่มที่ 2- The Basic laws of Human stupidity โง่ศาสตร์ กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลา “คาร์โล เอ็ม. ชิโปลลา นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอิตาลี ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ผู้ได้รับทุนฟุลไบร์ท ใช้แว่นตาเศรษฐศาสตร์มองคนโง่และปรากฎการณ์ความโง่ ที่เป็นมหาภยันตรายของมวลมนุษยชาติ แล้วสกัดออกมาเป็น กฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขา” หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1976 เพื่อแจกจ่ายให้เพื่อนๆในวงเล็กๆก่อนที่จะนำมาตีพิมพ์ในวงกว้างในปี 2011
1
เป็นหนังสือเล่มเล็กๆบางๆที่อ่านคำโปรยแล้วทำให้ผู้เขียนต้องหยิบขึ้นมาอ่านอย่างไม่ลังเล ในฐานะที่เรียนจบมาด้านนี้ ด้วยความสงสัยว่าเราสามารถมีแนวคิดมองคนโง่ในเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างไร ชิโปลลาได้นิยามความหมายของคนโง่เอาไว้อย่างเข้าใจง่ายๆว่า “คนโง่คือคนที่สร้างความเสียหายแก่คนอื่นหรือกลุ่มอื่น ทั้งที่ไม่ได้รับประโยชน์ กระทั่งอาจได้รับความเสียหายด้วยซ้ำ”พูดง่ายๆก็คือ คนที่ควรจะอยู่เฉยๆดีกว่า เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ก่อไม่เกิดประโยชน์กับตนเองหรือผู้ใด ซ้ำร้ายอาจทำให้เรื่องต่างๆแย่ลงไปอีก
หนังสือเล่มนี้มีการแบ่งหมวดหมู่แบ่งกฎพื้นฐานว่าด้วยความโง่เขลาไว้ 5 ประการ
ข้อที่ 1 คือ “เราทุกคนประเมินจำนวนคนโง่ที่วนเวียนอยู่ในสังคมน้อยเกินไปเสมอโดยปราศจากข้อยกเว้น” หนังสือพยายามบอกว่าความคิดนี้อาจจะดูเหมือนเป็นคนใจแคบอย่างร้ายกาจ แต่หากให้เราลองประเมินดูจากที่วันแล้ววันเล่า กิจกรรมของเราถูกรังควานอย่างซ้ำซากจากคนเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า การประเมินสัดส่วนคนโง่จากประชากรทั้งหมดน่าจะต่ำกว่าความจริงเสมอ
ข้อที่ 2 คือ “โอกาสที่ใครสักคนจะเป็นคนโง่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะอื่นใดของเขาเลย” ขยายความพอให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ความโง่ไม่ได้แบ่งแยกด้วยเพศ ชนชั้น หรือการศึกษา ในหนังสือถึงขนาดอ้างงานวิจัยว่า เราพบคนโง่ในอัตราส่วนที่เท่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณากลุ่มคนขนาดใหญ่มากหรือเล็กมากก็ตาม แต่ทั้งนี้หนังสือไม่ได้เขียนไว้ว่าเขามีวิธีวัดความโง่ อย่างไร ?
ข้อที่ 3 คือ “คนโง่คือคนที่สร้างความเสียหายแก่คนอื่นหรือกลุ่มอื่น ทั้งที่ไม่ได้รับประโยชน์ กระทั่งอาจได้รับความเสียหายด้วยซ้ำ” หนังสือพยายามอธิบายทฤษฎีที่นิยามคนโง่นั้นด้วยกราฟ (สมกับเป็นนักเศรษฐศาสตร์เขียนจริงๆ) โดยแกน x แนวนอนนั้น แสดงถึงเรื่องของตัวเราเอง และแกน Y ที่เป็นแนวตั้งแสดงถึงเรื่องของคนอื่น หนังสือได้มีการแบ่งคนไว้ 4 ประเภทด้วยกัน 1) สมมุติว่าเราอยู่ในฝั่งขวาบน คือคุณกระทำอะไรที่เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นด้วยแสดงว่า คุณคือคนฉลาด-intelligent แต่หาก 2) คุณกระทำอะไรที่คิดแต่หาประโยชน์เข้าตัวเอง แต่การกระทำนั้นส่งผลเสียกับผู้อื่น คุณก็จะอยู่ฝั่งขวาล่าง นิยามของคนประเภทนี้คือ คนโฉด-bandit ถัดมา3) ทางด้านซ้ายบนก็คือคนที่ตัวเองเสียประโยชน์ แต่ว่าผู้อื่นได้ประโยชน์ ผู้เขียนได้นิยามคนกลุ่มนี้ไว้อย่างเสียดสีว่าเป็นพวกคนกระจอก-Helpless ประมาณว่าแกทำตัวแกเอง อืมม์! สุดท้าย 4) คนที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ด้วยในขณะที่คนอื่นก็เสียประโยชน์ด้วยจากการกระทำของคุณเขาเรียกว่าเป็นคนโง่-stupid
หนังสือพยายามอธิบายว่า การรับมือกับคนโฉดมันง่ายกว่าการรับมือกับคนโง่ เพราะการกระทำของคนเหล่านี้เราคาดเดาได้เพราะเขากระทำสิ่งใดๆก็ตามเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือคนโง่-stupid และที่สำคัญคนโง่บางส่วนดันไปมีตำแหน่งที่ทรงอำนาจและทรงอิทธิพล ซึ่งในหนังสือก็พยายามตั้งคำถามว่า ทำไมคนโง่ถึงมีอำนาจได้ เพราะเขากระทำสิ่งต่างๆที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ไม่มีแพทเทิร์นที่ตายตัว คนส่วนใหญ่ก็จะถูกกระทำหรือจู่โจมโดยไม่รู้ตัว และเราก็ไม่สามารถตั้งรับอย่างมีเหตุผลได้ เหตุผลไม่สามารถรับมือกับคนเหล่านี้ได้
1
ข้อที่ 4 คือ “คนไม่โง่มักประเมินอำนาจทำลายล้างของคนโง่ต่ำเกินไป กล่าวให้ชัดคือ คนไม่โง่มักลืมเสมอว่าเมื่อพวกเขารับมือ และ/หรือข้องแวะกับคนโง่ไม่ว่าในเวลา สถานที่ หรือโอกาสใด ผลที่ตามมาล้วนเป็นความผิดพลาดราคาแพงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้” เราอาจจะหวังที่จะเอาเปรียบคนโง่ แต่เนื่องด้วยที่พฤติกรรมที่ไร้รูปแบบ คาดเดาได้ยาก ไม่นานเราจะถูกบดขยี้ด้วยกระบวนท่าไร้ทิศทางของคนเหล่านี้
ข้อที่ 5 คือ “คนโง่เป็นคนประเภทที่อันตรายที่สุด” โดยส่วนสุดท้ายของหนังสือมีคำถามที่ว่าคนโง่ทำสิ่งที่เกิดผลเสียทั้งกับตนเองและผู้อื่นไปทำไม ก็อาจจะตอบได้ง่ายๆว่า ก็เพราะเขา โง่น่ะซิถึงได้ทำอย่างนั้น
หนังสือเล่มนี้ดูออกจะเป็นเนื้อเรื่องที่ตลกร้าย แต่กลับชวนตั้งคำถามเมื่ออ่านจบว่า หากมีตัวเลือกแค่ 2 ทางเลือก ระหว่างคนโฉด-bandit กับ คนโง่-stupid เราควรที่จะเลือกใครมากกว่ากัน คนแบบไหนที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยกว่ากัน?
เมื่ออ่านจบถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนคิดทบทวน มีความเห็นว่านิยามของคนฉลาด-Intelligent ที่หนังสือเล่มนี้กล่าวไว้ ช่างมีความเชื่อมโยงกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงดับขันธปรินิพพาน ท่านทรงตรัสไว้ว่า
“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ”
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไป เป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังกิจทั้งปวง อันเป็นประโยชน์ของตน และ ประโยชน์ของผู้อื่น ให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิดฯ”
เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ หน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ การใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์สุขแก่สังคมเกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน- นี่ล่ะคือวิถีของคนฉลาดของพระพุทธเจ้า
11 บันทึก
8
4
17
11
8
4
17
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย