เตรียม! ลงทะเบียนรับ 3,500 สิ้นเดือนนี้ ตรวจบัญชีใครเงินเยอะ หมดสิทธิ์!
.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังจะเร่งพิจารณามาตรการบรรเทาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม โดยกำหนดวงเงินช่วยเหลือ เดือนละ 3,500 บาท นาน 2 เดือน โดยจะเสนอหลักการจ่ายเงินบรรเทาความเดือดร้อนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ในวันที่ 19 ม.ค.2564
.
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องมาลงทะเบียนผ่านแอพลิเคชัน หรือ เว็บไซต์ที่คลังเปิดไว้ คาดว่ากำหนดระยะเวลาลงทะเบียนเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือน ม.ค. และผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ จะสามารถกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ในเดือนแรกได้อย่างช้าสุดไม่เกินสัปดาห์แรก ของเดือน ก.พ.2564 ครอบคลุม 2 เดือน
.
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า กลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มข้าราชการ กว่า 3 ล้านคน พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกัน ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้งผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งคลังจะมีเกณฑ์มาวัดว่ารายได้เท่าใด จึงจะไม่ได้รับเงิน 3,500 บาท โดยพิจารณา บัญชีเงินฝาก รายได้เข้าออกเดือนต่อเดือน ฐานข้อมูลผู้เสียเงินภาษี เป็นต้น
.
ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินบรรเทาทุกข์ จะแบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ผ่านเว็บไซต์ หรือแอพลิเคชั่น “เราชนะ” เช่น กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และกลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิ์แล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ก็ต้องมาพิจารณาคุณสมบัติว่าจะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินบรรเทาทุกข์ด้วยหรือไม่อีกครั้ง และ กลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย
.
“กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว ในหลักการก็จะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เหมือน มาตรการเราไม่ทิ้งกันก่อน เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และมัคคุเทศก์ เป็นต้น” นายกฤษฎา กล่าว
.
สำหรับเว็บไซต์ "เราชนะ" คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ภายในช่วงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ โดยจะแจกเงิน 2 เดือน คือ ก.พ.และมี.ค. ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียน จะไม่ยุ่งยาก เหมือนมาตรการเราไม่ทิ้งกัน ที่มีชุดคำถามเชิงลึก เพื่อพิจารณาว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องงบประมาณในการใช้แจกเงินรอบนี้ อยู่ระหว่างสรุป แต่ยืนยันว่าจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังพอเพียง ไม่ต้องกู้เพิ่ม