13 ม.ค. 2021 เวลา 03:54 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
A Beautiful Day in the Neighborhood
Marielle Heller, 2019, US / China
เรื่องราวจากเหตุการณ์จริงของนักเขียนหนุ่ม ลอยด์ โวเกิล (Matthew Rhys) ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักพิมพ์ให้มาเขียนอวยชีวประวัติคนดังแห่งปีอย่าง เฟรด โรเจอร์ส (Tom Hanks) พิธีกรรายการเด็กชื่อดังที่คนอเมริกันทุกคนต้องรู้จักเขา ซึ่งแนวเขียนอวยคนอื่นก็เป็นแนวที่ลอยด์ไม่ถนัดซะด้วย เพราะปกติเขาเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย และจะเขียนด่าคนดังอย่างเดียว การพบเจอกันคราวนี้ระหว่างลอยด์กับเฟรด ทำให้ลอยด์ได้พบกับแง่คิดสอนใจที่ทำให้เขากลับมามองโลกในแง่ดีกับเข้าใจในความเป็นไปต่างๆของชีวิต ทั้งยังนำไปใช้กับครอบครัวของเขา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อของเขาเอง
จากชีวประวัติบุคคลอีกหนึ่งที่บุคคลที่สำคัญของอเมริกา เฟรด โรเจอร์ส ที่ถูกเขียนในบทความ “Can You Say…‘Hero’ ” โดย ทอม จูโนด (Tom Junod) นักเขียนจากนิตยสาร Esquire ที่มีโอกาสไปสัมภาษณ์เฟรด โรเจอร์ส เพื่อมาลงนิตยสาร ช่วงเรื่องราวตรงนี้เหมือนกับเรื่องย่อทุกประการ เพียงแต่อาจมีรายละเอียดที่อาจเติมแต่งเข้าไป เช่น ในหนังก็มีอยู่ซีนหนึ่งที่ทอม หรือในเรื่องคือ ลอยด์ โวเกิล ได้ชกต่อยกับพ่อของตัวเอง จากซีนนี้เองทอมก็ได้เขียนโต้ตอบลงในนิตยสาร The Atlantic ว่า เหตุการณ์จริงๆนั้นเขาไม่เคยชกพ่อตัวเองในงานแต่งงานของน้องสาว และน้องสาวของเขาเองก็ไม่เคยแต่งงานอีกด้วย
Tom Junod (คนซ้าย) กับ Fred Rogers (คนขวา)
เสริมข้อมูลเกี่ยวกับ เฟรด โรเจอร์ส ซักหน่อยว่าเขาคือพิธีการรายการทีวีที่สร้างสรรค์ผลงานรายการเด็กในอเมริกามาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ปี โดยรายการของเขามีชื่อว่า Mister Rogers’ Neighborhood อารมณ์เหมือนเจ้าขุนทองในบ้านของเรา ที่มีการเล่น puppet ตุ๊กตามือ โดยในเนื้อหาสำหรับรายการเด็กนั้นก็มีการแทรกเรื่องการมองชีวิต การต่อต้านความรุนแรง และสงครามไว้ให้เป็นข้อคิด นอกจากนั้นเขายังทำหนังสือเกี่ยวกับเด็กอีกด้วย เฟรดเสียชีวิตลงในปี 2003 ด้วยโรคมะเร็งในกระเพราะอาหาร
ความน่าสนใจสำหรับหนังเรื่องนี้คือการเล่าเรื่อง หนังมีภาพลักษณ์เป็นหนังชีวประวัติ โดยธรรมชาติของหนังแบบชีวประวัตินั้นมักจะเน้นไปที่ตัวละครหลักตัวนั้นที่ต้องการจะแสดงชีวประวัติ ซึ่งในที่นี้ก็คือตัวของเฟรด โรเจอร์ส แต่สำหรับ A Beautiful Day in the Neighborhood นั้น หนังเลือกที่จะจับไปที่ตัวละครที่ไม่ใช่เจ้าของชีวประวัติโดยตรง เน้นไปที่ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่เจอกับเจ้าของชีวประวัตินั้น ในที่นี้คือตัวละครของนักเขียน ลอยด์ โวเกิล ที่หลังจากเจอกับเฟรด โรเจอร์สแล้วก็เปลี่ยนเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากยิ่งขึ้น ให้อภัยต่อความผิดพลาดของพ่อตนเองที่ทำในอดีต จากผลที่ว่าไปตรงนี้มันทำให้เรายิ่งเห็นได้ถึงความเก่งกาจ หรือความดีงามของตัวละครเฟรด โรเจอร์ส แบบที่ไม่ต้องเล่าเยอะแต่อย่างใด หากเฟรด โรเจอร์สเป็นไลฟ์โค๊ช การอวยตัวเฟรดที่ดีที่สุดไม่ใช่การติดตามตัวเฟรด แต่เป็นการติดตามผลการเรียนของนักเรียนในหลักสูตรนี้ต่างหาก
การอวยตัวเฟรดที่ดีที่สุดไม่ใช่การติดตามตัวเฟรด แต่เป็นการติดตามตัวละครอื่นนที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเฟรดต่างหาก
สำหรับตัวละครของเฟรด โรเจอร์สนั้นหนังไม่ได้ให้น้ำหนักในความชัดเจนทางบุคลิกขนาดนั้น ตรงนี้มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราจะได้เห็นความซับซ้อนของตัวละครผ่านความซับซ้อนที่หนังสร้างความคลุมเครือตรงนี้อีกที ส่งผลให้เฟรดเป็นตัวละครที่ถูกสร้างให้มีมิติ ไม่ได้มีหน้าแค่เพียงไลฟ์โค๊ชอย่างเดียว หากยังมีหน้าที่ตนเองต้องรับมือกับความเจ็บปวด ความไม่พอใจอีกด้วย ในส่วนนี้เห็นได้จากระหว่างการถ่ายทำรายการเราจะเห็นเฟรดมีอาการเหมือนคนปวดโน้นปวดนี้อยู่ตลอดเวลา หรือกระทั่งในแง่ของจิตใจ ในซีนสุดท้ายเราจะเห็นเฟรดนั่งเล่นเปียโนอยู่คนเดียวแล้วระบายความอัดอั้นตันใจซึ่งคนดูไม่รู้ว่าคืออะไรลงในเปียโนแบบเล่นเป็นคีย์ต่ำ (เหมือนเล่นเปียโนมั่ว) ทั้งในซีนนี้ยังมีการจัดแสงแบบ Low Key หน้าของตัวละครตกอยู่ในเงามืด อันเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งเรื่องเราแทบไม่ได้เห็นหน้าของเฟรดที่มีจัดแสงตรงใบหน้าที่มืดขนาดนี้มาก่อนจนกระทั่งซีนนี้
จังหวะของหนัง - เป็นสิ่งที่น่าพูดถึงอยู่เหมือนกัน เพราะนี้เป็นหนังที่มีจังหวะที่เนิบช้ากว่าหนังปกติ อาจเป็นความตั้งใจของผู้กำกับก็เป็นได้ที่ตั้งใจจะสื่อสารอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับความเนิบช้านี้ ในหนังมีซีนหนึ่งที่น่าวิเคราะห์ตีความ เป็นสารคดีที่รายการของเฟรดไปถ่ายเรื่องของการตีพิมพ์นิตยสารกระดาษว่าต้องผ่านกรรมวิธีใดบ้าง ตรงนั้นหนังจับอยู่ที่กรรมวิธีการผลิตนิตยสารนั้นนานมาก ค่อยๆพูดทีละเรื่อง ทั้งกระดาษนิตยสารมาได้อย่างไร ต้องจัดวางรูปหน้าแบบไหน ทีมบรรณาธิการต้องทำอะไรต่อ โดยตอนดูก็ไม่ค่อยจะเข้าใจว่าซีนนี้หนังมันจะสื่อสารอะไร แต่พอดูหนังจบแล้วลองพิจารณาอีกทีก็พบว่านี่เป็นสารที่กำลังจะบอกว่าบางทีเราไม่ต้องไปรวดเร็วทุกเรื่องก็ได้ ช้าบ้างก็ได้ ไร้สาระบ้างก็ได้ จังหวะของชีวิตไม่จำเป็นต้องรวดเร็วดไปทั้งหมด เหมือนหนังเรื่องนี้ A Beautiful Day in the Neighborhood ที่ไม่ต้องรวดเร็วเหมือนหนังเรื่องอื่นในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยสัตว์ประหลาดตัวใหญ่และการระเบิดโครมครามเต็มไปหมด โดยส่วนตัวรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังดราม่าที่มีจังหวะเนิบช้าเหมือนหนังดราม่าช่วงยุค 90’s จะมีความรู้สึกอุ่นๆอบอวลตลอดทั้งเรื่อง
จังหวะของหนังเปรียบเสมือนการนั่งพักผ่อน
นักแสดงเป็นอีกสิ่งที่ต้องพูดถึง สำหรับหนังเรื่องนี้ หนังได้นักแสดงนำผู้ขับเคลื่อนเนื้อเรื่องคือ ทอม แฮงค์ ในบทบาทของ เฟรด โรเจอร์ส ทั้งยังรายล้อมไปด้วยนักแสดงคุณภาพคับคั่งอย่าง แมทธิว ไรส์ รวมทั้งนักแสดงที่เคยได้รางวัลออสการ์นักแสดงยอดเยี่ยมอย่าง คริส คูเปอร์ (Chris Cooper) ที่มารับบทเป็นพ่อของลอยด์ โวเกิล อยากจะพูดถึงทอม แฮงค์ซักหน่อย เพราะหนังเรื่องนี้ทำให้เขาได้เข้าชิงนักแสดง (สมทบ) ยอดเยี่ยม และในแง่ของความน่าจดจำทางบุคลิกลักษณะตัวละคร เชื่อได้เลยว่าถึงแม้เราจะไม่มีพื้นฐานทางการแสดงมาก่อนเลยก็ยังดูแล้วรู้เรื่องว่าการแสดงที่ดีและน่าจดจำมันเป็นแบบไหน ในผลงานที่ผ่านมาของทอมนั้นมีคาแรคเตอร์ที่น่าจดจำมากมายหลายแบบ ทั้งเกย์หนุ่มที่ต้องต่อสู้กับโรคเอดส์ใน Philadelphia (1993) ชายปัญญาอ่อนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนใน Forest Gump (1994) ชายติดเกาะร้างคนเดียวใน Cast Away (2000) จากผลงานที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่านี่เป็นผลงานที่ต้องใช้ฝีมืออย่างมากหากใครได้มีโอกาสรับชม ซึ่ง A Beautiful Day in the Neighborhood ก็เป็นผลงานที่เรียกได้ว่าขึ้นหิ้งของทอมเช่นกัน อย่าได้พลาด
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าจดจำของ Tom Hanks
A Beautiful Day in the Neighborhood นับว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่พอดูจบก็จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจ ทำให้ได้ลองมองโลกในแง่ดี และกลับมาใช้เวลาในการใคร่ครวญจังหวะชีวิตของตนเอง หากใครได้ดูก็คงจะได้ประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อย
โฆษณา